เย็นวันนี้ ( 31 ธันวาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดงานมหกรรมทำดี สวดมนต์ข้ามปี ต้อนรับปีใหม่ ชีวิตสดใสไปกับธรรมะ ฉบับวัยรุ่น ในโครงการพี่ชวนน้องท่องโลกธรรมะ เรียนรู้ เวทีสร้างสรรค์ ลานธรรมสร้างสุข จัดโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือมจร. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีวัยรุ่น เยาวชน นักเรียนจากทม. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนนทบุรีร่วมพิธีประมาณ 1,000 คน เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว พัฒนาทักษะชีวิต ป้องกันปัญหาในการเรียน และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ให้วัยรุ่น
นายแพทย์วิชระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่นี้ กรมสุขภาพจิตได้รับความกรุณาสนับสนุนจากสังฆาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ให้ความสำคัญกับกลุ่มวัยรุ่นเป็นการเฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์ให้มหาวิทยาลัย สถานศึกษา วัดและสื่อมวลชน มีบทบาทร่วมกันในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในวัดให้กับวัยรุ่นทั้งที่อยู่ในโรงเรียนและชุมชน จูงใจให้วัยรุ่นมีทัศนคติที่ดีต่อการเข้าวัด มีพฤติกรรมการเข้าวัดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การหล่อหลอมพัฒนาให้วัยรุ่นมีความเป็นผู้นำ มีกลุ่มเพื่อน และความผูกพันที่สร้างสรรค์ มีต้นแบบในการสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจในการดำเนินชีวิตของวัยรุ่น เป็นคนดี เป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป
นายแพทย์วิชระกล่าวต่อว่า กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีครั้งนี้ เน้นกิจกรรมที่ส่งผลสู่การพัฒนาจิตใจ เพิ่มพูนทักษะชีวิต สติและปัญญาที่สอดคล้องและตรงกับความสนใจของวัยรุ่น เช่นจัดตลาดนัดแรงบุญ การเย็บเต้านมเทียมให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม การส่งโปสการ์ดถึงทหารตำรวจชายแดนใต้ การประดิษฐ์สมุดทำมือ ช่วยเหลือน้องผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ โดยมีสื่อมวลชน นักร้อง นักแสดงและนักศึกษา มาร่วมกิจกรรมและเป็นพี่เลี้ยงในการทำกิจกรรม มีการจัดโรงทานจากร้านดัง การให้ความรู้บนเวทีก่อนนำเข้าสู่การนั่งสมาธิและการสวดมนต์ข้ามปี เพื่อพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็ง การขอพรจากพระสงฆ์เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ รวมทั้งจัดเวทีโต้วาทีและเวที ยอวาที เรื่อง วัยรุ่นยุคใหม่ ใฝ่ใจธรรมะ
ทั้งนี้ผลการสำรวจปัญหาวัยรุ่นไทย ตั้งแต่ปี 2554 พบว่าวัยรุ่นหญิงอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรมากถึง 131,400 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 15 คน คิดเป็นร้อยละ 17 ของหญิงคลอดบุตรทั้งหมดในประเทศ สูงกว่าค่าเฉลี่ยการคลอดบุตรในวัยรุ่นระดับโลกที่มีร้อยละ 11 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในทวีปเอเชียที่พบเฉลี่ยร้อยละ 14 นอกจากนี้ยังมีปัญหาความรุนแรง เด็กนักเรียนอาชีวะตีกัน ใช้อาวุธที่รุนแรงและอันตราย รวมไปถึงปัญหาติดเกม และมีพฤติกรรมก้าวร้าวมีจำนวนมากขึ้น ปัญหายาเสพติด วัตถุนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆสาเหตุของปัญหาวัยรุ่นดังกล่าว มีหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม พฤติกรรมการเลียนแบบ รวมถึงความอ่อนแอของภูมิปกป้องจากครอบครัวและสังคม และความห่างไกลต่อศาสนาและวัฒนธรรมดีงามสังคมไทย
เขียนเมื่อ
2 มกราคม 2556 | อ่าน
3791
เขียนโดย
admin