ในอดีตกาล เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองกรุงพาราณสี
พระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง
ทรงพระนามว่า "เจ้าชายพรหมทัต" เช่นเดียวกับพระนามของพระราชบิดา
เมื่อทรงเจริญวัย พระราชบิดาทรงส่งไปศึกษาศิลปวิทยา
ที่นครตักศิลากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์
ซึ่งพระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ดังกล่าว
พระราชกุมารเป็นศิษย์ประเภทจ่ายทรัพย์ให้อาจารย์แล้วเรียนศิลปวิทยา
โดยไม่ต้องทำงานให้อาจารย์เหมือนพวกศิษย์อื่นๆ
วันหนึ่งขณะที่อาจารย์และศิษย์อีกหลายคนพากันไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ
มีหญิงชราคนหนึ่งตากเมล็ดงา แล้วนั่งเฝ้าถาดงานั้นอยู่ในร่ม
พระราชกุมารเห็นเมล็ดงานั้นจึงกำมากำมือหนึ่งแล้วเสวย
หญิงชราก็ไม่ว่าอะไร
วันรุ่งขึ้นพระราชกุมารก็ทำเช่นนี้อีก หญิงชราจึงโวยวาย ว่า
อาจารย์ทิศาปาโมกข์ให้ลูกศิษย์มาปล้นตน
เมื่ออาจารย์ทิศาปาโมกข์รู้เรื่องจึงสั่งลงโทษ
โดยให้ศิษย์ ๒ คนจับแขนเจ้าชายไว้แล้วเอาซีกไม้ไผ่เฆี่ยน ๓ ที
พร้อมกับสั่งสอนไม่ให้เจ้าชายทำเช่นนั้นอีก
ฝ่ายเจ้าชายนั้นทั้งเจ็บทั้งอายจึงอาฆาตแค้นอาจารย์ว่า
จะฆ่าอาจารย์เสียให้ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า
ในที่สุดการศึกษาของเจ้าชายพรหมทัตก็จบหลักสูตร
จึงเข้าไปลาอาจารย์กลับพระนคร พร้อมรับสั่งว่า
เมื่อตนได้ราชสมบัติจะส่งข่าวถึงอาจารย์ให้ไปพบให้ได้
เมื่อเสด็จถึงนครพาราณสี พระราชบิดาและพระราชมารดาทรงพอพระทัยมาก
ได้สถาปนาไว้ในราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบแทนพระองค์ต่อไป
พระราชาจึงส่งทูตไปเชิญอาจารย์ที่นครตักสิลา
ฝ่ายอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมื่อได้รับพระราชสาส์นก็คิดว่า
ขณะนี้พระราชายังทรงรุ่นหนุ่ม มีอารมณ์รุนแรง
จักไม่อาจถวายคำแนะนำให้เข้าพระทัยได้ จึงมิได้เข้าเฝ้าตามรับสั่ง
ต่อเมื่อพระราชาทรงเข้าสู่มัชฌิมวัย
อาจารย์จึงได้ออกจากนครตักสิลาไปเฝ้าพระราชา
เพราะเห็นว่าพระราชาทรงเป็นผู้ใหญ่ สามารถเข้าพระทัยในเหตุผลต่างๆได้
ครั้นอาจารย์มาถึงตำหนัก พระราชาจึงรับสั่งกับอำมาตย์ที่เฝ้าอยู่นั้นว่า
คนนี้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เคยเฆี่ยนตีพระองค์
รอยเฆี่ยนนั้นยังฝังอยู่ที่ใจ
อาจารย์คงไม่รู้ว่า ตนเองมาหาความตาย จึงกล่าวสุภาษิตว่า
"การที่ท่านจับแขนเราไว้แล้วเฆี่ยนตีด้วยซีกไม้ไผ่เพราะเหตุเพียงเมล็ดกำมือหนึ่งนั้น
ยังฝังใจเราอยู่ทุกวันนี้ ดูกรพราหมณ์..ท่านไม่ไยดีในชีวิตของท่านแล้วหรือจึงมาหาเราถึงที่นี่
ผลที่ท่านให้จับแขนทั้งสองของเราแล้วเฆี่ยนตีถึง ๓ ทีนั้นจักสนองท่านในวันนี้"
เมื่ออาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวสุภาษิตตอบว่า
"อริยชนใดย่อมกีดกันอนารยชนผู้กระทำชั่วด้วยการลงโทษ
การกระทำของอริยชนนั้นเป็นการสั่งสอน...หาใช่เวรไม่
บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้ชัดข้อนั้นอย่างนี้แล.."
เมื่อฟังอาจารย์กล่าวเช่นนั้น เหล่าอำมาตย์ที่กำลังเฝ้าอยู่
จึงทูลสนับสนุนสุภาษิตของอาจารย์ทิศาปาโมกข์
พระราชาก็ทรงได้พระสติ และ ทรงเข้าพระทัยในเหตุผลของอาจารย์ทุกประการ
ในที่สุด จึงทรงประทานตำแหน่งปุโรหิตแก่อาจารย์และตั้งอยู่ในฐานะพระราชบิดา
ดำรงอยู่ในโอวาทของพระอาจารย์นั้น
บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุมีทาน เป็นต้น มีสุคติเป็นเบื้องหน้า
เขียนเมื่อ
29 กันยายน 2555 | อ่าน
2832
เขียนโดย