4 ความสุข ที่ทุกคนต้องมี
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงความสุขอันชอบธรรมที่ประชาชนชาวบ้านควรมีไว้ ๔ ประการ คือ สุขเกิด แต่การมีทรัพย์ สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค สุขเกิดแต่การไม่ต้องเป็นหนี้ และสุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ
ความสุขตามพระพุทธพจน์ทั้ง ๔ ประการนี้เรียกว่า สุขของคฤหัสถ์ หมายถึง สุขคือความสบายกายสบายใจของชาวบ้าน ความสุขที่ชาวบ้านควรพยายามเข้าถึงให้ได้สม่ำเสมอ หรือความสุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนพึงมี ซึ่งชีวิตของคฤหัสถ์จะสมบูรณ์ได้ก็เพราะสุข ๔ อย่างนี้ คือ
๑. อัตถิสุข สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ หมายถึง ความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนมีโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความขยันหมั่นเพียรของตนและโดยชอบธรรม บุคคลที่ขยันทำงานเก็บเงินทองไว้ได้เป็นจำนวนพอเพียง ย่อมมีความสบายใจภูมิใจในความพยายามของตน
๒. โภคสุข สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค หมายถึง ความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรมนั้นเลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยงและบำเพ็ญประโยชน์
๓. อนณสุข สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้ หมายถึง ความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร ความไม่เป็นหนี้เป็นสุขอย่างไรนั้น คนที่ไม่เป็นหนี้เท่านั้นที่รู้สึกได้ และความเป็นหนี้เป็นทุกข์อย่างไร คนเป็นหนี้เท่านั้นถึงจะรู้ว่าทุกข์ ดังพระพุทธพจน์ว่า “อิณาทานํ ทุกฺขํ โลเก : การกู้หนี้เป็นทุกข์ในโลก” ฉะนั้น การไม่เป็นหนี้จึงนับว่าเป็นความสุขสำคัญประการหนึ่ง
๔. อนวัชชสุข สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ หมายถึง สุขที่เกิดจากการประพฤติสิ่งที่ไม่มีโทษ คือความภูมิใจอิ่มเอิบใจว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่มีความประพฤติบกพร่องเสียหายทั้งทางกาย วาจา และใจ โดยที่ใครๆ ก็ตำหนิติเตียนไม่ได้ คนเราจะมีความสุขแท้จริงนั้น ต้องพึ่งการงานที่ไม่มีโทษ คือไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่เป็นที่ครหาของผู้อื่น
เขียนเมื่อ
13 กันยายน 2555 | อ่าน
26274
เขียนโดย