‘ธรรมกาย’ องค์กรจัดตั้ง โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี

ตลาดสดเป็นตัวอย่างของการไม่มีการจัดตั้ง กองทัพเป็นตัวอย่างของการจัดตั้งอย่างหนักแน่น ที่ตลาดสดใครใคร่ขายอะไรขาย คนซื้อมาจากที่ต่างๆไม่ทราบจากที่ใดบ้าง แต่งตัวต่างๆกัน หญิงชายเด็กหรือทั้งหมดจำนวนเท่าใดไม่ทราบ ใครใคร่ซื้ออะไรร้านไหนหรือซื้อกี่ร้านก็ได้ ซื้อแล้วจะไปทางไหนก็สุดแล้วแต่ นี่คือสภาพของการไม่มีการจัดตั้ง

ส่วนกองทัพนั้นมีการจัดหมวดหมู่และจัดสายการบังคับบัญชา มีการแต่งตัวแบบเดียวกัน มีเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน มีการนัดหมายทำอะไรพร้อมเพรียงกัน เช่น พิธีกรรมหรือการฝึกหัด ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่เชื่อคนอื่น มีความเชื่อและอุดมการณ์ร่วมกัน

ตลาดสดและกองทัพย่อมมีประโยชน์และความเหมาะสมต่างกัน วิธีการแบบตลาดสดย่อมเหมาะแก่การที่แต่ละบ้านจะได้อาหารไปสู่บ้านของตนโดยรวดเร็วคล่องตัว แต่ถ้ายกไปสู้กัน กองทัพย่อมดีกว่า
วัดโดยทั่วๆไปมีสภาพคล้ายตลาดธรรมะ คือใครจะไปมา รับไม่รับปฏิบัติวิธีใด มากน้อยเพียงใดสุดแต่อัธยาศัย เป็นเรื่องของผู้ศึกษาเอง วัดเป็นผู้ให้อย่างเดียว ผู้รับจะรับได้เท่าใดหรือรับวิธีการของสำนักใดบ้าง เป็นเรื่องของผู้รับเองจะเห็นว่าสวนโมกข์ก็ดี วัดบวรนิเวศก็ดี วัดชลประทานก็ดี หรือวัดป่าสายอาจารย์มั่นก็ดี เข้าในลักษณะเช่นนี้เป็นสำนักเปิดที่ไม่จัดตั้งผู้มารับธรรมะ ยิ่งอาจารย์ยันตระด้วยแล้ว ไม่มีสำนักเลยยิ่งไม่มีการจัดตั้ง ท่านธรรมรักษาเน้นที่การเผยแพร่ธรรมโดยทางหนังสือไม่จัดตั้งผู้รับ

พูดถึงวิธีการภาวนา สำนักต่างๆมักจะบอกหลายวิธี และให้เลือกปฏิบัติกันเองให้ถูกจริตของแต่ละบุคคล เช่นแม้วัดป่าสายอาจารย์มั่นจะใช้การบริกรรมพุทโธเป็นหลัก แต่ใครจะทำอานาปานสติก็ได้ ท่านไม่เข้มงวดว่าจะต้องทำเหมือนกัน และท่านไม่กำกับควบคุมการทำสมาธิภาวนา คือจะบอกวิธีการให้แล้วก็แยกย้ายกันไปทำเอง ไม่ชี้แนะให้เห็นนั่นเห็นนี่ เพราะฉะนั้นบุคคลที่ทำสมาธิภาวนาเหล่านี้ถ้าเกิดนิมิตก็จะเป็นนิมิตที่หลากหลายต่างๆกันไปไม่ได้ตั้งใจหรือถูกชี้แนะให้เกิดนิมิตอย่างเดียวกัน

ส่วน ‘ธรรมกาย’ เป็นขบวนการที่มีการจัดตั้ง มีพุทธปฏิมาหรือองค์พระที่เห็นในนิมิตและเรียกว่า ‘ธรรมกาย’ เป็นเสมือนธงหรือเครื่องหมายการค้าร่วมกัน มีการชูธง ‘ธรรมกาย’ มีการนัดแนะให้มาทำสมาธิพร้อมๆกันให้เห็น ‘ธรรมกาย’ เหมือนๆกัน แต่งตัวเหมือนๆกัน มีการจัดริ้วขบวนแสดงพลังจำนวนมาก เข้าไปจัดตั้งให้เกิดพวก ‘ธรรมกาย’ ตามสถาบันต่างๆ ไม่นิยมสอนให้รู้ธรรมะแบบหลากหลายเน้นแต่ ธรรมกาย เท่านั้นเพื่อความเป็นเอกภาพของการจัดตั้ง มีการแสวงหาทุนทรัพย์อย่างเป็นระบบเพื่อ ‘ธรรมกาย’ ว่าต้องใช้ถึงเดือนละ 15 ล้านบาท จึงจะอยู่ได้

ตรงนี้ถ้าเข้าใจเรื่องจัดตั้งกับไม่จัดตั้งก็จะเข้าใจประเด็น สำนักที่ไม่มีการจัดตั้งทุกคนก็กระจายกันหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเอง จึงไม่มีความกดดันที่จะต้องหาเงินมาก แต่ ‘ธรรมกาย’ เป็นการจัดตั้งคล้ายกองทัพ จึงต้องหาเงินมาเลี้ยงกองทัพ

เมื่อ ‘ธรรมกาย’ มีการจัดตั้ง และต้องการขยายการจัดตั้งให้เติบโตโดยรวดเร็ว จึงมีลักษณะประนีประนอมหรือเอาใจคณะสงฆ์กับผู้นำทางฝ่ายการเมือง จึงเป็นที่ยอมรับของขณะสงฆ์กับทางบ้านเมืองมากกว่าขบวนการสันติอโศก

ตรงนี้ถ้าเทียบกันระหว่างสวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก จะเห็นต่างกันชัด

สวนโมกข์นั้นถือธรรมเป็นใหญ่ไม่เอาใคร แต่ก็ไม่ปฏิเสธคณะสงฆ์

สันติอโศกนั้นวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงและไม่ยอมขึ้นกับคณะสงฆ์

‘ธรรมกาย’ นั้นประนีประนอมกับฝ่ายอำนาจ เพื่อรุกขยาย ‘กองทัพธรรมกาย’ ให้เติบโตขึ้นโดยรวดเร็ว

เมื่อ ‘ธรรมกาย’ เป็นองค์กรจัดตั้ง และมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่ขบวนการ ‘ธรรมกาย’ เติบโต โด่งดังและมีพลังโดยรวดเร็ว ต่อการเติบโตของ ‘ธรรมกาย’ นี้มีปฏิกิริยาต่างๆกัน บางพวกก็ชื่นชม บางพวกก็สงสัย บางพวกก็วิพากษ์วิจารณ์ทั้งทฤษฎีและแนวปฏิบัติ บางพวกออกใบปลิวโจมตีว่าพวกนี้เป็นคริสต์แฝงตัวเข้ามาทำลายพุทธบ้าง ว่าเป็นคอมมิวนิสต์บ้าง ว่าเจ้าสำนัก ‘ธรรมกาย’ จะตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหม่บ้าง คณะนี้จะยึดอำนาจบ้านเมืองในอนาคตบ้าง ฯลฯ

การที่จะพิจารณาเรื่องนี้ต้องทำใจให้เป็นกลาง พิจารณาตามหลักฐานข้อมูลและหลักธรรม
มีสิ่งที่แน่นอนเกี่ยวกับ ‘ธรรมกาย’ 2 อย่างคือ
1. ขบวนการ ‘ธรรมกาย’ ไม่ใช่คริสต์ และไม่ใช่คอมมิวนิสต์แน่ เพราะไม่มีข้อมูลหลักฐานหรือพฤติกรรมอันใดที่จะส่อไปทางนั้นเลย

2. ธรรมกาย เป็นขบวนการฝึกสมาธิแน่ และพยายามขยายการฝึกสมาธิไปทั่วประเทศและทั่วโลก การฝึกสมาธิเป็นของดี และเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วโลกควรจะฝึก สมาธิภาวนาควรจะอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของมนุษยชาติทั่วโลก

สิ่งที่ไม่แน่ก็คือ ‘ธรรมกาย’ เป็นปัญญาหรือเปล่า
องค์พระปฏิมาที่เห็นในดวงนิมิตที่ ‘ธรรมกาย’ เอามาชูว่าเป็นองค์จริงของพระพุทธเจ้า ถึงกับประกาศว่า “ผู้ใดเห็นธรรมกาย ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า” นั้นจริงหรือ

ต่อไปนี้จะขอนำข้อคิดเห็นบางแง่มุมเกี่ยวกับสมาธิและนิมิตที่มีผู้กล่าวไว้ในที่ต่างๆมาเป็นตัวอย่าง
1. จากหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” (ของหลวงปู่ตูลย์ อตุโล) มีผู้ถามว่า “ภาวนาแล้วเห็นนรก สวรรค์ วิมานเทวดา หรือไม่ก็เห็นองค์พระพุทธรูปปรากฏอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ”
หลวงปู่ตอบว่า “ที่เห็นนั้นเขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็นนั้นไม่จริง”

อีกตอนหนึ่งหลวงปู่ว่า “สิ่งที่ปรากฏเห็นทั้งหมดนั้นยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้น จะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก”

อีกตอนหนึ่งหลวงปู่ว่า “เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า”

2. พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ แห่งวัดบ้านค้อ ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้พูดถึงอุบายวิธีการพิจารณาด้วยปัญญาไว้อย่างเฉียบขาด ในพระธรรมเทศนาของท่านชื่อ “ทวนกระแส” ท่านกล่าวว่า สมถะภาวนาล้วนๆต่อให้มีสมาธิลึกจนถึงสมาบัติ 8 ก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิด และอาจติดอยู่ในสมถะโดยไม่มีทางออก หรือบางคนทำสมาธิจิตสงบจนนึกว่าเป็นพระอรหันต์โดยไม่ได้เป็นก็มี จะขอยกข้อความตอนหนึ่งในหนังสือของพระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ มาไว้ให้อ่านดังนี้

“... และขอย้ำเพื่อทำความเข้าใจกับผู้อ่านสักนิด ขณะนี้ท่านเป็นนักปฏิบัติมีความมุ่งหวังและตั้งใจว่า เมื่อจิตมีความสงบเต็มที่แล้ว จะมีปัญญาเกิดขึ้นเพื่อจะพิจารณาธรรมต่อไป ใครๆก็มุ่งหวังปัญญา จึงได้ตั้งหน้าตั้งใจทำสมาธิหวังความสงบเพื่อคอยให้ปัญญาได้เกิดขึ้น ผู้ที่ไม่เคยคิดพิจารณาในแง่ธรรมต่างๆมาก่อนก็จะทำความสงบนั้นก็ทำได้ แต่สายทางแห่งความสงบของผู้ที่ไม่เคยมีปัญญามาก่อน ถึงจะสงบลึกจนถึงสมาบัติ 8 ก็ตาม ผลที่ได้รับก็คือความสุขกายสุขใจ บางทีอาจมีเครื่องเล่นคืออภิญญาญาณ คือมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องอดีต อนาคต และรู้เหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น และมีจักขุญาณบ้าง โสตญาณบ้าง คือ มองเห็นด้วยตาใน หูภายใน หรือแสดงฤทธิ์ในวิธีต่างๆได้ หรือรู้วาระจิตของคนและสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นก็จะติดความรู้ในญาณของตนแบบไม่รู้ตัว ญาณดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้คนคิดว่าตนเป็นพระอรหันต์ได้ง่ายที่สุด เพราะเชื่อในญาณของตัวเอง เช่นในครั้งพุทธกาลมีพระ 30 รูป ไปเจริญสมถะเพื่อความสงบ เมื่อจิตมีความสงบเต็มที่แล้ว ก็มีความสุขใจ ความสุขกาย และรักษาความสงบนั้นได้ติดต่อกันมาหลายวัน ก็มาคิดว่านี่พวกเราหมดกิเลสตัณหาอวิชชาแล้ว พวกเราได้ถึงขั้นพระอรหันต์แล้ว เพราะราคะตัณหาพวกเราไม่มี ไปเถอะไปกราบนมัสการพระพุทธเจ้าเพื่อจะได้รับพยากรณ์ แล้วพากันเดินมาจวนจะเข้าวัด พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงไปบอกกับภิกษุ 30 รูปนั้น ให้เข้าไปพักอยู่ป่าช้าก่อน ทีหลังจึงเข้ามาหาเรา พระอานนท์ก็ออกไปดักทางแล้วบอกดังคำที่พระพุทธเจ้ารับสั่ง ภิกษุ 30 รูปก็พากันเข้าไปในป่าช้านั้นๆ เมื่อเข้าไปก็บังเอิญเห็นหญิงสาวกำลังนอนตายหงายท้องอยู่แบบสดๆร้อนๆเหมือนกับอาการนอนหลับผ้าชิ้นหนึ่งจะปกปิดร่างกายนิดเดียวก็ไม่มี พระ 30 รูปนั้นก็กรูเข้าไปรุมล้อมดูด้วยความอยากเห็น ต่างองค์ก็ต่างดูต่างองค์ก็ต่างคิดไปในอารมณ์แห่งความใคร่ ความกำหนัด ไฟของราคะจึงเกิดขึ้นภายในใจจนถึงขีดแดง ผลที่สุดอรหันต์ที่พากันคิดเอาเองก็แสดงตัวร้องโวยวายขึ้นทันทีว่า พวกเรายังมีราคะตัณหาอวิชชาอยู่ จากนั้นก็พากันเจริญด้วยปัญญาพิจารณาในไตรลักษณ์ พิจารณาไปพิจารณามาด้วยปัญญาธรรมดา เมื่อใจรู้เห็นจริงตามปัญญาธรรมดานี้แล้ว วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น ผลที่สุดก็บรรลุอยู่ในป่าช้านั่นเอง

เห็นไหมล่ะท่าน สมาธิคือความสงบนั้นก็ยังทำให้เราเข้าใจผิดได้ นี้ในครั้งสมัยที่มีพระพุทธเจ้า ก็ยังมีนักปฏิบัติที่มีความเข้าใจผิดในผลการปฏิบัติในสมถะมาแล้วเป็นจำนวนมากทีเดียว เพราะความสงบนี้ถ้าไม่มีครูอาจารย์องค์ที่ท่านเคยได้ผ่านไปแล้วเข้าแก้ไขก็ผิดได้ง่ายเหมือนกัน และติดอยู่ในสมถะโดยไม่มีทางออก ถ้าในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าผู้ภาวนาเป็นเหมือนกับภิกษุ 30 รูปแล้ว ก็จะไม่มีใครๆเข้าแก้ไขได้เลย และก็จะเป็นอรหันต์ดิบอยู่อย่างนั้นตลอดไปจนถึงวันตาย”

3. บ. บางปะกง ได้เขียนเรื่อง “คุณและโทษของสมาธิ” ในหนังสือ “สมาธิภาวนา” ของท่านธรรมรักษา ความบางตอนว่า

“...แต่ถ้าเราทำสมาธิไม่ถูกต้อง หรือนำเอาสมาธิไปใช้ไม่ถูกต้อง ... ตัวสมาธินั่นแหละ มันจะขบกัดเอาจนตาย...

ทุกวันนี้มีสำนักปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาเกิดขึ้นมากมาย ส่วนมากจะสอนไปตามอำนาจทิฐิของตน โดยไม่คำนึงพุทธวจนะ หรือทำไม่ครบตามแนวคำสอน เพราะมี “อัตตา” และ “ผลประโยชน์” แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง

ผู้ขาดประสบการณ์ตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้าเมื่อเข้าไปสัมผัสแล้วนอกจากจะไม่ได้พบของจริงแล้ว เรายังอาจจะตกเป็น “ทาสโมหะ” ของตนเอง หรือ “ทาสทางใจ” ของอาจารย์สำนักนั้นๆไปตลอดชาติ

...ก่อนที่ท่านจะเจริญสมาธิหรือวิปัสสนากับอาจารย์หรือสำนักใดควรศึกษาปฏิปทาอาจารย์หรือแนวของสำนักนั้นๆ ให้ถ่องแท้ก่อน แล้วนำมาเทียบเคียงกับแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าขัดกับพระวินัยและลงกันไม่ได้กับพระสูตรแล้วไซร้ ขอจงอย่าได้ไปเกี่ยวข้องด้วยเลย เพราะนอกจากว่าท่านจะไม่ได้พบกับสัจธรรมแล้ว ปะเหมาะเคราะห์ร้ายเผลอๆอาจจะเป็นบ้าหรือเพี้ยนเอาด้วย หรือแม้ว่าจะโชคดีไม่บ้าไม่เพี้ยนท่านก็ยังอาจตกเป็นเบ๊(ทาสรับใช้)...ไปชั่วชีวิตอีกด้วย”

4. สมาธิแบบสะกดจิต
4.1 คุณประยูร จรรยาวงษ์ได้ฝากให้บอกเตือนให้ระวังสมาธิแบบสะกดจิตให้ทำโน่นทำนี่ อาจเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นมาได้
4.2 ท่านธรรมรักษาเขียนเรื่อง “สมาธิกึ่งสะกดจิต” ในหนังสือ “สมาธิภาวนา” ของท่าน หน้า 112 ความว่า

“ความจริง เรื่องสมาธิกึ่งสะกดจิตนี้ ได้เขียนไว้แล้วใน “นานาสาระ” แต่เกรงว่าผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะไม่ได้อ่านในเรื่องนั้น จึงจำต้องนำมาเขียนอีกเพราะเป็นเรื่องสำคัญ และนักกรรมฐานบางกลุ่มกำลังตื่นหรือเห่อกันอยู่

ผลเสียของการฝึกสมาธิแบบกึ่งสะกดจิตนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติจะไม่เป็นตัวของตัวเอง และผลพวงของสมาธิที่ปรากฏนั้นก็ไม่ใช่ของจริง กล่าวคือ ผู้ที่เห็นนั้นเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง (อ่านคำตอบปัญหาเรื่องนี้ของหลวงปู่ตูลย์ อตุโล ในส่วนผนวกท้ายเล่มของหนังสือนี้ประกอบด้วย)

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ควบคุมหรือสอนนั้น ว่าเขาจะให้เห็นอะไร เราก็เห็นได้ตามเขา แล้วเราก็เห็นจริงๆ แต่สิ่งที่ถูกเห็นนั้นมันไม่จริง เพราะมันไม่มีจริงมันเกิดจากอุปาทานของเราเอง โดยการชี้นำของเขา
สมาธิแบบนี้ทำง่ายมาก พอหลับตาปุ๊บก็เห็นปั๊บเลยก็มี แต่ถ้าไม่เห็นมันจะไม่เห็นตลอดไป แต่ส่วนมากแล้วจะเห็น เพราะมีความเชื่อเป็นทุนอยู่ก่อนแล้ว

สมาธิแบบนี้มีผลเสียมาก คือจะตกเป็นทาสเสพติดทางใจ ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ก้าวหน้า และที่สำคัญคือ ไม่อาจที่จะดับทุกข์ใดๆได้เลย คือเอาผลของสมาธิแบบนี้ มาใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย

สมาธิแบบกึ่งสะกดจิตนี้ กำลังได้รับความสนใจสูงมาก เพราะเจ้าสำนักมีกุศโลบายสูง มีจิตวิทยาสูง ลงทุนพิมพ์ภาพใหญ่ๆสวยๆแจกไปทั่วประเทศ ถึงกับจ้างรถไปรับเป็นจุดๆ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางวัตถุมากกว่า

ที่สำคัญเขามุ่งไปที่นักศึกษาตามสถาบันต่างๆ เพราะพวกนี้ไม่มีความรู้ทางด้านนี้มาก่อน เหมือนผ้าขาวบริสุทธิ์ก็ย่อมจะง่ายแก่การย้อม เมื่อนักศึกษาอันเป็นลูกหลานสนใจ พ่อแม่ก็มักจะตามเข้าไปด้วย ตอนนี้ผู้เป็นกุนซือใหญ่ ก็นั่ง “ขุดทองในกระเป๋า” เพลินไปเลยเชียวละ?

ทางแก้ วิธีที่จะไม่หลงไปติดบ่วงที่เขาดักไว้ ก็มีอยู่ 2 ประการ คือ การศึกษาให้รู้ความมุ่งหมายของสมาธินั้นๆ ให้ถูกต้อง อ่านพระไตรปิฎกเป็นดีที่สุด

กับอีกประการหนึ่ง คือการบำเพ็ญภาวนาทางจิตทุกประเภทไม่ควรจะมีผู้นำในขณะทำ แต่มีผู้แนะวิธีทำก็พอแล้ว ในขณะทำต้องทำเอาเอง อย่าให้คนอื่นเขาจูงจมูก หรือคอยพูดกล่อมประสาทในขณะที่ทำสมาธิ มันจะเลี้ยงไม่รู้จักโต หรือไม่รู้จักอดนม!

ไม่ควรไปสนใจสมาธิดูนรกสวรรค์ ดูพระพุทธรูป หรือดูแก้วดูขวดอะไรนั่นเลย มันเป็นเรื่องไร้สาระ ขี้หกทั้งเพ ที่สำคัญคือมันใช้ดับทุกข์ในตัวเราไม่ได้เลย”

พูดถึง ‘ธรรมกาย’ ในส่วนที่เป็นองค์กรจัดตั้งนั้นย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือมีพลังรุกได้รวดเร็ว ข้อเสียคือ (1) ต้องใช้เงินมาก (2) หลักธรรมแคบ (3) มีอำนาจ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง และคอรัปชั่นในอนาคต ดังนี้

(1) การที่เป็นองค์กรใหญ่ทำให้ต้องใช้เงินมาก จึงมีลักษณะ ‘หาเงิน’ สูง การที่ต้องการเงินมากจะทำให้ต้องประนีประนอมในหลักธรรมและเข้าไปสู่การค้า เช่น อาจต้องคบคนที่ไม่ค่อยมีธรรมะเท่าใด เพราะต้องการเงินจากเขาหรืออำนาจซึ่งเอามาแปรเป็นเงิน

(2) การที่เป็นองค์กรจัดตั้งที่ต้องการรวมกลุ่มสูง ทำให้ต้องเสนออุดมการณ์โดดเดี่ยว เพื่อเป็นหลักยึดในการรวมกลุ่มไว้ ให้รู้ความหลากหลายของธรรมะไม่ได้เพราะจะรวมกลุ่มไม่ติด เปรียบเสมือนกองทัพกับมหาวิทยาลัย กองทัพเน้นที่การรวมศูนย์ มหาวิทยาลัยเน้นที่ความหลากหลายของความรู้ ถ้าจะไปตีกัน มหาวิทยาลัยก็สู้กองทัพไม่ได้ ถ้าจะเอาปัญญากองทัพก็สู้มหาวิทยาลัยไม่ได้ จุดอ่อนของ ‘ธรรมกาย’ จะอยู่ที่ขาดการเปิดกว้างทางวิธีการและปัญญา

(3) เมื่อเป็นองค์กรจัดตั้งใหญ่ที่มีอำนาจทั้งทางกำลังคนและกำลังเงิน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จ แต่ในความสำเร็จต้องระวังความล้มเหลวเสมอ ความล้มเหลวจะเกิดจากความใหญ่และเกิดจากอำนาจนั้นเอง
ไม่ว่าอะไรก็ตามถ้าใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจะมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นลูกโป่ง ไดโนเสาร์ กองทัพ เครื่องบินแนวรบ เพราะจะเกิดความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอก คุมองคาพยพไว้ไม่ได้ต้องแตกสลายไปหรือคงอยู่ไม่ได้

ลัทธิหรือนิกายที่มีการจัดตั้งและที่พยายามจะเปลี่ยนความเชื่อของผู้อื่น (convert) ให้มารับในลัทธิหรือนิกายของตน จะสร้างความขัดแย้งและต่อไปเกิดความรุนแรงได้ เช่น ระหว่างคริสเตียนกับมุสลิม ระหว่างคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ ระหว่างฮินดูกับซิกซ์

ถ้า ‘ธรรมกาย’ จะชูธงเฉพาะ ‘ธรรมกาย’ ไม่ชูธงพุทธเป็นส่วนรวม จะเอาเฉพาะหมู่พวกของตน ย่อมต้องเกิดความขัดแย้งกับชาวพุทธที่มีความหลากหลายดังที่ชักจะเริ่มพูดอะไรต่ออะไรกันขึ้นมาแล้ว

สำหรับองค์กรใหญ่ที่มีอำนาจในอนาคตจะมีผู้ที่ไม่ได้สนใจธรรมะ แต่แฝงเข้ามาใช้อำนาจแล้วเกิดคอร์รัปชั่นขึ้น เรื่องนี้หนีไม่พ้น เกิดขึ้นทั่วไป แม้ในทางพระพุทธศาสนา จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดไว้ล่วงหน้า

ต่อไปนี้คือข้อเสนอแนะ
1. ‘ธรรมกาย’ ไม่ควรชูเรื่อง “ผู้ใดเห็นธรรมกายผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า” เพราะจะต้องไปทะเลาะกับคนจำนวนมาก ในทางทฤษฎี ควรจะขยายการสอนธรรมะให้ครอบคลุมพุทธธรรมโดยกว้างขวาง และขยายเรื่องทางปัญญาให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะเป็นช่องโหว่เรื้อรังหรือถาวร

2. อย่าชู ‘ธรรมกาย’ ให้เป็นเอกเทศ และดูเหมือนไปบุกรุกเบียดพุทธอื่นๆ จะก่อความขัดแย้งซึ่งจะมีผลกระทบย้อนกลับมาหาตัว ควรชูพุทธเป็นส่วนรวม

3. ลดภาพพจน์ในความต้องการทางการเงินลง ควรจะดำเนินการในทางที่ไม่ต้องใช้เงินมากนัก โดยการกระจายยิ่งกว่าการที่จะกระจุกให้ใหญ่และแพงเพิ่มขึ้นอีกต่อไป
เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ขบวนการของพระองค์ก็ใหญ่โตน่าดู น่าศึกษาว่าพระพุทธองค์จัดตั้งอย่างไรจึงได้ผลดี

แต่พระพุทธเจ้าคงจะรับสั่งไม่ได้ว่า ‘ถ้าไม่ได้เดือนละ 15 ล้านเราอยู่ไม่ได้’


เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2555 | อ่าน 4038
เขียนโดย admin

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
หลักชาวพุทธ 12 ประการ
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไ
27/01/2559
เปิดอ่าน 18526
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9758
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11138
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15199
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12074
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11094
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 11027
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11592
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 12872
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12108
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th