พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เพชรน้ำเอกแห่งวงการสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ตำบลบางระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา หนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณและรางวัลทรงคุณค่ามากมายในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ด้านพระพุทธศาสนา การศึกษา วัฒนธรรม สังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ได้รับยกย่องให้เป็น " เพชรน้ำเอกแห่งวงการสงฆ์ " และเป็น "ปราชญ์ผู้ทรงศีล " เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้รับการน้อมถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก ( UNESCO Prize for Peace Education ) ในปี พ.ศ 2537 และมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก ถวายตำแหน่ง " เมธาจารย์" ( Most Eminent Scholar )ในฐานะนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา สายเถรวาท

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) นามเดิม ประยุทย์ นามสกุล อารยางกูร เกิด ณ บ้านใกล้ริมน้ำสุพรรณ ฝั่งตะวันออก ตลาดศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ 2481

เริ่มการศึกษาเมื่ออายุได้ 6 ขวบที่โรงเรียนอนุบาลครูเฉลียวในตลาดศรีประจันต์ เรียนประโยคประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์ อ. เมือง จ.สุพรรณบุรี ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนปทุมคงคา กรุงเทพมหานคร และได้รับทุนเรียนดี ของกระทรวงศึกษาธิการ

จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ. สุพรรณบุรี วันที่ 10 พฤษภาคม 2494 และเริ่มเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดนี้ ในปี พ.ศ 2495 ศึกษาพระปริยัติธรรมและเข้าฝึกวิปัสสนาจนจบ ที่วัดปราสาททอง อ. เมือง จ.สุพรรณบุรี ต่อมาในปี พ.ศ 2496 ย้ายมาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร เรียนพระปริยัติธรรมจนสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ ขณะยังเป็นสามเณร นับเป็นรูปที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้รับการอุปสมบทในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นนาคหลวง ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 24 กรกฏาคม 2504 ได้นามฉายาว่า " ปยุตฺโต " และ พ.ศ . 2505 ได้รับปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1)จากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน อาทิ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้ง ตรีปิฏกาจารย์ จากนวนานันทามหาวิหาร ประเทศอินเดีย

ในปี พ.ศ 2544 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น " ศาสตราจารย์พิเศษ" ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

สมณศักดิ์

พ.ศ 2512 พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี

พ.ศ 2516 พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวรมุนี

พ.ศ 2530 พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเวที

พ.ศ 2536 พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปิฎก

พ.ศ 2547 พระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจารย์ ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี

ปัจจุบันงานหลักปรากฎในการบรรยาย ปาฐกถา ธรรมกถาและธรรมเทศนาทั้งภายในและต่างประเทศ ในที่ประชุมนานาชาติ เป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนา พร้อมกับการขยายพรมแดนแห่งวิชาการด้วยการอนุญาตให้นำบทบรรยายนั้นจัดพิมพ์เป็นหนังสือ งานของท่านล้วนนำมาซึ่งความสุขสงบร่มเย็นแห่งสังคมไทย

ท่านมีผลงานกว่า 312 เล่ม อาทิ พุทธธรรม (ผลงานที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นมรดกธรรมอันล้ำค่าแห่งยุค ) ธรรมนูญชีวิต การศึกษาของคณะสงฆ์ : ปัญหาที่รอทางออก กรณีธรรมกาย : บทเรียนเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนา การศึกษาที่สากลบนฐานแห่งภูมิปัญญาไทย :Thai Buddhism in the Buddhist World

และงานสำคัญอีกหนึ่งชิ้นคือที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์สำเร็จสมบูรณ์ฉบับแรกของโลก ทำให้การค้นคว้าหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ

.

ข้าพเจ้าขอคัดเลือก จับใจความและเรียบเรียง หลักการคิดและหลักการดำเนิน เรื่องที่แสดงถึงความเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนโยน มีคุณธรรม มีความเมตตาของพระพรหมคุณาภรณ์ เพียง 8 เรื่องจากทั้งหมด 140 เรื่อง( จากหนังสือวิถีแห่งปราชญ์ฯ ) เพื่อนำเสนอท่านผู้อ่านดังนี้

 

กตัญญู

ครั้งหนึ่งขณะที่ท่านเจ้าคุณฯ พักรักษาอาการอาพาธด้วยกล้ามเนื้ออักเสบที่โรงพยาบาลพหลโยธิน อาการทั่วไปดีขึ้น แต่คุณหมอเกษม อารยางกูร พี่ชาย ขอให้ท่านพักดูอาการอีกระยะ วันหนึ่งท่านเปิดหนังสือพิมพ์อ่าน พบข่าวแจ้งงานฌาปนกิจศพ ชายผู้ตายเคยไปทำบุญถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแก่ท่านที่กุฏิวัดพระพิเรนทร์ ท่านลงจากเตียงพยาบาลห่มจีวร เดินทางไปงานเผาศพโยมผู้นั้นทันที

กตัญญู

สมัยที่โยมแม่ยังมีชีวิตและล้มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ มีอาการเป็นอัมพาต แต่ช่วงแรกพอจะตอบสนองสิ่งเร้าภายนอกได้ เช่น เมื่อเห็นท่านเจ้าคุณฯมาหา ก็ทำท่าจะพนมมือไหว้ ท่านเจ้าคุณฯจะพูดคุยสนทนากับโยมแม่ที่นอนไม่ขยับเขยื้อนด้วยความนุ่มนวล อ่อนโยน เป็นภาพงดงามของลูกชายในเพศบรรพชิตที่มีต่อโยมมารดา บางทีก็นำเทปเสียงสวดมนต์หรือเทปเสียงธรรมชาติมาเปิดให้โยมมารดาฟัง

 

เมตตาธรรม

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย จังหวัดสุพรรณบุรี มาปรึกษาท่านเจ้าคุณฯ ขอพาเด็กนักเรียนคนหนึ่งมาฝากอยู่กับท่าน เพราะเป็นเด็กดีแต่ยากจน ได้รับทุนมาเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

ในวันที่พาเด็กมาส่ง พบว่าท่านเจ้าคุณฯ ได้สั่งต่อเติมห้องให้เด็กคนนั้นบริเวณชั้นล่างของกุฏิ เพื่ออยู่เป็นสัดส่วน เงียบสงบ มีสมาธิในการศึกษาเล่าเรียน เมื่ออาจารย์ถาวรกล่าวแสดงความเกรงใจที่ท่านต้องเสียเวลาและปัจจัย ท่านเจ้าคุณฯ บอกว่า " อย่ากังวลไปเลย ถือว่าเราทำบุญร่วมกันเถิด "

เมตตาธรรม

เด็กหนุ่มสาวหรือนิสิตนักศึกษาที่มีความศรัทธามักแวะเวียนมาสนทนาธรรม ปรึกษาเรื่องเรียน การทำวิทยานิพนธ์ ท่านเจ้าคุณฯ ช่วยอ่านเอกสาร ตรวจทานบทความ และแก้สำนวนให้ ท่านไม่เคยปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือพวกเขาเลย โดยเฉพาะผู้ที่มีข้อสงสัยในการเรียนธรรมะ หรือมีปัญหาข้อข้องใจอยากสนทนากับท่าน ท่านจะให้โอกาสจนกว่าจะคลายความสงสัยหรือจนกว่าจะเกิดความกระจ่างแจ้ง และยังบอกว่า " หากกลับไปแล้วมีอะไรติดค้างในใจ ก็ให้กลับมาถามใหม่ได้"

น้ำใจ ห่วงใย

เมื่อครั้งที่ท่านเจ้าคุณฯ มีอาการอาพาธมากไม่สะดวกที่จะออกมาฉันที่โรงฉัน ญาติโยมนิมนต์ท่านฉันที่กุฏิ แม้ว่าไม่ได้ออกมาพบกับญาติโยม แต่ท่านจะถามถึงว่า..มาเองหรือเปล่า ไม่มาเพราะเหตุใด ไม่สบายหรือติดธุระสิ่งใด ท่านจะถามด้วยความห่วงใยสม่ำเสมอ นอกจากนั้นหากได้ยินว่าญาติโยมท่านใดประสบเคราะห์หรือป่วย ท่านจะหาโอกาสไปเยี่ยม ท่านถือว่าเป็นกิจสำคัญที่ต้องทำ ถึงแม้ว่าท่านเองก็ไม่ค่อยสบายเหมือนกัน

ปฏิสันถาร

ด้วยอัธยาศัยอันงามประกอบด้วยเมตตากรุณา แขกที่มาพบท่านจะรู้สึกสบายใจ บางทีอยู่กันดึกดื่น พอแขกกลับไป ถ้าเป็นช่วงกำลังอาพาธท่านจะลงนอนเพื่อพักผ่อนร่างกาย ถ้าร่างกายพอไปได้ ท่านจะหยิบงานออกมาทำต่อ ศิษย์คนหนึ่งรู้สึกสงสารท่าน ได้ถามท่านว่า ทำไมท่านไม่บอกว่าท่านกำลังอาพาธ ให้เขากลับไปก่อน แล้วค่อยมาใหม่ในโอกาสหน้า ท่านเจ้าคุณฯ ตอบด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า "ทำอย่างนั้นไม่ได้ เป็นพระต้องมีปฏิสันถาร"

การแยกแยะอย่างตรงไปตรงมา

เมื่อมีผู้กราบเรียนถามท่านเจ้าคุณฯ เรื่องความเป็นบุคคลสาธารณะ ท่านกล่าวว่า เป็นปกติที่จะเป็นที่จับตามอง จึงต้องเป็นแบบอย่างให้แก่สังคมด้วย ถ้าเป็นบุคคลสาธารณะระดับประเทศ ยิ่งต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น ต้องมีความโปร่งใส และสว่างไสว ตรวจสอบได้ ไม่ใช่จะแอบไปมีพฤติกรรมเสื่อมเสียอย่างไรก็ได้ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

บุคคลสาธารณะต้อง " ตระหนักและรับผิดชอบ " ต่อความเป็นบุคคลสาธารณะนั้นด้วย

ในกรณีที่เขามีความดี หรือมีเรื่องที่เป็นปมขึ้นมา มีข้อน่าเห็นใจก็ต้องแยกแยะแบบวิภัชวาท สิ่งนั้นเป็นความดีของเขา หรือเป็นปัญหาของเขา มีข้อ " น่าเห็นใจ " อย่างนั้น ก็ว่าตรงไปตามนั้น แต่จะเอามาปะปนลบล้างกับส่วนที่เสียหรือบกพร่องไม่ได้

ถ้าคนในสังคมยอมรับความจริง แบบว่ากันให้ตรงไปตรงมา เรื่องไหนก็เรื่องนั้น ก็จะไม่ต้องมาแยกเป็นสองพวก ที่ต่างฝ่ายต่างเหมารวมไปตามที่ตัวชอบ คือถ้าไม่ชอบก็เอาส่วนไม่ดีมาเหมาว่า " เสียหมด " ถ้าชอบก็เอาส่วนดีมาเหมาว่า " ดีหมด"

อะไรที่เขา "ดี" ก็ว่า "ดี" ให้ชัดไป ส่วนอะไรที่ "ไม่ดี" ก็ว่า "ไม่ดี" ตรงไปเหมือนกัน

มงคลพฤกษ์แห่งความรัก

ท่านเจ้าคุณฯได้ให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตสมรสที่เป็นสุขและมีคุณค่าว่า การเริ่มชีวิตสมรสเหมือนกับคู่ครองทั้งสองมาร่วมกันปลูกต้นไม้แห่งชีวิตสมรส จะต้องมีคุณสมบัติ 4 อย่างของต้นไม้คือ

มีรากแก้วที่แข็งแรงมั่นคง คือ สัจจะ

มีศักยภาพในการเจริญเติบโตงอกงาม คือมีการพัฒนาตนเอง พบเจอปัญหาใดให้เอามาเป็นแบบฝึกหัด ยิ่งจะทำให้เจริญงอกงาม ข้อนี้คือ ทมะ

มีความแข็งแรงทนทาน ยืนต้นได้ดี ทนต่อทุกสภาพอากาศ วัชชพืขหรือแมลงที่มาชอนไช หรือลมแรงเป็นมรสุม ข้อนี้คือ ขันติ

มีน้ำเลี้ยงบริบูรณ์ เป็นอาหาร ถ้าต้นไม้มีน้ำหล่อเลี้ยงก็จะชุ่มฉ่ำ สดชื่น ใบเขียวขจี คือมี จาคะ

เมื่อต้นไม้มีความสวยงาม ใครมาเห็นก็ชื่นใจ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้พึ่งพา คนเดินทางมาร้อนๆ ได้อาศัยร่มเงามีความสุข ชีวิตสมรสที่มีคุณสมบัติครบ 4 ประการ มีกำลังดี มีความสามารถแผ่ประโยชน์สุขนั้นออกไปแก่ญาติมิตรและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน...

.

.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต ) มีหลักการคิดและหลักการดำเนิน อันเป็นแบบอย่างที่ดีงามสำหรับเยาวชน บุคคลทั่วไปไม่ว่าชายหรือหญิง รวมทั้งสำหรับเพศบรรพชิต เป็นปราชญ์ผู้ทรงศีลและเพชรน้ำเอกแห่งวงการสงฆ์ ที่พึ่งแห่งพระพุทธศาสนาที่เคารพ ศรัทธาได้อย่างเต็มหัวใจโดยแท้จริง

.

บทความ โดย ธมลวรรณ

รวบรวมและเรียบเรียงจาก

1 วิถีแห่งปราชญ์ ปฎิปทาและจริยาวัตร ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เรียบเรียงโดย พนิดา อังจันทรเพ็ญ ( 140 เรื่อง เพิ่มเติม 73 เรื่อง ปี พ.ศ 2550)

2. วิกิพีเดีย บุคคลสำคัญของไทย

ขอขอบคุณคุณปฏิจจชน http://www.oknation.net/blog/patijjachon เป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติ ส่ง tag " บุคคลที่เราเคารพ ศรัทธา ได้อย่างเต็มหัวใจ" แก่ธมลวรรณ และขออนุญาตส่ง tag ให้เพื่อนบ้านเพื่อร่วมทำ " แผนที่บุคคลที่ควรยกย่อง" หรือ" แผนที่คนดี" ต่อไป ดังนี้

1.. คุณคนช่างเล่า บล็อกเกอร์ผู้ถ่ายทอด เรื่องราวจากอดีตเพื่อรักษาคุณค่า ความทรงจำดีๆโดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับการไปรษณีย์โทรเลข http://www.oknation.net/blog/nukpan

2. คุณญิบ พันจันทร์ บล็อกเกอร์ผู้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และสำนึกของสังคม http://www.oknation.net/blog/yipphanchan

3. คุณวัชชา บล็อกเกอร์ผู้มีประสบการณ์ด้าน การศึกษา มีความหลากหลายในการนำเสนอเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจhttp://www.oknation.net/blog/learnlivelove

4.คุณเมธา บล็อกเกอร์ผู้ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย http://www.oknation.net/blog/talkwithMetha

5 คุณสกินเฮด บล็อกเกอร์ผู้มีแนวคิดและวิธีคิดเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข สงบ http://www.oknation.net/blog/skinhead

6. คุณคนโทใส่น้ำ บล็อกเกอร์ผู้มีลีลาและเรื่องราวที่เล่าสั้นๆง่ายๆ อ่านสบายๆ หลากหลายทั้งกวีหวาน งานการบ้าน การเมืองและเรื่องราวชีวิตทั่วไปใกล้ตัว http://www.oknaton.net/blog/konto2


เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2555 | อ่าน 13958
เขียนโดย

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
หลักชาวพุทธ 12 ประการ
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไ
27/01/2559
เปิดอ่าน 18673
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9903
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11237
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15332
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12200
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11212
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 11160
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11705
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 13001
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12236
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th