หลักชาวพุทธ 12 ประการ

~~ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไม่มีทั้งความรู้และการปฏิบัติของชาวพุทธ สภาพเช่นนี้เป็นเหมือนเมฆหมอกที่บดบังแสงสว่างและความงามแห่งคุณค่าของพระพุทธศาสนา
 นอกจากตัวบุคคลนั้นจะไม่เจริญงอกงามในธรรมแล้วสังคมก็สูญเสียประโยชน์มากมายที่พึงได้จากพระพุทธศาสนา จึงเป็นปัญหาร้ายแรงที่ควรตื่นตัวขึ้นมาเร่งแก้ไข
 คำว่า “ชาวพุทธ” มิใช่เป็นถ้อยคำที่พึงเรียกขานกันอย่างเลื่อนลอย บุคคลที่จะเรียกได้ว่าเป็น “ชาวพุทธ” จะต้องมีหลักการ มีคุณสมบัติประจำตัวและมีมาตรฐานความประพฤติ ที่รองรับ ยืนยัน และแสดงออกถึงความเป็นชาวพุทธนั้น
 หลักการและปฏิบัติการที่เรียกว่า “หลักชาวพุทธ” ดังต่อไปนี้ เป็นภูมิธรรมขั้นพื้นฐานของชาวพุทธ
 ผู้ที่ตั่งมั่นอยู่ในหลักการและดำเนินตามปฏิบัติการนี้ นอกจากเป็นชาวพุทธสมแก่นามแล้ว จะมีชีวิตที่พัฒนาก้าวหน้างอกงาม และช่วยให้สังคมเจริญมั่นคงดำรงอยู่ในสันติสุข เป็นผู้สืบต่อวิถีชาวพุทธไว้ พร้อมทั้งรักษาธรรมและความเกษมศานต์ให้แก่โลก

“หลักชาวพุทธ” อันพึงถือเป็นบรรทัดฐาน มีดังต่อไปนี้
หลักการ
๑. ฝึกแล้วคือเลิศมนุษย์ :ข้าฯ มั่นใจว่า มนุษย์จะประเสริฐเสิศสุด แม้กระทั่งเป็นพุทธะได้ เพราะฝึกตนด้วยสิกขา คือ การศึกษา
 ๒. ใฝ่พุทธคุณเป็นสรณะ : ข้าฯ จะฝึกตนให้มีปัญญา มีความบริสุทธิ์และมีเมตตากรุณา ตามอย่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 ๓. ถือธรรมะเป็นใหญ่ : ข้าฯ ถือธรรม คือความจริง ความถูกต้อง ดีงาม เป็นใหญ่ เป็นเกณฑ์ตัดสิน
 ๔. สร้างสังคมให้เยี่ยงสังฆะ : ข้าฯ จะสร้างสังคมตั้งแต่ในบ้านให้มีสามัคคี เป็นที่มาเกื้อกูลร่วมกันสร้างสรรค์
 ๕. สำเร็จด้วยกระทำกรรมดี : ข้าฯ จะสร้างความสำเร็จ ด้วยการกระทำที่ดีงามของตน โดยพากเพียรอย่างไม่ประมาท
----------------------------------------------------------------------------
=== > ปฏิบัติการ
ข้าฯ จะนำชีวิต และร่วมนำสังคมประเทศชาติ ไปสู่ความดีงาม และความสุขความเจริญ ด้วยการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
 
ก) มีศีลวัตรประจำตน
1. บูชาบูชนีย์  มีปกติกราบไหว้ แสดงความเคารพ ต่อพระรัตนตรัย บิดามารดา ครูอาจารย์ และบุคคลที่ควรเคารพ
2. มีศีลห่างอบาย   สมาทานเบญจศีลให้เป็นนิจศีลคือหลักความประพฤติประจำตัว ไม่มืดมัวด้วยอบายมุข 
3. สาธยายพุทธมนต์   สวดสาธยายพุทธวจนะหรือบทสวดมนต์โดยเข้าใจความหมาย อย่างน้อยก่อนนอนทุกวัน
4. ฝึกฝนจิตด้วยภาวนา  ทำจิตใจให้สงบ ผ่องใส เจริญสมาธิ อันค้ำจุนสติที่ตื่นตัวหนุนปัญญาที่รู้ทั่วชัดเท่ากัน และอธิษฐานจิตเพื่อจุดหมายที่เป็นกุศล วันละ ๕-๑๐ นาที


ข) เจริญกุศลเนืองนิตย์
5. ทำกิจวัตรวันพระ    บำเพ็ญกิจวัตรวันพระด้วยการตักบาตร หรือแผ่เมตตา ฟังธรรม หรือ อ่านหนังสือธรรม โดยบุคคลที่บ้าน ที่วัด ที่โรงเรียน หรือทำงาน ร่วมกันประมาณ ๑๕ นาที
6. พร้อมสละแบ่งปัน   เก็บออมเงินและแบ่งมาบำเพ็ญทาน เพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อบูชาคุณ เพื่อสนับสนุนกรรมดี อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง
7. หมั่นทำคุณประโยชน์   เพิ่มพูนบุญกรรม บำเพ็ญประโยชน์ อุทิศแด่พระรัตนตรัย มารดาบิดา ครูอาจารย์ และท่านผู้เป็นบุพการีของสังคมแต่อดีตสืบมา อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง

8. ได้ปราโมทย์ด้วยไปวัด   ไปวัดชมอารามที่รื่นรมย์ และไปร่วมกิจกรรมทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันสำคัญของครอบครัว

ค) ทำชีวิตให้งามประณีต
9. กินอยู่พอดี  ฝึกความรู้จักประมาณในการบริโภคด้วยปัญญา ให้กินอยู่พอดี
10. มีชีวิตงดงาม ปฏิบัติกิจส่วนตน ดูแลของใช้ของตนเอง และทำงานของชีวิต ด้วยตนเอง ทำได้ ทำเป็น อย่างงดงามน่าภูมิใจ
11. ไม่ตามใจจนหลง  ชมรายการบันเทิงวันละไม่เกินกำหนดที่ตกลงกันในบ้าน ไม่มัวสำเริงสำราญปล่อยตัวให้เหลิงหลงไหลไปตามกระแสสิ่งล่อเร้าชวนละเลิง และมีวันปลอดการบันเทิง อย่างน้อยเดือนละ ๑ วัน
12. มีองค์พระครองใจ  มีสิ่งที่บูชาไว้สักการะประจำตัว เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย และตั้งมั่นอยู่ในหลักพุทธ 

ด้วยการปฏิบัติ ๓ หมวด ๑๒ ข้อนี้
 ข้าพเจ้าเป็นชาวพุทธแท้จริงที่มั่นใจว่าจะสามารถรักษาธรรมไว้ และ ร่วมนำโลกไปสู่สันติสุข
 บุคคลที่ถือปฏิบัติตาม “หลักชาวพุทธ” ดังกล่าวมานี้ เป็นผู้มีภูมิธรรมพื้นฐานของชาวพุทธ จึงเป็นชาวพุทธที่แท้จริง สมกับชื่อที่เรียกขาน
 แรกที่สุด พอเด็กเกิดมา ลืมตาดูโลก การศึกษาก็เริ่ม ลูกจะเห็นโลกและมองโลกอย่างไร ก็อยู่ที่พระพรหมคือพ่อแม่จะชี้แสดงชักนำให้การศึกษาเดินหน้าไป
 ดังนั้นถ้าจะให้แน่จริงและมั่นใจที่สุด การปฏิบัติตามหลักชาวพุทธจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน โดยการนำของบูรพาจารย์ คือคุณพ่อคุณแม่ ที่แน่แท้ว่าเป็นครูคนแรกของลูก
 เมื่อเด็กมาเข้าโรงเรียน คือเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษา ถือว่าเป็นจุดกำหนดในการแสดงความเป็นผู้ศึกษาให้ปรากฏชัดเจนออกมา เท่ากับบอกแจ้งว่าจะตั้งต้นเล่าเรียนศึกษาอย่างจริงจัง ให้สมนามที่เรียกว่าเป็น “นักเรียน”
ในขณะที่เริ่มแสดงความเป็นนักเรียนนั้น เด็กก็ควรได้โอกาสที่จะเริ่มแสดงความเป็นชาวพุทธของตนให้ปรากฏชัดออกมาด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้กระบวนการของการศึกษาทุกส่วนประสานเกื้อกูลและกลมกลืนกัน ดำเนินไปอย่างครบองค์สมที่จะเรียกว่าเป็น"ไตรสิกขา"
เมื่อเด็กมีภูมิธรรมพื้นฐานของชาวพุทธ ด้วยการถือปฏิบัติตามหลักชาวพุทธข้างต้นนี้ ความเป็น “ชาวพุทธ” ของเด็กก็จะเริ่มปรากฏชัดเจนออกมา เป็นนิมิตหมายว่าชีวิตของเธอจะงอกงาม ก้าวหน้าไปในพัฒนาการแห่งการศึกษา ดุจดวงอาทิตย์ที่อุทัยแล้วก็จะสูงเด่นงามสง่า ทอแสงเจิดจ้าให้ความสว่างและพลังอันอำนวย ความสัมฤทธิ์สมหวังและความรุ่งเรืองทุกประการ
 อุทัยแห่งชีวิตการศึกษาของเด็ก ก็หมายถึงอุทัยแห่งปวงความหวังของครอบครัวของสังคมและของมนุษยชาติทั้งมวล อันเป็นหลักประกันให้มั่นใจว่า มนุษย์ที่ได้พัฒนาดีแล้วนี้ จะสามารถรักษาธรรมไว้ และนำโลกไปสู่สันติสุขได้ อย่างแน่นอน

*********************************************************************
จากแผ่นพับ ,หนังสือ หลักชาวพุทธ (สามไตร ณ ฐานของปฏิบัติการ) ได้รับจากวัดญาณเวศกวัน
"จุดเริ่มจุดร่วมที่มารวมกันรุ่งโรจน์" โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
รูปภาพจากเว็ป http://www.chaobuddha.com


เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2559 | อ่าน 18461
เขียนโดย admin

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9704
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11093
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15152
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12033
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11053
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 10991
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11544
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 12821
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12071
 
สภาสากลวันวิสาขบูชาโลก เป็นที่ปรึกษาพิเศษของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
ส่วนงานของสหประชาชาติที่กำกับดูแลองค์กรนอกภาครัฐของคณะมนตรี เศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติได้มีหนังสือลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ แจ้งให้ ทราบอย่างเป็นทางการว่า บัดนี้ สภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (International Council for the Day of Vesak) ได้รับอนุมัติให้มีสถานะเป็นที่ปรึกษาพิเศษของคณะมนตรี เศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
22/09/2556
เปิดอ่าน 11020
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th