มาฆบูชา:หลักการของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา

วันมาฆบูชา มักจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี แม้ในปีนี้จะอยู่หลังวันวาเลนไทม์ถึงสิบสี่วัน ก็ยังมีนักปราชญ์หลายท่านเสนอว่าวันมาฆบูชาก็คือวันแห่งความรักของชาวพุทธ ความเห็นนี้เป็นความคิดที่น่าสนใจ แต่หากมองในด้านการกำเนิดของพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนาแล้ว มีกำเนิดที่ต่างกันคือพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม คือไม่เชื่อในอำนาจการดลบันดาลของพระเจ้า ส่วนคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาประเภทเทวนิยมคือเชื่อในอำนาจพระพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นรูปเคารพของคริสต์จึงเป็นไม้กางเขนหรือพระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน ส่วนศาสนาพุทธเป็นภาพเหมือนของพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป


ในด้านหลักคำสอนศาสนาพุทธเชื่อในการกระทำของมนุษย์ ไม่ใช่มาจากการดลใจของพระผู้เป็นเจ้า แต่ศาสนาคริสต์ถือหลักศรัทธาคือเชื่อในอำนาจของพระเจ้า
อีกวันหนึ่งที่ตรงกันกับวันมาฆบูชาคือวันศิวาราตรีในศาสนาพราหมณ์ บางแห่งนิยมเรียกวันมหาศิวาราตรี เป็นวันสำคัญทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์ฮินดู ศิวาราตรีแปลว่าราตรีหรือค่ำคืนแห่งการบูชา พระศิวะเจ้า ศิวาราตรีเป็นเทศกาลสำคัญยิ่งวันหนึ่งในรอบปีของชาวฮินดู โดยพิธีศิวาราตรีจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย หรือเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของฮินดู คือพิธีนี้จะอยู่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี โดยวันสำคัญที่สุดของเทศกาลนี้อยู่ในคืนวันเพ็ญ กฤษณปักษ์ เดือน 3 โดยชาวฮินดูจะประกอบพิธีบูชาพระศิวะเจ้าด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งวันทั้งคืน


วันมาฆบูชาในพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ได้ถือเอาวันเพ็ญเดือนมาฆะเป็นวันประกาศหลักการแห่งพระพุทธศาสนาโดยประกาศต่อหน้าสาวกซึ่งล้วนแต่เป็นพระอรหันต์จำนวน 1250 รูป ทุกรูปล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าเป็นผู้บวชให้หรือพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์) แต่ละรูปต่างฝ่ายต่างมามาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายกันไว้ก่อน และวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นการประกาศหลักการสำคัญอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ซึ่งมีใจความว่า“อย่าทำความชั่ว จงทำดี และทำจิตของตนให้บริสุทธิ์”
จากนั้นได้ประกาศจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาว่า "ขันติคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นบรมธรรม"
แสดงจุดยืนของชาวพุทธในการดำรงอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดความเชื่อว่า "ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ที่นั่งที่นอนอันสงัด ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"
โอวาทปาฏิโมกข์จึงสรุปเป็นสามส่วนคือ (1)ประกาศหลักการสำคัญ (2)ประกาศจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา (3)แสดงจุดยืนของชาวพุทธ
วันมาฆบูชาเป็นการประกาศหลักการที่สำคัญของพระพุทธศาสนาภายใต้กาละและเทศะในยุคนั้นคือ


 


ในด้านกาละ พระพุทธเจ้าเลือกแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ ซึ่งเป็นวันศิวาราตรีหรือวันกระทำพิธีลอยบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือในสมัยนั้น
พระพุทธศาสนามีความเห็นต่างจากศาสนาพราหมณ์หลายเรื่องเช่นเสนอคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมที่เป็นการปฏิเสธอำนาจพรหมลิขิตและระบบวรรณะ เสนอคำสอนใหม่เรื่องอนัตตาที่ขัดกับความเชื่อเรื่องอัตตา และยังปฏิเสธการลอยบาปในแม่น้ำคงคาตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ความเห็นแตกต่างเหล่านี้ ก็ได้ดำเนินไปด้วยความชัดเจนในความจริงและเหตุผล ที่นำเสนอบนจุดยืนที่จะไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียนฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างไปจากตน
ส่วนในด้านเทศะ พระพุทธองค์แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ณ สวนไผ่ ที่พระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งมคธรัฐ ได้ถวายให้เป็นวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนานามว่า "เวฬุวนาราม" นครราชคฤห์ ในขณะนั้นมีศาสดาเจ้าลัทธิ ประกาศลัทธิความเชื่อของตนอยู่จำนวนมาก และอยู่ใกล้กับตโปทาราม บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่พราหมณ์มาประกอบพิธีศิวาราตรี

เนื้อความแห่งโอวาทปาฏิโมกข์ ที่ย้ำการไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่กล่าวร้าย ที่พระพุทธองค์แสดงแก่พระอรหันต์ 1,250 องค์ ประกอบด้วยพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ และพระคยากัสสปเถระรวม 1,000 องค์ รวมกับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระอีก 250องค์ รวมทั้งสองคณะเป็น 1,250องค์ ภิกษุเหล่านี้ในอดีตก่อนจะมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เคยสังกัดลัทธิความเชื่อในลัทธิพราหมณ์ และเข้าใจบรรยากาศแห่งความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ ในยุคนั้นดีอยู่แล้ว จึงเป็นการประกาศจุดยืนของชาวพุทธ ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับฝ่ายที่มีความคิดความเชื่อที่แตกต่างกัน ในวันนั้นภิกษุเหล่านั้นในอดีตเคยมาทำพิธีลอยบาปในวันศิวาราตรี พออุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้วด้วยความเคยชิน พอถึงวันสำคัญก็มีเจตนาจะมาทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะให้ทำอย่างไรในพิธีศิวาราตรี พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์อันเป็นหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนกลายมาเป็นหลักธรรมประจำใจของพระธรรมทูตในยุคปัจจุบัน

แม้ทุกวันนี้โลกได้พัฒนามาไกลจากกาละและเทศะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์สองพันกว่าปีแล้วก็ตาม แต่ทว่าโลกยังคงมีความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ และแนวปฏิบัติแตกต่างกันออกไปเป็นจำนวนมาก บางครั้งผสมผสานหลายความเชื่อเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นวิถีและความเชื่อใหม่ในสังคม ที่บางครั้งความเชื่อทางศาสนาได้ผนึกรวมเป็นความเชื่อใหม่ที่มาจากศาสนาแต่อาจจะไม่ขึ้นอยู่กับศาสนา เฉกเช่นวันศิวาราตรีและวันมาฆบูชา แม้จะต่างกันในด้านกาละ และเทศะ แต่ก็มาอยู่ร่วมในช่วงเดือนเดียวกัน
จุดยืนของชาวพุทธตามโอวาทปาฏิโมกข์ที่ว่า ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ที่นั่งที่นอนอันสงัด ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น่าจะทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่สร้างเงื่อนไขแห่งความรุนแรง แต่เป็นศาสนาแห่งสันติภาพและสร้างความรักแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย


จากความเชื่อเก่าที่เชื่อในการลอยบาปว่าบาปสามารถชำระล้างได้ด้วยการอาบน้ำชำระกายในวันพระจันทร์เต็มดวงแห่งเดือนมาฆะเรียกว่าศิวาราตรีนั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงความเชื่อใหม่ว่าการไม่ทำบาปทั้งหลายทั้งปวงดีกว่าการทำบาปแล้วมาลอยบาป เรียกว่าถ้าเหตุเริ่มต้นดีผลก็ย่อมจะดีไปด้วย บาปและบุญอยู่ที่เหตุ ถ้าไม่ทำความชั่วแล้ว บาปจะมาจากไหน ดังนั้นบาปจึงไม่ต้องลอยในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทีไหน แต่อยู่ที่การตั้งจิตคิดงดเว้นไม่กระทำ
นักเผยแผ่พระพุทธศาสนาต้องมีหลักการ ดำเนินตามแนวทางที่พระบรมศาสดาจารย์ได้ทรงแสดงไว้แล้ว เมื่อเจอกับสภาวะที่กดดันต้องฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ ทุกอย่างต้องใช้ใช้ความอดทนอดกลั้นเป็นคุณธรรมประจำ น่าจะพออนุโลมกับคำว่า "ใครด่าใครบ่นทนเอา ตัวเราร่มเย็นเป็นพอ" มาฆบูชาในแต่ละปีจึงเป็นโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ทบทวนหลักการ อุดมการณ์และวิธีการของผู้จะทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผู้ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา ต้องมั่นคงในหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ในวันเพ็ญเดือนมาฆะเมื่อสองพันกว่าปีล่วงมาแล้ว กาลเวลาเปลี่ยนแต่หลักการไม่เคยเปลี่ยน


พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง


เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2555 | อ่าน 3767
เขียนโดย admin

       
 
 
  อ่าน ธรรมะวันนี้ อื่นๆ
 
เปรต วิบากกรรมของผู้ยุยงให้คนอื่นแตกแยก
เปรต วิบากกรรมของผู้ยุยงให้คนอื่นแตกแยก พระพุทธศาสนากล่าวถึงวิบากกรรมของคนที่ชอบพูดยุยงให้คนอื่นแตกแ
30/08/2565
เปิดอ่าน 6241
 
ซื่อสัตย์
เรือลำนั้นชื่อ ซื่อสัตย์
09/10/2564
เปิดอ่าน 4216
 
"ปรุง เปลี่ยน ปรับ ขยับขยาย"
"ปรุง เปลี่ยน ปรับ ขยับขยาย" พระเทพปฎิภาณวาที (เจ้าคุณพิพิธ) วัดสุทัศนเทพวราราม เจ้าคณะเขตดุสิต กทม
13/01/2563
เปิดอ่าน 5837
 
นางฟ้าตกสวรรค์
โลกมนุษย์​ ยาวนานจริงหรือ​ อย่าประมาทในการทำความดี
06/10/2562
เปิดอ่าน 9017
 
สาธุ​ คืออะไร?
สาธุ
18/04/2562
เปิดอ่าน 5576
 
ธรรมชาติแมงป่อง
ธรรมชาติแมงป่อง
14/04/2562
เปิดอ่าน 5014
 
เต่าตาบอด
เต่าตาบอด​ 100ปี​ ยื่นคอขึ้นเหนือน้ำให้ลอดแอก​ยากยิ่งนัก
02/02/2562
เปิดอ่าน 5181
 
งูกับการสวดมนต์
งูกับการสวดมนต์
20/06/2561
เปิดอ่าน 5398
 
ลอยกระทง
ลอยกระทง เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวไทยสืบทอดกันมาช้านานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
03/11/2560
เปิดอ่าน 6177
 
เปิดกลโกง กับคนโกง 8 จำพวกในพระไตรปิฎก
เปิดกลโกงกับคนโกง 8 จำพวกในพระไตรปิฎก ประเภทของคนโกงถูกเตือนแล้วโกรธ ไม่ใช่โกงเงินทอง แต่โกงความดี
01/11/2560
เปิดอ่าน 5673
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th