พุทธบริษัท ๔ ควรรู้เรื่องกฐิน

๑. กฐิน หมายถึงผ้าพิเศษที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพุทธานุญาตเฉพาะกฐินกาล เป็นกาลทาน ในปีหนึ่งมีเขตกฐินเพียง ๑ เดือน คือ ตั้งแต่วันออกพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตามศัพท์ กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับตัดจีวร ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียก สังฆกรรมอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพุทธานุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ ๕ รูป ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัดเดียวกัน และเป็นผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส (๓ เดือน) ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยไม่ขาดพรรษาเพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ โดยพระภิกษุสงฆ์พร้อมใจกันมอบผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน (ไตรจีวร : สบง จีวร สังฆาฏิ) ที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้มีคุณสมบัติสมควรแก่การรับผ้ากฐินผืนนั้น พระภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ควรเป็นภิกษุผู้รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพพกรณ์ เป็นต้น ได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นผู้ดำเนินการกรานกฐินในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเจ้าภาพถวายผ้ากฐินสำเร็จรูปก็ตาม พระภิกษุผู้เป็นองค์ครองกฐินจะต้องมีคุณสมบัติอันสมควรนี้ และเมื่อทำผ้าจีวรได้สำเร็จแล้ว จะต้องประกาศให้คณะสงฆ์รับทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อคณะสงฆ์อนุโมทนาแล้ว พระภิกษุองค์ครองจึงจะมีสิทธิในผ้ากฐินนั้น และพระภิกษุในวัดทุกรูปมีสิทธิได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ ตามพระพุทธานุญาต

๒. พระพุทธานุญาตเรื่องกฐิน กฐินเป็นพระพุทธานุญาตพิเศษกว่าเรื่องอื่นๆ เช่นการถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือการถวายน้ำปานะเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงประทานอนุญาต เมื่อมีผู้ศรัทธามาทูลขอพระพุทธานุญาต เรื่องถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายน้ำปานะ แต่เรื่องกฐินไม่มีผู้ใดมาทูลขอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระพุทธานุญาตด้วยพระองค์เอง

๓. พระพุทธประสงค์เรื่องกฐิน
พุทธประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ทรงพุทธานุญาตให้พระภิกษุกรานกฐินนั้น คือ
๑) เพื่อให้พระภิกษุได้พักผ่อน พอพื้นดินแห้งสมควรแก่การเดินทาง
๒) เพื่อสงเคราะห์ ให้พระภิกษุได้เปลี่ยนผ้าครอง
๓) เพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่สงฆ์ ได้ช่วยกันตัดเย็บจีวรเป็นผ้ากฐิน
๔) เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ ได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ

๔. จีวร หมายถึง ผ้าทุกชนิดที่ชนทั้งหลายถวาย ไม่ว่าจะเป็นกาลจีวรก็ดี อกาลจีวรก็ดี อัจเจกจีวรก็ดี วัสสิกสาฏิกาก็ดี ผ้านิสีทนะก็ดี ผ้าปูลาดก็ดี ผ้าเช็ดหน้าก็ดี (ฯลฯ)
ถ้าเป็นผ้า ๓ ผืน เรียกว่าไตรจีวร (จีวร ๓ ผืน)
ถ้าเป็นผ้า ๒ ผืน เรียกว่าไทวจีวร (จีวร ๒ ผืน)
ไตรจีวรคือ อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าทาบคลุมกันหนาว) ในความหมายโดยทั่วไป เข้าใจกันว่า จีวร คืออุตตราสงค์ (ผ้าห่ม)
จากพระวินัยปิฎกมหาวรรค จีวรขันธกะ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม ๗/๙๑ น. ๒๖๔ ความว่า : พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพุทธานุญาตจีวร ๖ ชนิด คือ จีวรทำด้วยเปลือกไม้ ๑ จีวรทำด้วยฝ้าย ๑ จีวรทำด้วยไหม ๑ จีวรทำด้วยขนสัตว์ ๑ จีวรทำด้วยป่าน ๑ จีวรทำด้วยของเจือกัน ๑ (จากวัสดุ ๕ ชนิดมาปนกัน)
จีวร นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระพุทธานุญาตให้ตัดอย่างคันนาชาวมคธ ดังมีเรื่องกล่าไว้ในพระวินัยปิฎกมหาวรรค จีวรขันธกะ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม ๗/๙๑ น. ๒๗๕ ความว่าครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ เสด็จพุทธดำเนินไปทางทักขิณาคีรีชนบท ได้ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธสวยงาม มีจังหวะเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงตรัสถามพระอานนทเถระว่า สามารถตัดจีวรของพระภิกษุให้เหมือนนาของชาวมคธได้หรือไม่ พระเถระทูลสนองว่า สามารถตัดได้และได้ตัดเป็นตัวอย่างสำหรับพระภิกษุหลายรูปไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดและสรรเสริญพระอานนทเถระว่าเป็นผู้ฉลาด เป็นคนเจ้าปัญญา ทรงอนุญาตให้ใช้จีวรตัด และใช้แบบที่พระอานนทเถระถวายเป็นตัวอย่าง เป็นต้นมา

๕. การประชุมทำผ้ากฐินในครั้งพุทธกาล เป็นการประชุมใหญ่มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ ว่า : ครั้งเมื่อพระอนุรุทธเถระ ได้ผ้าบังสุกุลมา จะทำจีวรเปลี่ยนผ้าครองสำรับเก่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ เสด็จเป็นประธานในวันนั้นพร้อมพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป พร้อมพระอสีติมหาสาวกร่วมประชุมช่วยทำ พระมหากัสสปะเถระนั่งอยู่ต้นผ้า พระมหาสารีบุตรเถระนั่งอยู่ท่ามกลาง พระอานนทเถระนั่งอยู่ปลายผ้า พระภิกษุสงฆ์ช่วยกันกรอด้าย พระบรมศาสดาทรงสนเข็ม พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้อุดหนุนกิจการทั้งปวง แสดงถึงพลังความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ อันเป็นพระพุทธประสงค์ในการทำผ้ากฐิน

๖. กฐินเป็นกาลทาน ใน ๑ ปี มีเขตกฐิน เพียง ๑ เดือน คือ ตั้งแต่วันออกพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ถ้าพ้นเขตกฐินแล้ว แม้จะไปทอดกฐินก็ไม่เป็นกฐิน ไม่ได้อานิสงส์กฐิน จะได้แต่เป็นอานิสงส์ของสังฆทาน หรือผ้าบังสกุล

๗. พระภิกษุองค์ครองผ้ากฐิน ควรเป็นภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทด้วย "ญัตติจตุตถกรรม" โดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย ด้วยกล่าวขออุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์และคณะสงฆ์ต่อหน้าพระประธานองค์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายในพระอุโบสถ ด้วยคำกล่าว "อุกาสะ วันทามิ ภันเต..." อันมีเหตุมาแต่สมัยพุทธกาล (ดังเรื่องพระราธพราหมณ์ ข้อ ๒๖)

๘. พระภิกษุองค์ครองผ้ากฐิน จะต้องเป็นผู้รู้ธรรม ๘ ประการ คือ
๑) รู้จักบุพพกรณ์(บุพพกิจ) ๒) รู้จักถอนไตรจีวร ๓) รู้จักอธิษฐานไตรจีวร ๔) รู้จักกรานกฐิน ๕) รู้จักมาติกา ๖) รู้จักปลิโพธ กังวลเป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน ๗) รู้จักการเดาะกฐิน ๘) รู้จักอานิสงส์กฐิน แล้วจึงกรานกฐิน หากภิกษุองค์ครองไม่รู้ธรรม ๘ ประการ อานิสงส์ก็น้อยลงตามลำดับ หรือไม่ควรเป็นผู้รับผ้า (เป็นเรื่องของสงฆ์ที่จะต้องรู้และศึกษาวิธีในการกรานกฐิน) เมื่อเป็นผ้าสำเร็จรูปแล้ว ภิกษุองค์ครองต้องประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์อนุโมทนาแล้ว จะได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ ขยายยาวออกไปถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ (ปกติพระภิกษุได้รับอานิสงส์พรรษา มีกำหนด ๑ เดือน แม้จะไม่ได้กรานกฐิน)

๙. พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นปกตัตตะภิกษุ คือเป็นพระภิกษุปกติไม่ต้องโทษ ไม่ต้องอาบัติ พระภิกษุที่ต้องอาบัติข้อใดข้อหนึ่งควรปฏิบัติดังนี้ สำหรับ ครุกาบัติ (อาบัติหนัก : ปาราชิก สังฆาทิเสส) ถ้าภิกษุต้องอาบัติปาราชิกควรลาสิกขาบทจากความเป็นภิกษุทันที ส่วนภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสควรเข้าปริวาสกรรมทันที ส่วนลหุกาบัติ (อาบัติเบา) สามารถปลงอาบัติได้ พระภิกษุควรปลงอาบัติทุกวัน เพื่อพ้นจากอาบัติ และบริสุทธิ์ พร้อมในการปฏิบัติธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงป้องกันพุทธสาวกของพระพุทธองค์ โดยทรงพุทธานุญาตให้ปลงอาบัติ เปิดเผยความผิด การปลงอาบัติมีพลานิสงส์มาก ทำให้กลับมาเป็นปกตัตตะภิกษุได้ตามเดิม

๑๐. สังฆราชี วัดใดหากพระภิกษุในวัดเดียวกันทะเลาะกัน โกรธ ไม่พูดจากัน ขัดใจกัน เป็นสังฆราชี (ความร้าวรานของสงฆ์) เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พระภิกษุทุกรูปจะต้องประชุมกันเพื่อทำสังฆกรรมที่เรียกว่า มหาปวารณา คำว่า "มหา" มีความหมายลึกซึ้งตั้งแต่ มหากุศลในกามาวจร มหากุศลในรูปาวจร มหากุศลในอรูปาวจร และมหากุศลในโลกุตตระ เมื่อกระทำกุศลถูกต้องตามพระธรรมวินัยจิตสามารถดำเนินเข้าสู่กระแส มัคค ผล นิพพาน ได้ แต่ถ้าละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอกุศลจิต ก็มี "มหานรก" เป็นที่รองรับ วันมหาปวารณาเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์สามารถว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ตามหลักธรรมของพระธรรมวินัย มีการบอกกล่าวความขัดใจ ความไม่พอใจความโกรธซึ่งกันและกันได้ และจะมีการงดโทษหรือยกโทษให้แก่กันและกัน หากวัดใดยังมีพระภิกษุที่ยังไม่คืนดีต่อกัน ยังโกรธกัน ไม่พูดดีต่อกัน วัดนั้นไม่มีสิทธิ์รับกฐิน เพราะจะเป็นกฐินเดาะ ไม่ได้อานิสงส์กฐิน

๑๑. ผ้าจำนำพรรษา ถ้าวัดใดมีพระภิกษุไม่ครบ ๕ รูป จะไม่มีสิทธิ์รับผ้ากฐิน แต่จะมีสิทธิ์รับผ้าจำนำพรรษา (ผ้าจำนำพรรษา คือผ้าที่ทายกถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ในวัดนั้นๆ ได้ทุกรูป (๔ รูป ๓ รูป ๒ รูป ๑ รูป) ภายในเขตจีวรกาล (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) ภิกษุเข้าพรรษาหลัง (แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) ไม่มีสิทธิ์รับผ้ากฐิน และผ้าจำนำพรรษา ทายกผู้ฉลาดตั้งเจตนาถวายผ้ากฐินและผ้าจำนำพรรษาแก่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปในวัด จึงจะได้อานิสงส์มาก ถ้าพระภิกษุไม่ครบ ๕ รูป แม้จะนิมนต์พระภิกษุมาจากวัดอื่น เพื่อให้ทำสังฆกรรมครบ ๕ รูป ก็ไม่เป็นกฐิน อย่างนี้เป็นบาปมหันต์ ส่วนสังฆกรรมอื่นสามารถนิมนต์พระภิกษุมาจากวัดอื่นได้ เช่นการบรรพชาอุปสมบท สังฆกรรมอุโบสถหรือการสวดอัพภานเพื่อพระภิกษุที่ต้องสังฆาทิเสส ซึ่งต้องใช้พระภิกษุ ๒๐ รูป เป็นต้น

๑๒. กฐินไม่ใช่เงินทอง กฐิน หมายถึง ผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน (สบง จีวร หรือสังฆาฏิ) ไม่ได้หมายถึง เงินหรือทอง (ตามที่เข้าใจกันเป็นส่วนมากในปัจจุบัน)

๑๓. การจองกฐิน เป็นเรื่องบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินการ บุคคลหมายถึง ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา (ที่ไม่ได้อยู่จำพรรษาวัดนั้น) เทวดา อุบาสก อุบาสิกา สามารถนำกฐินไปทอดได้ เริ่มตั้งแต่การถามเจ้าอาวาสของวัดว่า วัดของท่านมีผู้จองกฐินแล้วหรือยัง ถ้าท่านบอกว่า ยังไม่มีใครมาจองกฐิน ก็ถามอีกว่าท่านต้องการกฐินหรือต้องการเงิน ถ้าท่านบอกว่าต้องการเงิน เพราะยังมีสิ่งก่อสร้างอีกมากมาย เราก็ไม่ไปทอด หรือถ้าท่านตอบว่าต้องการทั้งกฐินและเงิน เราก็ไม่ไปทอด เพราะกฐินนั้นเดาะไม่เป็นกฐิน ถึงนำกฐินไปทอด ก็ไม่ได้อานิสงส์กฐิน แต่ถ้าเจ้าอาวาสบอกว่าต้องการกฐินแสดงว่าเจ้าอาวาสรู้พระวินัย เราก็สามารถทอดกฐินวัดนี้ได้ เพราะการทอดกฐินก็เพื่ออานิสงส์ของพระภิกษุสงฆ์ และแจ้งข่าวให้ทราบทั่วกัน ถ้าเป็นวัดหลวง ต้องได้รับพระราชทานเสียก่อน จึงจะจองได้

๑๔. การบอกบุญกฐิน โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่า เชิญร่วมบุญกฐินเพื่อสร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถานต่างๆ เช่นสร้างเจดีย์ โบสถ์ วิหาร ศาลา หอระฆัง หอฉัน เมรุ โรงครัว ห้องสุขา ฯลฯ หรือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เช่น เพื่อช่วยคนพิการ คนชรา เด็กอนาถา สร้างโรงเรียน เป็นต้น กฐินนั้นจะเดาะตั้งแต่เริ่มตั้งบุพพเจตนาเพราะหวังจะได้เงินทอง ปรารถนาจะได้เงินเข้าวัดมากๆ เพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ จิตที่ทำงานจะเป็นจิตโลภะ หรือการทำกฐินเป็นกองๆ แจ้งว่ากองละเท่านั้นเท่านี้ ก็เช่นกัน กฐินเป็นเรื่องผ้ากฐิน ไม่มีเป็นกองๆ เป็นเงินทอง ล้วนแต่เป็นเรื่องโลภะจิตทำงาน กฐินเดาะตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้อานิสงส์กฐิน แต่ถ้าเป็นเจตนาเพื่อซื้อเครื่องกฐิน สามารถทำได้

๑๕. การแจ้งข่าวกฐิน ให้สาธุชนทั้งหลายรับทราบ ควรทำใบแจ้งการทอดกฐิน พร้อมกำหนดการโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการสร้างวิหารทานใดๆ ถ้าวัดนั้นมีเจ้าภาพสร้างวิหารทานด้วย ควรทำใบแจ้งต่างหาก แยกออกจากใบกฐิน เพราะพิธีการทอดกฐินก็เป็นเรื่องของกฐินโดยเฉพาะ เมื่อเสร็จพิธีทอดกฐินแล้ว จึงจะแจ้งข่าวเรื่องการสร้างมหาทานอื่นๆ ต่อไป

๑๖. การประกาศขอกฐิน โดยพระภิกษุในวัดรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาโดยตรง หรือโฆษณาทางสื่อต่างๆ เช่นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ให้มาทอดกฐินที่วัดของตน ๆ กฐินนั้นเดาะไม่เป็นกฐินเพราะผิดพระวินัย

๑๗. การถวายผ้ากฐิน ต้องเกิดด้วยศรัทธาของทายกเอง ไม่ใช่พระภิกษุในวัดไปพูดแย้มพรายหรือพูดเลียบเคียงให้ถวาย ห้ามใช้ผ้าที่ไม่เป็นสิทธิ์ เช่น ผ้าที่ขอยืมเขามาทอด ไม่ใช้ผ้าที่ได้มาโดยอาการมิชอบ เช่นการทำนิมิตหรือพูดเลียบเคียง ไม่ใช้ผ้าที่เป็นสันนิธิ คือผ้าที่ทายกมาทอดแล้วพระภิกษุเก็บไว้ค้างคืน ไม่ใช้ผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ คือผ้าที่พระภิกษุเสียสละ เพราะต้องโทษตามพระวินัยบัญญัติ

๑๘. ผ้ากฐินตามพระวินัยควรเป็น "ผ้าขาว" ทำจากเปลือกไม้ ฝ้าย ไหม ป่าน ขนสัตว์ หรือผ้าผสมกัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าใหม่ ผ้าเทียมใหม่ ผ้าเก่า ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าทิ้งตามตลาด อย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ (ปัจจุบันใช้จีวรสำเร็จรูป) เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพุทธานุญาตให้การทอดกฐินนั้นเป็นสังฆกรรม คือการงานของสงฆ์ให้ตั้งญัตติทุติยกรรม มอบให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้สมควรและสามารถในการนี้ ผู้รู้จักธรรม ๘ ประการ มีบุพพกรณ์เป็นต้น ผู้ดำเนินการกรานกฐิน ทำผ้าให้สำเร็จภายในวันนั้น ด้วยความร่วมมือของพระภิกษุทุกรูปในวัดนั้น ก่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองกันตามพระพุทธประสงค์

๑๙. ผ้าขัณฑ์ ผ้าไตร ๓ ผืน ไม่ว่าจะเป็นผืนใดผืนหนึ่ง (สบง จีวร หรือสังฆาฏิ) จะต้องเป็นผ้าขัณฑ์ (ขัณฑ์ = ตอน ท่อน ส่วน ชิ้น เช่น จีวรมีขัณฑ์ ๕ คือมีผ้า ๕ ชิ้น มาเย็บติดกันเป็นผ้าผืนเดียวกัน)

๒๐. ไตรจีวรสำเร็จรูป เจ้าภาพกฐินที่ซื้อไตรจีวรสำเร็จรูป ต้องตรวจสอบว่า ผ้าสังฆาฏิ จีวร สบง เป็นผ้ามีขัณฑ์ทั้ง ๓ ผืนหรือไม่ ถ้าไม่ครบต้องหาให้ครบ และตรวจสอบผ้าทั้ง ๓ ผืน ว่าต้องเป็นผ้าที่มีการตัดก่อนแล้วจึงเย็บ หากไม่ตัดผ้า แต่มีการพับผ้าแล้วเย็บ จะไม่เป็นกฐินไม่ได้อานิสงส์กฐิน

๒๑. วัดที่จะรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุในวัดเดียวกันครบ ๕ รูป (เป็นอย่างน้อย) จำพรรษาครบ ๓ เดือนโดยไม่ขาดพรรษา จึงจะกรานกฐิณได้ (ภิกษุที่ขาดพรรษาหรือเข้าปัจฉิมพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไม่ควรรับการกรานกฐิน) ถ้าพระภิกษุในอารามนั้นไม่ครบคณะสงฆ์ ๕ รูป ถ้ามีสามเณรอายุครบอุปสมบทได้ (๒๐ ปี) จำพรรษาในอารามนั้น อุปสมบททันในเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ ข้างขึ้น ๑-๒-๓-๔ รูป ก็ดี ให้พอครบคณะสงฆ์ ๕ รูป สามารถรับกฐินและได้อานิสงส์กฐิน

๒๒. เจ้าภาพที่ปรารถนาจะทอดกฐินหลายวัด โดยนัดพระภิกษุวัดนั้นๆ มาประชุมรับผ้ากฐิน ณ วัดใดวัดหนึ่งในวันเดียวกันนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะผิดพระวินัย เจ้าภาพต้องนำกฐินไปทอดเฉพาะวัดแต่ละวัดเท่านั้น (ในสมัยก่อน ถ้ามีผู้นำผ้าไปทอดหลายๆคน ท่านผู้ใดนำผ้าไตรกฐินเข้าเขตวัดก่อน ผ้าของท่านผู้นั้นจะเป็นผ้ากฐินทันที)

๒๓. กฐินตกค้าง ต้องไม่มีเจ้าภาพจองจริงๆ ไม่ใช่มาประกาศบอกข่าวล่วงหน้ากันเป็นเดือนๆอย่างนี้ไม่เรียกว่า กฐินตกค้าง เพราะกฐินตกค้างที่แท้จริงต้องใกล้วารกาลที่จะหมดกาลเวลาของ กฐินจริงๆ หมดเขตกฐิน (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒) วัดนั้นๆ ไม่มีผู้จองไปทอดกฐินจึงจะเป็นกฐินตกค้าง ไม่ใช่ประกาศแจ้งว่าเป็นกฐินตกค้างล่วงหน้ากันนานๆ และมีเป็นจำนวนมากวัดอย่างในปัจจุบัน

*เหตุที่ไม่มีผู้จองกฐิน เนื่องมากจากความเข้าใจผิดว่า การทอดกฐินจะต้องใช้เงินทองจำนวนมาก กฐิน กลายเป็นหมายถึง เงินทองต้องหาเงินให้วัดเป็นจำนวนมากๆจึงจะทำ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง เนื่องจากการปลูกฝังความเข้าใจผิดนี้ มีต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน ถ้าได้อ่านสิกขาในพระพุทธธรรมคำสอนแล้วจะรู้ว่า กฐิน หมายถึง ผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน (สบง จีวร สังฆาฏิ) ไม่ใช่หมายถึงเงินทอง ดังนั้น เมื่อเกิดความเข้าใจผิด ทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าไปทอดกฐิน เพราะไม่สามารถจะหาเงินทองจำนวนมากๆ มาถวายวัดได้ จะเห็นว่ามีวัดเป็นจำนวนมากที่ไม่มีผู้จองกฐิน ทำให้พระภิกษุขาดอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ
ถ้าพุทธศาสนิกชนได้รับความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องกฐิน วัดในประเทศไทย ๓๐,๐๐๐ กว่าวัด ถ้ามีพระภิกษุครบ ๕ รูป จำพรรษาครบ ๓ เดือนในแต่ละวัด ก็จะสามารถรับกฐินได้ เพราะกฐินคือผ้า ไม่ใช่เงินทอง ซึ่งทายก ทายิกา ของแต่ละวัดก็สามารถที่จะหาผ้ากฐินผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน มาทอดได้ โดยไม่ต้องใช้เงินทองจำนวนมาก จะทำให้เจ้าภาพและพระภิกษุได้รับอานิสงส์ของกฐิน ส่วนการทำบุญสังฆทานวิหารทานอื่นๆ สามารถทำได้ในโอกาสต่อไป

๒๔. เจ้าภาพกฐินต้องไม่จัดเลี้ยงสุราเมรัยน้ำเมาทั้งหลาย เจ้าภาพกฐินต้องไม่ฆ่าสัตว์ มาทำเป็นอาหารเลี้ยงกันในงานบุญ เจ้าภาพกฐินต้องไม่มีอารมณ์โกรธฉุนเฉียว ดุด่าว่ากล่าวบุคคลอื่น ถ้ามีเหตุการณ์ดังกล่าว กฐินจะกลายเป็น กฐินบูด กฐินเน่า กฐินเศร้าหมอง ไม่เป็นที่อนุโมทนาของเทพพรหมเทวาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนั้น เจ้าภาพกฐินต้องตั้งใจ น้อมใจ ให้กุศลจิตขึ้นมาทำงานอยู่เสมอ มีเจตนาทาน ที่พร้อมไปในกุศลทั้ง ๓ ประการ คือ
๑) บุพพเจตนา เจตนาก่อนการะทำเต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
๒) มุญจเจตนา (มุญจนเจตนา) เจตนาขณะกำลังกระทำ เต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
๓) อปรเจตนา (อปราปรเจตนา) เจตนาหลังกระทำแล้ว เต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
งานบุญกฐินของท่านเจ้าภาพจะเต็มไปด้วยมหากุศล เป็นที่อนุโมทนาของเทพพรหมเทวา และมนุษย์ทั้งหลาย

๒๕. โทษของการทอดกฐิน โดยละเมิดพระธรรมวินัย ทำให้เจ้าภาพกฐินไม่ได้รับอานิสงส์อันประเสริฐในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ สำหรับมวลหมู่มนุษย์ การทำกฐินผิดพระธรรมวินัย เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด เป็นอกุศลจิต นำไปเก็บที่ดวงจิต อุเปกขาสหคตัง สันตีรณจิตตัง อสังขาริกัง กามาวจร อกุสลวิปากจิตตัง (ซึ่งเป็นวิบากจิตที่เก็บผลจากการทำอกุศล (โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒) เมื่อจุติแล้วไปปฏิสนธิในอบายภูมิ สำหรับคฤหัสถ์ จุติแล้วปฏิสนธิจิต นำไปมหานรกขุม ๗ (มหาตาปนนรก) รับผลกรรมในนรกขุมนี้ยาวนานครึ่งอันตรกัปสำหรับพระภิกษุ การทอดกฐินผิดพระธรรมวินัย อย่างเบา ต้องอาบัติสังฆาทิเสส หรืออย่างหนัก ต้องอาบัติปาราชิก จุติแล้วปฏิสนธิจิตนำไป มหานรกขุม ๘ (อเวจีมหานรก) รับผลกรรมในนรกขุมนี้ยาวนาน หนึ่งอันตรกัป

๒๖. อสัทธรรมภิกษุ พระภิกษุในวัดใด ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า เจริญธรรมในสำนักของพระพุทธองค์ ไม่ได้สิกขาพระพุทธธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่กระทำตนเป็นเกจิอาจารย์ ปลุกเสก สักเลข สักยันต์ ลงอาคม ทำเครื่องลางของขลัง อยู่ยงคงกระพัน เป็นหมอดู โชคชะตาราศี เป็นหมอทำนายทายทัก เป็นหมอดูดวงต่างๆ แก้เวร แก้กรรม สะเดาะเคราะห์ สะเดาะโศก สะเดาะโรค สะเดาะภัยทั้งหลาย ทำเล่ห์เสน่ห์ยาแฝด เป็นร่างทรงต่างๆ ตั้งศาลบวงสรวง ภูติผีปีศาจ วิชาไสยศาสตร์ทั้งปวง ล้วนไม่ใช่พุทธสาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า สมควรที่จะลาสิกขาบท ออกไปจากความเป็นพระภิกษุ ไปอยู่เป็นคฤหัสถ์ ประกอบอาชีพตามความถนัดของตนต่อไป (เหมือน ภิกษุพม่าหากเข้าข่ายอสัทธรรม จะลาสิกขาบทไปเป็นฤษี ฯลฯ)

พุทธสาวก คือผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า เจริญธรรมในสำนักของพระพุทธองค์ สิกขาในพระพุทธธรรม คำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อให้ถึงกระแสนวโลกุตตรธรรมเจ้า ๙ ประการ (มัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑) พระภิกษุได้อุปสมบทด้วย "อุกาสะ วันทามิ ภันเต..." มาตั้งแต่สมัย พุทธกาล (จากคาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ น. ๒๘๖ - ๒๘๙) ความว่า : พระบรมศาสดาปรารภเรื่องพระราธะ ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารว่า ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ ราธพราหมณ์ เป็นคนตกยากอยู่ในกรุงสาวัตถี อาศัยเลี้ยงชีพอยู่ในสำนักภิกษุทั้งหลาย ช่วยดายหญ้า กวาดบริเวณและรับใช้ภิกษุ เป็นต้น ภิกษุทั้งหลายสงเคราะห์แล้ว แต่ไม่ปรารถนาจะให้บวช พระบรมศาสดาทอดข่ายพระญาณตรวจดูสัตว์โลก ทรงทราบว่า ราธพราหมณ์จักได้เป็นพระอรหันต์* (แสดงถึงบุพเพนิวาสานุสสติญาณ และจุตูปปาตญาณของพระพุทธเจ้า) จึงเสด็จไปสู่สำนักของพราหมณ์ ตรัสถามทราบความว่า ภิกษุเหล่านั้นสงเคราะห์เพียงอาหาร แต่ไม่อนุเคราะห์ให้บวช พระศาสดามีรับสั่งประชุมสงฆ์ ตรัสถามว่า


 

 
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระภิกษุเหล่านั้นว่า

พระบรมศาสดา : " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีใครที่ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้าง"
พระมหาสารีบุตรเถระ : " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาต
อยู่ในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์ผู้นี้เคยถวายภิกษาอันเป็น
ส่วนของตน แก่ข้าพระองค์ทัพพีหนึ่ง ข้าพระองค์ระลึก
ถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า"
พระบรมศาสดา : " ดูก่อนสารีบุตร การที่เธอจะเปลื้องพราหมณ์ผู้มีอุปการคุณนี้
ออกจากทุกข์ ไม่ควรหรือ"
พระมหาสารีบุตรเถระ : " ดีละ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักให้ราธะบวช"

พระมหาสารีบุตรเถระ จึงอุปสมบท ราธพราหมณ์ ด้วย "ญัตติจตุตถกรรม" เป็นภิกษุองค์แรก เมื่อบวชแล้ว พระราธะเป็นผู้ว่าง่ายปฏิบัติตามคำพระอุปัชฌาย์พร่ำสอนอยู่ ๒-๓ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พระบรมศาสดาตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
"ราธะผู้นี้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายของตถาคต ผู้มีปฏิภาณ"
ภิกษุทั้งหลายกล่าวสรรเสริญพระมหาสารีบุตรเถระว่า เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ระลึกถึงอุปการะสักว่าภิกษาทัพพีเดียว อนุเคราะห์ให้พราหมณ์ราธะผู้ตกยากได้บวช สรรเสริญพระราธะว่า แม้พระราธะก็เป็นผู้อดทนต่อโอวาท ย่อมได้ท่านผู้ควรแก่การให้โอวาทเช่นกัน
พระราธะกล่าวขออุปสมบทด้วย "อุกาสะ วันทามิ ภันเต..." ในที่นี้ภันเต หมายถึง พระมหาสารีบุตรเถระ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์การอุปสมบทแบบ "อุกาสะ วันทามิ ภันเต..." จึงมีเหตุมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และพระภิกษุในสมัยปัจจุบัน ได้กล่าวขอบรรพชาอุปสมบทต่อหน้าพระพุทธปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ และคณะสงฆ์ว่าจะขอทำพระนิพพานให้แจ้ง เป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่แท้จริงของพุทธสาวก ในองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า


เครื่องกฐินที่สำคัญ คือ อัฏฐบริขาร ๘
ได้แก่ : ไตรจีวร (สบง จีวร สังฆาฏิ) ประคดเอว บาตร มีดโกน เข็ม (รวมถึงกล่องเข็ม) ด้าย เครื่องกรองน้ำ (ธมกรก)


เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2555 | อ่าน 15127
เขียนโดย admin

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
หลักชาวพุทธ 12 ประการ
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไ
27/01/2559
เปิดอ่าน 18531
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9767
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11144
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15202
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12077
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11098
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 11031
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11595
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 12876
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12117
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th