เล่าเรื่อง MCU MODEL ชุมชน “ร่มธรรมนำสุข”

ชุมชน “ร่มธรรมนำสุข”ชุมชน “ร่มธรรมนำสุข” เป็นศูนย์พักพิงสำหรับ “ผู้มีความเดือดร้อน” จากมหาอุทกภัยจังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ผู้พักพิงในศูนย์แห่งนี้อยากให้เรียก เนื่องจากไม่ทำให้เขารู้สึกหดหู่มากเกินไป แต่เป็นการย้ำว่าพวกเขาเดือดร้อนในช่วงเวลานี้เท่านั้น พอภาวะน้ำท่วมหมดไปเขาก็จะได้กลับบ้าน บ้านที่ยังคงอยู่ในผืนแผ่นดินไทย จึงไม่อยากให้เรียกพวกเขาว่าเป็นผู้อพยพ คงจะเหมือนกับสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ที่สูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความรุนแรง ต่างก็ไม่อยากให้ใคร ๆ เรียกเขาว่า “สตรีหม้าย” แต่อยากให้ใช้ชื่อว่า “สตรีผู้สูญเสีย” มากกว่า
ชุมชนร่มธรรมนำสุข เป็นชุมชนที่นำเนินการร่วมกันระหว่าง มูลนิธิชัยพัฒนา โรงเรียนจิตรลดา และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทาง มจร.เปิดเป็นศูนย์ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม อยู่ที่ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีพระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมมจิตโต) อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)เป็นประธานคณะกรรมการในการให้ความสนับสนุนการดำเนินงาน

การทำงานต้องมีกลยุทธ์ r
พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมมจิตโต) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอย่างเป็น ทางการ ณ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ ห้องประชุม มวก.48 พรรษา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 โดยยกพุทธพจน์ว่า “จิตฺเตน นียตี โลโก โลกหมุนไปด้วยความคิด” ถ้าเราปรับความคิดให้ถูกต้อง เราจะหมุนโลกนี้ได้ เหมือนกับที่อาคีมิเดส(Archimedes) เจ้าของทฤษฏีคานงัด บอกว่าไม่มีอะไรที่เขางัดไม่ได้ ต่อให้ของหนักที่สุดก็งัดได้ตามทฤษฎีของเขา ถ้าเขามีที่ยืนอยู่นอกโลกตรงไหนก็ได้ เขาจะใช้คานงัดดีดโลกนี้กระเด็นออกไป นี่แหละที่ว่าโลกหมุนไปตามความคิด โลกหมุนไปในทางเดียวกันเพราะความคิด โลกชนกันพินาศวอดวายก็เพราะความคิด พระ พุทธศาสนาเรียกระบบความคิดว่าทิฐิ เมื่อปรับทิฐิความเห็นให้ถูกต้อง โลกก็หมุนไปถูกต้อง ถ้าเราสามารถปรับทิฐิของคนนับหมื่นนับแสนให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ มันจะเกิดพลังมหาศาล.......” และท่านได้สรุปจบด้วยบทกลอนเกี่ยวกับวิธีบริหารเชิงกลยุทธ์(Strategic Management) ที่ท่านแต่งไว้เป็นคติเตือนใจว่า

เดินหมากรุกแต่ละครั้งยังต้องคิด
หมากชีวิตเดิมพันนั้นใหญ่กว่า
แม้ประมาทพลาดพลั้งพังทันตา
คิดล่วงหน้าให้ตลอดจะปลอดภัย

ดังนั้น เมื่อเปิดเป็นศูนย์พักพิง จึงมีการรวมตัวกันเป็นคณะทำงานประชุมระดมสมองกันจนได้กลยุทธ์การดำเนินงาน มีการ “ผนึกกำลัง ร่วมใจ” ระหว่างคณะสงฆ์ อาจารย์จากภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มจร. แกนนำของผู้ได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนเครือข่ายสังคมอื่น ๆ อีกหลายหน่วยงาน และอาสาสมัครทั้งพระภิกษุและฆราวาสที่เข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมทำ ร่วมช่วยเหลือและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์พักพิง ทำให้เกิดรูปแบบการดำเนินงานที่เรียกว่า “มจร.โมเดล” ดังนี้

1. หลักคิดและวัตถุประสงค์ “ใช้หลักไตรสิกขา(ศีล สมาธิ ปัญญา) โดยดูแลทั้งสุขภาพกาย จิตใจ และปัญญา เพื่อให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนได้ผ่อนคลายใจ(calmness) ได้ใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อคลี่คลายปัญหาและช่วยเหลือผู้อื่น(collective self-efficacy) และมีความผูกพันกันในครอบครัวและเพื่อนร่วมทุกข์(connectedness) แม้ว่าภาวะวิกฤติจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เครือข่ายทางใจระหว่างผู้ได้รับความเดือดร้อนด้วยกันยังคงอยู่ เพื่อเป้าหมายหลักคือ ให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนมีความเข้มแข็ง มีความพร้อมทางจิตใจ ได้เติบโต(growth)และดำเนินชีวิตแบบพอเพียงและพึ่งพาตนเองได้ ” โดยวางแผนการดำเนินงานเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 ระยะตั้งตัว มีการกำหนดโครงสร้างและประชุมระดมสมองเพื่อออกแบบรูปแบบการบริหารจัดการ การดำเนินงาน ขั้นตอนที่ 2 ระยะวางระบบ และขั้นตอนที่ 3 ระยะฟื้นฟูและติดตามผล คือมีการวางแผนที่จะจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนออกจากศูนย์พักพิงและติดตามผล(เช่น หาอาสาสมัครติดตามผล)หลังจากออกไปดำเนินชีวิตตามปกติแล้ว แผนฟื้นฟูนี้ต้องเชื่อมโยงและสอดคล้องกับสภาพชุมชนจริงของสมาชิกในศูนย์ฯด้วย ทั้งนี้ หลักการปฏิบัติคือใช้วิธีการขอความร่วมมือ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำให้เห็นประโยชน์ มากกว่าการ “ห้าม” เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกกดดัน

2. กิจกรรมและกิจวัตรต่าง ๆ กำหนดขึ้นภายใต้องค์ความรู้ เรื่อง หลักพุทธจิตวิทยา ที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้ว เป็นงานวิจัยของพระปณต คุณวฑฺโฒที่ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นของ มจร. ประจำปี 2554 เรื่อง “กรรมและชีวิตหลังความตาย วิทยานิพนธ์ดีเด่น มจร. กรรมและชีวิตหลังความตายต่อความเศร้าโศก ของผู้เคยสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก” ซึ่งเป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ทำให้ได้ข้อค้นพบแนวทางในการเยียวยาผู้ประสบการสูญเสีย เพื่อนำไปสู่การบรรเทา ความทุกข์และการพัฒนาชีวิต ทั้งในด้านจิตใจและปัญญา

3.แบบการบริหารจัดการและการดำเนินงาน

3.1 กำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการและการดำเนินงาน โดยจัดตั้งคณะบริหาร มีที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะอำเภอ เลขานุการ ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายมหาดไทย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายวิชาการ เจ้าคณะตำบล พร้อมกำหนดบทบาทหน้าที่ มีการจัดทำแผนผังการบริหารจัดการและรายชื่ออย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรพื้นที่ของศูนย์พักพิงดังนี้ ชั้น 2 เป็นที่รับบริจาคสิ่งของ และศูนย์ปฏิบัติการสำหรับผู้บริหาร ชั้น 3 เป็นที่พักพิงของผู้ได้รับความเดือดร้อน ที่ปฏิบัติธรรมสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกอาชีพ นันทนาการ ชั้น 4 เป็นสถานพยาบาล มุมหนังสือเด็ก/กิจกรรมเด็ก/ฝึกอาชีพ เป็นที่ปฏิบัติธรรม เจริญสติภาวนา จัดสำนักงานและศูนย์พักพิงให้เป็นเสมือนบ้าน

3.2 กำหนดรูปแบบที่เลียนแบบระบบการปกครองในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนคุ้นเคย คือ แบ่งกลุ่มเป็น ตำบลและหมู่บ้าน มีทั้งหมด 5 ตำบล คือ 1) ตำบลมีสติ ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านศรัทธา หมู่บ้านวิริยะ หมู่บ้านสติ หมู่บ้านสมาธิ 2) ตำบลอดทนไว้ ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านไม่ท้อถอย หมู่บ้านเราต้องสู้ หมู่บ้านขยันหมั่นเพียร หมู่บ้านเรียนรู้พัฒนา 3) ตำบลรวมใจ ประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านพุทโธ หมู่บ้านธัมโม หมู่บ้านสังโฆ 4) ตำบลเพียงพอ ประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านวังหลัง หมู่บ้านชาววัง หมู่บ้านผาสุก 5) ตำบลสังคมเป็นสุข ประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านรวมพลัง หมู่บ้านกำลังใจ แต่ละหมู่บ้านให้สมาชิกคัดเลือก “กำนัน” และ “ผู้ใหญ่บ้าน” เป็นตัวแทนพร้อมทั้งมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ มีเจ้าคณะอำเภอเป็นที่ปรึกษา มีพระอาสา คณะจิตวิทยา เป็น “เจ้าคณะตำบล” เพื่อตรวจสอบความเป็นอยู่ ตรวจสอบรายชื่อ การย้ายเข้า-ออก รวมทั้งสถานการณ์ต่าง ๆ ประจำทุกวัน โดยมีพระอาสาหมุนเวียนเป็นเจ้าคณะตำบลเข้าเยี่ยมเยียนชาวบ้านทีละหมู่บ้าน เพื่อให้การปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยาแบบกลุ่ม เสริมกำลังใจ สำรวจปัญหา พัฒนาศักยภาพผู้ได้รับความเดือดร้อน ทำงานร่วมกับกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

3.3 การพัฒนาระบบ ได้แก่ การพัฒนาระบบฐานข้อมูล ซึ่งมีทั้งทะเบียนกลาง และทะเบียนตำบล เช่น สำรวจในด้านข้อมูลทั่วไป(เพศ อายุ ศาสนา ความเจ็บป่วยหรือประวัติทางการแพทย์ ที่อยู่) จำนวนครอบครัว จำนวนผู้เข้าศูนย์ จำนวนผู้ออกจากศูนย์(ย้ายออกถาวร กลับบ้านชั่วคราว) จำนวนผู้ไปโรงพยาบาล สำรวจความต้องการของสมาชิกในหมู่บ้าน การกำหนดข้อตกลงและระเบียบในการบริหารศูนย์ โดยเน้นเรื่อง ข้อมูลของผู้ได้รับความเดือดร้อน(การย้ายเข้า-ย้ายออก ความเจ็บป่วย การมีอาการทางจิต) การจัดประชุมคณะทำงานประจำวัน และเจ้าคณะตำบลพบลูกบ้าน การพัฒนาระบบการสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น ด้านอาหาร ด้านการรับบริจาค ด้านการแจกของบริจาค ด้านการประสานงาน(ไฟฟ้า ประปา เรือ รถ นายท่า แพทย์พยาบาล เครือข่ายเช่นมูลนิธิชัยพัฒนา) ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านกิจกรรม

3.4 การกำหนดกิจกรรม เพื่อพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญา
สัปดาห์แรก เยียวยาด้านกายภาพ(อาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่ สุขา แสงสว่าง อากาศ) ให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนรู้สึกปลอดภัย(safety) สัปดาห์ที่สอง เยียวยาด้านสังคม โดยจัดกลุ่มชุมชนเป็นหมู่บ้าน ตำบล มีผู้นำและทำกิจกรรมร่วมกัน สองสัปดาห์นี้เป็นการพัฒนาศีล สัปดาห์ที่3-4 เยียวยาด้านจิตใจคือ กิจกรรมศาสนพิธี การภาวนา กิจกรรมศิลปะ และการให้คำปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยาเบื้องต้นกิจกรรมเหล่านี้เปรียบเสมือนสมถะสมาธิ คือแค่หาสังคมใหม่มาแทน หากิจกรรมต่าง ๆ มาแทนแต่ยังไม่ทำให้จิตใจฟื้นฟูได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการพัฒนาสมาธิ ให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนมีใจสงบไม่ตื่นตระหนก(calmness) สัปดาห์ที่ 5และ 6 เน้นการพัฒนาสามด้านคือ พัฒนาจิตใจ ปัญญา โดยการให้คำปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยาเพื่อสำรวจปมปัญหา และจัดกิจกรรมภาวนาเชิงพุทธจิตวิทยา เพื่อช่วยถอนรากถอนโคนปัญหา ด้านการสังคมสงเคราะห์ ให้ความรู้ในการปรับตัวและแหล่งสนับสนุนต่าง ๆ ด้านการศึกษาและอาชีพ จัดการเรียนการสอน จัดชมรมอาชีพเสริมทั้งในศูนย์พักพิง และหลังจากกลับสู่ชุมชน ซึ่งเป็นการพัฒนาปัญญา และสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสามารถของตนเองและชุมชนในการเผชิญและแก้ไขปัญหา(collective self-efficacy) ภายใต้ความผูกพัน (connectedness) และมีความหวัง(hope)ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป
* การประเมินและติดตามผล ประเมินผลระยะสั้นด้วยกระดานความคิด แบบสอบถาม จัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนกลับสู่ชุมชน(กิจกรรมปัจฉิมนิเทศ) และประเมินผลระยะยาวด้วยการติดตามเยี่ยมบ้านหรือกิจกรรม Home Coming Day หลังน้ำลด ซึ่งเป็นสร้างให้เกิดเครือข่าย โยงใยความผูกพันและรวมพลังกันดำเนินชีวิตอย่างมีความหวัง(hope)

* กิจกรรมที่หน่วยงานหรืออาสาสมัครมีความประสงค์จะเข้ามาทำร่วมกับสมาชิกในศูนย์พักพิง“ชุมชนร่มธรรมนำสุข” จะผ่านการจัดลำดับจากคณะทำงาน เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมอื่น ๆ สอดคล้องกับความต้องการและมีขั้นตอนในการพัฒนาจิตใจ ปัญญาของผู้ได้รับความเดือดร้อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของสมาชิกในศูนย์พักพิง

กิจกรรมในอนาคต จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับเด็ก(ให้เรียนวันละ 6 ชั่วโมง รวมเวลาสวดมนต์ด้วย) เพื่อว่าเมื่อน้ำลด การใช้ชีวิตกลับเข้าสู่ปกติ เด็ก ๆ จะสามารถเรียนหนังสือได้ทันเพื่อน ๆ

3.5 ตัวอย่างกิจกรรมในช่วงปัจฉิมนิเทศ และการติดตามผล

· จัดกิจกรรมวางแผนฟื้นฟูที่อยู่ วัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้ร่วมกันคิดวางแผนและจัดลำดับการจัดการฟื้นฟูที่อยู่อาศัย และมีแนวทางในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านที่สามารถทำได้จริง วิธีการ 1) ให้สมาชิกในครอบครัวช่วยกันวาดภาพบ้านของตนเอง และคิดวางแผนว่าจะกลับไปซ่อมแซมปรับปรุงบ้านอย่างไร เช่น จะทำความสะอาดด้วยวิธีใด จะหาอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านได้จากที่ไหน งานแต่ละอย่างใช้เวลากี่วัน แล้วบอกเล่าให้ครอบครัวอื่น ๆ ฟัง พร้อมติดภาพไว้ที่บอร์ด 2) ให้แต่ละครอบครัวเดินดูภาพบ้านและอ่านวิธีฟื้นฟูบ้านของครอบครัวอื่น ๆ พร้อมกับเขียนข้อเสนอแนะว่าจะทำได้สำเร็จอย่างไร 3) ครอบครัวเจ้าของบ้านนำภาพและข้อเสนอแนะมาเล่าให้กลุ่มใหญ่ฟัง บอกว่าข้อใดที่ทำได้และให้เหตุผล ส่วนปัญหาที่แก้ไม่ตกหรือทำให้สำเร็จไม่ได้ ขอให้สมาชิกคนอื่น ๆ ช่วยกันคิดวิธีการว่าจะทำให้แต่ละครอบครัวฟื้นฟูบ้านได้สำเร็จอย่างไรที่สามารถทำได้จริง (เช่น วิธีการลงแขกแบบคนโบราณ ให้ข้อมูลเครือข่ายที่ให้ความช่วยเหลือได้ การจ้างสมาชิกในศูนย์ที่มีฝีมือ ฯลฯ)

· กิจกรรมสร้างขวัญกำลังใจก่อนออกไปสู้ชีวิต วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจก่อนออกไปใช้ชีวิตหลังสถานการณ์น้ำท่วม วิธีการ 1) ให้สมาชิกศูนย์พักพิงทุกคนได้ออกมากล่าวคำอำลาเพื่อน และบอกว่าได้อะไรจากการมาอยู่ร่วมกัน 2) ปาฐกถาพิเศษหรือเทศน์โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) 3) สมาชิกแต่ละคนเขียนพันธะสัญญาใจ “ความดีที่จะใช้ในการดำเนินชีวิต” แล้วใส่บาตรถวายพระสงฆ์ 4) คณะสงฆ์สวดพุทธมนต์ พรมน้ำมนต์ และผูกข้อมือ(จัดได้ทั้งในช่วงปัจฉิมนิเทศ และช่วงติดตามผลโดยเชิญชวนสมาชิกหรือศิษย์เก่ามาร่วมพิธีที่ มจร. หรือคณะสงฆ์อาสาไปสวดให้ที่บ้าน) 5) แจกประกาศนียบัตรให้แก่สมาชิก
· กิจกรรมรับขวัญ คืนสู่เหย้า วัตถุประสงค์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของเครือข่ายทางสังคม และสนับสนุนให้มีการติดต่อเพื่อเกื้อกูลช่วยเหลือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการขยายเครือข่ายให้กว้างขวาง วิธีการ 1) จัดทำทำเนียบเครือข่ายสมาชิกในศูนย์พักพิง “ชุมชนร่มธรรมนำสุข” และเผยแพร่ให้แก่สมาชิก หรือให้สมาชิกเขียน “บันทึกมิตรภาพ” (friendship)อย่างอิสระ 2) หาทุนเพื่อจัดพิธี “รับขวัญ คืนสู่เหย้า” หรือ Home Coming Day และประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกทราบ อาจเชิญสมาชิกใหม่จากศูนย์พักพิงอื่น ๆ มาร่วมด้วย อาจกำหนดจัดในวันสำคัญทางศาสนา หรืองานวันประเพณีต่าง ๆ 3) จัดพิธี “รับขวัญ คืนสู่เหย้า” เช่น การร่วมกันตักบาตร พระเทศน์ แจกหนังสือธรรมะ บวชสามเณร ผ้าป่าสามัคคี ภาวนา for love จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “ประสบการณ์ฟื้นฟูใจหลังภัยน้ำท่วม” หรือจัดกิจกรรมเชิงสังคมสงเคราะห์ เช่นมุมนายจ้างพบแรงงาน มุมฝึกอาชีพ มุมตรวจสุขภาพ จำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภคราคาถูก ฯลฯ

· กิจกรรมสรรค์สร้างสิ่งแทนใจ วัตถุประสงค์ เพื่อบอกถึงความในใจส่วนลึกอย่างเป็นรูปธรรมด้วยสัญลักษณ์ที่คิดประดิษฐ์ขึ้น เป็นการสื่อสารเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราตระหนักรู้ถึงคุณค่าของผู้อื่นและได้สร้างสิ่งดี ๆ เพื่อตนเอง วิธีการ 1) ให้สมาชิกแต่ละคนเลือกอุปกรณ์ที่จัดเตรียมไว้ให้ เช่น กระดาษสี หลอด สี กาว สก็อตเทป โบว์ วัสดุต่าง ๆ ที่สามารถหาได้ และให้แต่ละคนประดิษฐ์ของ 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งสำหรับส่วนรวมที่เป็นพระอาจารย์ เพื่อนร่วมศูนย์พักพิง หรืออาสาสมัครต่าง ๆ อีกชิ้นสำหรับตัวเองที่จะนำกลับบ้านและเก็บไว้เป็นที่ระลึก 2) เมื่อทุกคนประดิษฐ์ของเสร็จทั้งสองชิ้น ให้แต่ละคนออกมาบอกว่า ของชิ้นแรกคืออะไร มีความหมายอย่างไร นำของนั้นไปวางไว้บนโต๊ะที่จัดไว้ และของชิ้นที่สองคืออะไร มีความหมายอย่างไรพร้อมกับนำของชิ้นที่สองติดตัวกลับไป(ยกตัวอย่าง ใช้กระดาษพับเป็นรูปดอกบัว แล้วบอกว่าคือดอกไม้แทนใจเพื่อกราบขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้ความเมตตา ให้ความรู้ เปิดใจให้รู้รสพระธรรม ขอบคุณเพื่อนร่วมศูนย์ฯทุกคนที่ให้ความเป็นมิตรคอยช่วยเหลือ ส่วนของอีกชิ้นทำสำหรับตนเอง โดยพับเป็นรูปนก เปรียบเสมือนชีวิตที่ต้องโบยบินออกสู่โลกกว้าง ต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย แต่จะใช้คำสอนที่ได้จากอาจารย์เป็นเครื่องมือให้สามารถรอดพ้นจากปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ได้)

· กิจกรรมสร้างกลุ่มช่วยเหลือกันเอง(Self Help Group) วัตถุประสงค์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายความช่วยเหลือของกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง และให้เกิดช่องทางในการช่วยเหลือกันเอง วิธีการ 1) จัดทำทำเนียบเครือข่ายสมาชิกในศูนย์พักพิง “ชุมชนร่มธรรมนำสุข” และเผยแพร่ให้แก่สมาชิก 2) จัดพื้นที่ให้สมาชิกมาพบปะพูดคุยกันโดยมีพระอาสาเป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวก(facilitator) กำหนดพบกันเดือนละครั้ง หรือให้สมาชิกกำหนดระยะเวลากันเอง

4. ผลการดำเนินงานที่น่าสนใจ เช่น มีการสำรวจพบสาเหตุปัญหาของผู้ได้รับความเดือดร้อนที่มีผลต่อความเครียดในระดับสูง คือ พลัดพรากจากญาติ จำนวน 3 ราย บ้านพังหมด จำนวน 8 ราย ไร้ที่อยู่ 1 ราย ปัญหาครอบครัว 3 ราย ปัญหาการเงิน 32 ราย(สูญสิ้นเงินสะสมและสิ้นหนทางหาแหล่งกู้ยืม) ปัญหาตกงาน 8 ราย สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคำถามคัดกรอง 4 ข้อของกรมสุขภาพจิต คือ ควรชี้แจงผู้เก็บข้อมูลให้สังเกตสีหน้า แววตาของผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องความรู้สึกเครียด กังวล และชวนพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น ส่วนเรื่องการใช้สารเสพติดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะไม่สามารถหาผู้ที่เคยใช้สารเสพติดในศูนย์พักพิง “ชุมชนร่มธรรมนำสุข” ได้ เนื่องจากมีพระสงฆ์ดำเนินการ นอกจากนั้น จากการพูดคุยกับสมาชิกในศูนย์พักพิง พบว่า หลายท่านได้พบข้อคิดดี ๆ ในชีวิต เช่น การได้รับการปลูกฝังให้แบ่งปันสิ่งของกัน มีการเกื้อกูลกัน มีระเบียบในการรับสิ่งของบริจาค เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตแบบพอเพียง ได้เพื่อนมากขึ้น อะลุ้มอล่วยและยอมรับซึ่งกันและกัน ได้เรียนรู้คำสอนทางศาสนาที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้มีโอกาสทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา อย่างการตักบาตร ซึ่งเคยทำเมื่อครั้งอยู่บ้านทำให้รู้สึกดี

บทพิสูจน์หลักการใช้”ปัญญา”เพื่อรับมือปัญหาวิกฤติ

เมื่อครั้งที่เกิดน้ำเอ่อขึ้นสูงจนเกิดการคาดการณ์ว่าจะท่วมศูนย์พักพิง “ชุมชนร่มธรรมนำสุข” และต้องย้ายผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนไปยังศูนย์พักพิงแห่งใหม่ ช่วงนั้นไฟฟ้าดับ ไม่มีน้ำประปาใช้อยู่สองวัน สิ่งแรกที่คณะทำงานทำกันคือ ทำให้สมาชิกที่อยู่ในศูนย์พักพิงลดความตื่นตระหนก(calmness) สร้างความรู้สึกปลอดภัย(safety) โดยสื่อสารว่าสถานที่พักมีหลายชั้นและมีหลายตึก เราสามารถโยกย้ายไปอยู่ตึกที่ปลอดภัยได้ รับรองว่าทุกคนที่อยู่ที่นี่จะไม่อด ใช้ความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา ไฟฟ้าไม่มีก็ใช้เทียนจุด ชวนสวดมนต์ เล่านิทาน ขณะเดียวกันก็ประสานงานขอเครื่องปั่นไฟมาใช้ ข้อสำคัญต้องให้ผู้อยู่มีอาหารรับประทานทุกมื้อ เขาจะรู้สึกอุ่นใจและสามารถอดทนต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น มีการเข้าไปพูดคุยเพื่อคลายความตระหนก ให้กำลังใจกันและอยู่ร่วมกับพวกเขาตลอดเวลา มีการจัดเวรยามดูแลความปลอดภัย โดยคอยดูการเพิ่มของระดับน้ำ สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัญหาต่าง ๆ คลี่คลาย และทำให้ทุกคนสามารถอยู่ท่ามกลางสายน้ำที่ขึ้นสูงได้โดยไม่ต้องอพยพ
ที่ตัดสินใจแก้ปัญหาเช่นนี้เพราะวิเคราะห์แล้วว่า ถ้าต้องให้ทุกคนย้ายไปอยู่ศูนย์พักพิงแห่งใหม่ในขณะที่ยังไม่มีการเชื่อมประสานงานที่ดีพอ อาจทำให้สมาชิกในครอบครัวไม่ได้เดินทางไปพร้อมกัน เพราะต้องให้เด็ก คนชราและสตรีไปก่อน ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดซ้ำซ้อนขึ้นมาได้

คำคมก่อนจบ

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เคยยก พุทธศาสนสุภาษิตว่า “วายเมเถว ปุริโสยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา นิปฺผนฺนโสภิโน อตฺถา ขนฺตฺยา ภิยฺโย น วิชฺชติ” นั่นคือ “เกิดเป็นคนต้องพยายามต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เป้าหมายงดงามเมื่อทำสำเร็จไม่มีเหตุแห่งความสำเร็จใดจะยิ่งไปกว่าความอดทน”

พวกเราจะยกจิตใจให้พ้นจากความทุกข์ในยามเผชิญมหันภัยน้ำท่วม และหลังจากมหาอุทกภัยผ่านพ้นไปแล้วได้ ก็อยู่ที่ความอดทน สติ และปัญญานั่นเอง

ทีมศึกษาดูงาน ณ ศูนย์พักพิง “ชุมชนร่มธรรมนำสุข”สรุปและเรียบเรียงโดย

1. แพทย์หญิงอัมพร เบญพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต
2. นางสาวอมรากุล อินโอชานนท์ นักจิตวิทยาคลินิก สำนักพัฒนาสุขภาพจิต
3. นางเยาวนาฎ ผลิตนนท์เกียรติ นักจิตวิทยาคลินิก สำนักพัฒนาสุขภาพจิต
4. นางอรวรรณ ดวงจันทร์ นักสังคมสงเคราะห์ สำนักพัฒนาสุขภาพจิต
5. นางสาวพัชริน คุณค้ำชู นักวิชาการสาธารณสุข สำนักพัฒนาสุขภาพจิต
6. นายวุฒิชัย เสริมทรัพย์ นักวิชาการเผยแพร่ ศูนย์สื่อสารสังคม
 


เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2554 | อ่าน 4592
เขียนโดย admin

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
หลักชาวพุทธ 12 ประการ
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไ
27/01/2559
เปิดอ่าน 18528
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9761
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11139
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15200
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12077
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11095
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 11027
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11594
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 12874
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12110
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th