ธรรมกายแจงส.ว.ติงธุดงค์กลางเมือง

8,=yf

 

              3เม.ย.2555 พระสนิทวงศ์ พระลูกวัดพระธรรมกาย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการธุดงค์ธรรมชัยฯ ได้ชี้แจงกรณีการให้สัมภาษณ์ของนางตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ที่ปรากฏในเว็บไซต์ต่างๆ ดังนี้ 1. โครงการธุดงค์ธรรมชัย อัญเชิญรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) จัดขึ้นในโอกาสฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ธรรม เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้พุทธบริษัท 4 ปฏิบัติ “ทาน ศีล ภาวนา” และ “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

              2. โครงการธุดงค์ธรรมชัย เป็นโครงการต่อเนื่องจาก โครงการตักบาตรพระ 120,400 รูป ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ครบ 1 ล้านรูป ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนแห่งมาฆบูชา ที่ผ่านมา และเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นเดือนแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี คือ วันที่ 6 เมษายน จึงได้จัดกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบูรพมหากษัตริยาธิราชและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ระหว่างวันที่ 2-6 เมษายน พ.ศ. 2555
 
              3. การเดินธุดงค์ครั้งนี้ใช้ “เส้นทางอัญเชิญรูปหล่อทองคำ” ไปประดิษฐาน ณ “พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล” วัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่ได้จัดตักบาตรพระ 120,400 รูป ฉลองพุทธชยันตีไปแล้ว เป็นการปฏิบัติ “ทาน ศีล ภาวนา” ซึ่งกิจกรรมบุญกุศลเช่นนี้ สามารถจัดได้ทุกที่เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ทั้งกรุงเทพมหานครและประเทศไทย
 
              4. การถือธุดงควัตร ... “ธุดงค์” แปลว่า องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ 13 ข้อ ภิกษุจะถือปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งก็ได้เพื่อฝึกปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ตนเอง ในครั้งนี้ทางโครงการฯได้กำหนดให้พระธุดงค์ ถือธุดงค์ 2 ข้อ ได้แก่ ข้อที่ 5 คือ ฉันมื้อเดียว และข้อที่ 12 คือ อยู่ในที่พักที่เขาจัดให้โดยไม่เลือก ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้ปฏิบัติได้ทุกที่ ทั้งในเมือง ในบ้าน ในป่า ในวัด แต่ครั้งนี้ปฏิบัติในเส้นทางอัญเชิญฯดังได้กล่าวมาแล้ว
 
              5. ในการเดินธุดงค์ พระธุดงค์ธรรมชัย ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติธรรมที่มาจากทั่วประเทศ ขณะเดินพระธุดงค์ได้ทำสมาธิ สำรวม กาย วาจา ใจ ไปตลอดเส้นทางการเดิน และอธิษฐานจิตให้กรุงเทพฯ และประเทศไทยมีแต่ความสงบร่มเย็น นำความสิริมงคลแก่ประเทศ
 
              6. การเดินธุดงค์ครั้งนี้ เดินตามรอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะในสมัยพุทธกาล เกิดภัยพิบัติที่เมืองเวสาลี ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวเมืองจึงอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวก 500 รูป เสด็จมายังเมืองเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยระหว่างส่งเสด็จและรับเสด็จ ชาวเมืองได้โปรยดอกไม้หลากสี ตั้งฉัตร ธงทิว รับ-ส่งเสด็จ หลายสิบกิโลเมตร เพื่อถวายการต้อนรับ ในครั้งนี้ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นประสบมหาอุทกภัย และปีนี้เรากำลังประสบอัคคีภัยในหลายครั้งหลายหน ทั้งไฟไหม้ พลุระเบิด แก๊สระเบิด ฯลฯ พระธุดงค์ท่านเดินทำสมาธิไปเพื่อให้กรุงเทพฯและประเทศไทยสงบสุข และชวนชาวไทยมาโปรยกลีบกุหลาบและดอกไม้หลากสีถวายการต้อนรับพระ ฝึกความเคารพในพระรัตนตรัยและให้มีส่วนแห่งบุญกับพระธุดงค์ฯ เช่นเดียวกับสมัยพุทธกาล ซึ่งทุกวันมีชาวบ้านออกมาต้อนรับพระธุดงค์ฯเป็นจำนวนมาก
 
              7. ด้านการจราจร ทางโครงการฯ ขออภัยในความไม่สะดวก ที่อาจมีบางเส้นทางการจราจรติดขัด หรือชะลอตัวเป็นบางช่วง ทั้งนี้ ทางโครงการฯ ได้ประสานงานไปยัง กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประสานงานในเรื่องเส้นทางจราจรแล้ว รวมทั้งได้จัดแถลงข่าว เพื่อให้ท่านสื่อมวลชนได้ช่วยประชาสัมพันธ์ 2 ครั้ง คือ วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555 โดยคณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องประชุมรัฐสภา และในวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555 โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก กรุงเทพมหานคร และภาคประชาชน ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์การจัดงานและแนะนำการใช้เส้นทางเลี่ยงในวันที่ 2-6 เมษายน ดังกล่าวแล้ว
 
              8. โครงการธุดงค์ธรรมชัย ได้รับการสนับสนุนจาก คณะสงฆ์ทั้งแผ่นดิน, สำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงวัฒนธรรม, กรุงเทพมหานคร, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, สหพันธ์ร่วมใจไทยทั้งชาติ, ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดพระธรรมกายและมูลนิธิธรรมกาย และกว่า 40 องค์กรภาคี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพุทธบุชา ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ธรรม, ฟื้นฟูศีลธรรม, ฟื้นฟูจิตใจ สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน, ฟื้นฟูวัฒนธรรมอันดีงามให้สมกับที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก และส่งเสริมสถาบันครอบครัว ให้พ่อแม่ลูกได้มาร่วมทำบุญให้ร่วมกัน และสร้างความสามัคคีของชาวไทย ในการทำกิจกรรมงานบุญร่วมกัน
 
              ด้าน นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ผู้อำนวยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การเดินธุดงค์ของพระวัดธรรมกาย ไม่ได้ผิดหลักพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด หากการเดินธุดงค์เดินด้วยอาการสำรวม เดินอย่างมีสติ และได้มีการเผยแพร่หลักธรรม อย่างไรก็ตาม ตนเคยสอบถามกรณีการโรยดอกไม้ ซึ่งได้การชี้แจงว่า เป็นการยกย่องพระว่าเป็นผู้สูงส่ง ขณะเดียวกันการโรยดอกไม้ ยังช่วยกระจายรายได้ให้ชาวบ้าน

 

เปิดธุดงค์13ตามแบบพระพุทธเจ้า

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้เรียบเรียงไว้ดังนี้ ธุดงค์ 13 (องค์คุณเครื่องสลัดหรือกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมความมักน้อยและสันโดษเป็นต้น

              หมวดที่ 1 จีวรปฏิสังยุต (เกี่ยวกับจีวร )

              1. ปังสุกูลิกังคะ องค์แห่งผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

              2. เตจีวริกังคะ องค์แห่งผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร

              หมวดที่ 2 ปิณฑปาตปฏิสังยุต (เกี่ยวกับบิณฑบาต)

              3. ปิณฑปาติกังคะ องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

              4. สปทานจาริกังคะ องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร

              5. เอกาสนิกังคะ องค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก

              6. ปัตตปิณฑิกังคะ องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน 1 อย่างคือบาตร

              7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อได้ปลงใจกำหนดอาหารที่เป็นส่วนของตน ซึ่งเรียกว่าห้ามภัต ด้วยการลงมือฉัน เป็นต้นแล้ว ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายอีก แม้จะเป็นของประณีต

              หมวดที่ 3 เสนาสนปฏิสังยุต (เกี่ยวกับเสนาสนะ )

              8. อารัญญิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย 500 ชั่วธนู คือ 25 เส้น

              9. รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร

              10. อัพโภกาลิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร

              11. โสสานิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร

               12. ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้

              หมวดที่ 4 วิริยปฏิสังยุต (เกี่ยวกับความเพียร)

              13. เนสัชชิกังคะ องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง 3 อิริยาบถ

       ข้อควรทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุดงค์ 13

              ก. โดยย่อธุดงค์มี 8 ข้อ เท่านั้น คือ

              1) องค์หลัก 3 (สีสังคะ — principal practices) คือ สปทานจาริกังคะ (เท่ากับได้รักษาปิณฑปาติกังคะด้วย) เอกาสนิกังคะ (เท่ากับได้รักษาปัตตปิณฑิกังคะ และขลุปัจฉาภัตติกังคะด้วย) และอัพโภกาสิกังคะ (ทำให้รุกขมูลิกังคะ กับ ยถาสันติกังคะ หมดความจำเป็น)
 
              2) องค์เดี่ยวไม่คาบเกี่ยวข้ออื่น 5 (อสัมภินนังคะ — individual practices) คือ อารัญญิกังคะ ปังสุกุลิกังคะ เตจีวริกังคะ เนสัชชิกังคะ และโสสานิกังคะ

              ข. โดยนิสสัยคือที่อาศัย (dependence) มี 2 คือ ปัจจัยนิสิต 12 (อาศัยปัจจัย — dependent on requisites) กับ วิริยนิสิต 1 (อาศัยความเพียร — dependent on energy)

              ค. โดยบุคคลผู้ถือ

              1) ภิกษุ ถือได้ทั้ง 13 ข้อ

              2) ภิกษุณี ถือได้ 8 ข้อ (คือ ข้อ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 12, 13)

               3) สามเณร ถือได้ 12 ข้อ (คือ เว้นข้อ 2 เตจีวรกังคะ)

              4) สิกขมานาและสามเณรี ถือได้ 7 ข้อ (คือ ลดข้อ 2 ออกจากที่ภิกษุณีถือได้)

              5) อุบาสกอุบาสิกา ถือได้ 2 ข้อ (คือ ข้อ 5 และ 6)

              ง. โดยระดับการถือ แต่ละข้อถือได้ 3 ระดับ คือ

              1) อย่างอุกฤษฏ์ หรืออย่างเคร่ง เช่น ผู้ถืออยู่ป่า ต้องให้ได้อรุณในป่าตลอดไป

              2) อย่างมัธยม หรืออย่างกลาง เช่น ผู้ถืออยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะชายบ้านตลอดฤดูฝน 4 เดือน ที่เหลืออยู่ป่า

              3) อย่างอ่อน หรืออย่างเพลา เช่น ผู้ถืออยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะชายบ้านตลอดฤดูฝนและหนาวรวม 8 เดือน

              จ. ข้อ 9 และ 10 คือ รุกขมูลิกังคะ และอัพโภกาสิกังคะ ถือได้เฉพาะนอกพรรษา เพราะวินัยกำหนดให้ต้องถือเสนาสนะในพรรษา

              ฉ. ธุดงค์ไม่ใช่บทบัญญัติทางวินัย ขึ้นกับความสมัครใจ มีหลักทั่วไปในการถือว่า ถ้าถือแล้วช่วยให้กรรมฐานเจริญ หรือช่วยให้กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อม ควรถือ ถ้าถือแล้วทำให้กรรมฐานเสื่อม หรือทำให้กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญ ไม่ควรถือ ส่วนผู้ที่ถือหรือไม่ถือ ก็ไม่ทำให้กรรมฐานเจริญหรือเสื่อม เช่น เป็นพระอรหันต์แล้วอย่างพระมหากัสสปะ เป็นต้น หรือคนอื่นๆ ก็ตาม ควรถือได้ ฝ่ายแรกควรถือในเมื่อคิดจะอนุเคราะห์ชุมชนในภายหลัง ฝ่ายหลังเพื่อเป็นวาสนาต่อไป
 
              ช. ธุดงค์ที่มาในบาลีเดิม ไม่พบครบจำนวนในที่เดียว (ที่พบจำนวนมาก คือ ม.อุ. 14/186/138; M.III.40 มีข้อ 1-3-5-8-9-10-11-12-13; องฺ.ทสก. 24/181/245; A.V.219 มีข้อ 1-5-6-7-8-9-10-11-12-13; ขุ.ม. 29/918/584; Ndi188 มีข้อ 1-2-3-4-7-8-12-13) นอกจากคัมภีร์บริวาร (วินย. 8/982/330; 1192/475; Vin.V.131,198) ซึ่งมีหัวข้อครบถ้วน ส่วนคำอธิบายทั้งหมดพึงดูในคัมภีร์วิสุทธิมรรค


เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2555 | อ่าน 12839
เขียนโดย admin

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
หลักชาวพุทธ 12 ประการ
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไ
27/01/2559
เปิดอ่าน 18522
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9753
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11135
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15196
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12073
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11093
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 11025
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11589
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 12869
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12107
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th