A NEW EARTH โลกใหม่ ตื่นรู้สู่จุดหมายแห่งชีวิต โดย สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

 เมื่อก่อนดิฉันจะมีอาการที่เรียกว่า “จิตตก” บ่อยกว่าทุกวันนี้เยอะ “จิตตก”ที่ว่านี้ คือกังวลไปเสียทุกเรื่อง กลัวทำผิด กลัวสิ่งที่ตัวเองพูด ทำ หรือแม้แต่ “คิด”

จะผิดหรือไม่ถูกใจคนรอบข้าง กลัวคนโกรธ กลัวคนเกลียดขี้หน้า ทำอะไรจึงระมัดระวังไปหมด ทั้งๆที่ บางเรื่องก็สร้างความเหนื่อย ความเครียด แบบไม่เข้าท่า

หน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้ประกาศข่าว หรือสื่อสารมวลชน ที่สามารถชี้นำผู้ชมผู้ฟังได้นั้น เป็นหน้าที่พิเศษที่ต้องมีความระมัดระวังอย่างมากอยู่แล้วในการทำงาน แต่อะไรที่ “ตึง” หรือ “สุดโต่ง” เกินไปก็ไม่เป็นผลดี คนที่อยู่ในอาชีพเดียวกับดิฉันมากมายจะค่อนข้างเครียด มุ่งมั่นแข่งขันจนอาจเกินพอดี เรามักกลัวดูโง่ กลัวพูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง กลัวคนไม่ชอบ กลัวการอยู่แถวหลัง (แม้บางครั้งแถวหลังอาจสบายกว่าแถวหน้า) ถ้าเป็นผู้หญิงประเภท “ผู้ยิ้ง..ผู้หญิง” ก็ยิ่งจะจิตตกเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่องเพิ่มขึ้นอีก อย่างเช่นกลัวไม่สวย กลัวอ้วน กลัวแก่ กลัวถูกนินทา กลัวไม่ก้าวหน้า กลัวถูกเปรียบเทียบ …..ฯลฯ

“A New Earth” หรือชื่อภาษาไทยว่า “โลกใหม่” ให้บทเรียนเกี่ยวกับการ “ตื่นรู้” ที่ดิฉันปลื้มมากๆ หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Eckhart Tolle (เอกฮาร์ต โทลเล่) เจ้าของผลงานติดอันดับขายดีของนิวยอร์ก ไทมส์ซึ่งได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 30 ภาษาทั่วโลก เช่น “ The Power of Now” และ “Stillness Speak” เป็นต้น ดิฉันหาซื้อหนังสือเล่มนี้ตามคำแนะนำของโอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรผิวสีคนโปรด ซึ่งดิฉันต้องติดตามรายการของเธอทาง UBC ตลอด แทบไม่น่าเชื่อว่าบ้านเราก็มีด้วย เห็นปุ๊ปก็คว้ากลับบ้านอ่านจบภายใน 2 วันเลยค่ะ (เป็นหนังสือหนึ่งในไม่กี่เล่มที่ดิฉันอ่านเร็วมากเมื่อเทียบกับความหนา 300 กว่าหน้า) คุณมนตรี ภู่มี เขียนไว้ในคำนำผู้แปลว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เราแยกแยะความแตกต่างระหว่าง “คนที่เป็นเรา” กับ “คนที่เราเป็น” ได้

“คนที่เป็นเรา” แท้จริงคือตัว “อัตตา” ที่เข้ามาครอบงำตัวเรา จนเราไม่รู้จัก (หรือลืม) “คนที่เราเป็น” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีอารมณ์โกรธ (หรืออัตตา) เข้ามาครอบงำ จนทำให้ขาดสติสัมปชัญญะและลงมือกระทำสิ่งที่โดยปกติเราจะไม่มีวันทำเลย แต่พออารมณ์โกรธและสภาพภายในเราสงบลง (เป็นอิสระจากอัตตาชั่วขณะ) เราก็มานั่งเสียใจในสิ่งที่เพิ่งทำไป และไม่คิดเลยว่าเราจะทำอะไรลงไปได้ถึงขนาดนั้น นี่ก็เพราะเราไม่รู้จักตัวเรา ไม่รู้จักอัตตาที่ลอบเข้ามาเป็นตัวเรานั่นเองที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือ อัตตาที่ว่านี้อาจครอบงำเราทั้งชีวิต ให้เรายึดมั่นถือมั่นไปเสียทุกอย่างเพราะเราไม่รู้ว่ามัน “ไม่ใช่เรา”

ดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกถึงคำสอนในพระพุทธศาสนาขึ้นมาแทบจะทันที แต่ถ้อยคำสำนวน และการอธิบายเรื่องการตื่นรู้แบบฝรั่ง ก็ทำให้ได้ซึมซับอีกแง่มุมหนึ่งของพุทธปรัชญาแบบที่ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจ

ลองอ่านบางช่วงบางตอนที่ดิฉันคิดว่าช่วยแก้อาการ “จิตตก” เพราะ “อัตตา” ได้ดูสิคะ

บทบาท

“…………มนุษย์เราย่อมแตกต่างกันมากมาย สิ่งที่สำคัญจริงๆ ไม่ใช่ว่าอะไรคือหน้าที่ที่คุณต้องกระทำในโลกนี้ แต่อยู่ที่คุณยึดมั่นถือมั่นในหน้าที่ของคุณ จนถึงขนาดที่มันครอบงำคุณ และกลายเป็นบทบาทที่คุณต้องแสดงหรือไม่ เมื่อคุณแสดงบทบาทต่างๆ คุณก็ขาดความรู้ตัว เมื่อคุณจับได้ว่าคุณกำลังแสดงบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่ง การตระหนักดังกล่าวจะสร้างระยะห่างระหว่างคุณกับบทบาทนั้น นั่นคือจุดเริ่มต้นของความเป็นอิสระ….เมื่อคุณยึดมั่นถือมั่นกับบทบาทอย่างเต็มที่ คุณก็จะสำคัญผิดว่ารูปแบบพฤติกรรมนั้นๆ คือคนที่คุณเป็น และคุณก็จะเคร่งเครียดกับตัวเองอย่างหนัก คุณมอบหมายบทบาทแก่คนอื่นๆ ที่คล้อยตามบทบาทของคุณโดยอัตโนมัติ….การมีปฏิสัมพันธ์อันแท้จริงของมนุษย์จึงกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากคุณสูญเสียตนเองไปกับบทบาทเสียแล้ว………………………ยิ่งคนเรายึดมั่นถือมั่นในบทบาทเฉพาะตัวมากเพียงใด ความสัมพันธ์ต่างๆ ก็ยิ่งจอมปลอมมากขึ้นเท่านั้น…………….”

ความสุขที่เป็นบทบาทหรือความสุขที่แท้จริง

“…………ในหลายกรณี ความสุขก็คือบทบาทที่คนเราแสดง และเบื้องหลังรอยยิ้มที่ฉาบอยู่ภายนอกนั้นมีความทุกข์เหลือคณาแฝงอยู่ ความซึมเศร้าเก็บกด สุขภาพกายใจเสื่อมถอย แสดงออกจนเลยเถิดที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อความทุกข์ถูกปิดบังอยู่ใต้รอยยิ้มภายนอกและประกายฟันขาว เมื่อมีการปฏิเสธ (บางครั้งแม้กระทั่งกับตัวเอง) ว่าไม่ได้มีทุกข์หนักหนาอะไรเลย…………….ถ้ามีทุกข์ ต้องยอมรับความจริงว่ามีทุกข์ แต่อย่าพูดว่า “ฉันเป็นทุกข์” ความทุกข์ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคนที่คุฯเป็น ให้พูดว่า “มีความทุกข์ในตัวฉัน” แล้วก็ตรวจสอบมันดู ถ้าคุณพบตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์หนึ่งสถานการณ์ใด ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสถานการณ์หรือทำให้ตัวคุณหลุดพ้นจากสถานการณ์นั้น ถ้าทำอะไรไม่ได้ ก็เผชิญหน้ากับมันแล้วพูดว่า “เอาล่ะ ตอนนี้มันก็เป็นแบบนี้แหละ ฉันยอมรับได้ ไม่เช่นนั้นฉันก็จะทำให้ตัวเองเป็นทุกข์”…………..สาเหตุสำคัญของความทุกข์นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ใดๆเลย แต่คือความคิดของคุณที่เกี่ยวกับสถานการณ์นั้นๆ ต่างหาก…………เช็คสเปียร์ว่าไว้ว่า “ไม่มีสิ่งใดชั่วหรือดี มีแต่ความคิดที่ทำให้เป็นเช่นนั้น”……………อย่าแสวงหาความสุข ถ้าคุณแสวงหาคุณจะไม่พบมัน เพราะการแสวงหาเป็นสิ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความสุข แต่การเป็นอิสระจากความสุขสามารถเกิดขึ้นได้เดี๋ยวนี้ โดยเผชิญหน้ากับสิ่งที่เป็นอยู่……………”

เลิกแสดงบทบาท

“……….ผู้อยู่ในฐานะที่มีอำนาจในโลกนี้ส่วนใหญ่ เช่น นักการเมือง คนดังทางโทรทัศน์ นักธุรกิจ หรือผู้นำศาสนา ต่างก็ยึดมั่นถือมั่นในบทบาทของตนอย่างเต็มที่ เว้นก็แต่บุคคลสำคัญเพียงไม่กี่คนเท่านั้น อาจถือกันว่า พวกเขาคือบุคคลวีไอพี แต่เขาก็เป็นเพียงแค่ผู้เล่นเกมแห่งอัตตาโดยไม่รู้ตัว…………………….ในโลกแห่งคนดังที่ต่างกำลังแสดงบทบาทนั้น มีคนไม่กี่คนที่ไม่ยอมแสดงภาพที่จิตสร้างขึ้นออกมา (บางครั้งแม้แต่ในโทรทัศน์ สื่อ และโลกธุรกิจ) แต่ทำหน้าที่ออกมาจากส่วนลึกแห่งแก่นแท้ของเขา

…………ผู้ไม่พยายามแสดงตัวว่าเกินกว่าที่เขาเป็น แต่แค่เป็นตัวของเขาเองเหล่านี้ จึงมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ และมีแต่คนเหล่านี้เท่านั้นที่เป็นผู้สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในโลกนี้อย่างแท้จริง………พวกเขาคือผู้นำมาซึ่งจิตสำนึกใหม่ ไม่ว่าพวกเขาทำอะไรก็มีพลังเพราะเป็นไปในแนวทางที่มีจุดหมายเพื่อส่วนรวม…………

…………เมื่อคุณไม่ได้แสดงบทบาทใดๆ นั่นก็หมายถึงว่า ไม่ได้มีตัวตน(อัตตา)ในสิ่งที่คุณทำ ไม่มีจุดหมายทางอ้อม อันได้แก่ปกป้องและเสริมสร้างตัวตนของคุณ ผลก็คือการกระทำของคุณจะมีพลังยิ่งๆ ขึ้น คุณจะพุ่งความสนใจไปที่สถานการณ์นั้นๆ ได้เต็มที่ คุณกลายเป็นหนึ่งเดียวกับมัน คุณไม่พยายามทำตัวเป็นคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษ คุณจะมีพลังมากที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อคุณเป็นตัวคุณเองอย่างสมบูรณ์ แต่อย่าพยายามเป็นตัวคุณเอง นั่นเป็นบทบาทอีกบทบาทหนึ่ง สิ่งนี้เรียกกันว่า “ตัวฉันที่เป็นธรรมชาติ ที่เป็นไปเอง” ทันทีที่คุณพยายามเป็นนั่นเป็นนี่ คุณก็กำลังแสดงบทบาทอยู่ “แค่เป็นตัวคุณเอง” คือคำแนะนำที่ดี……………”

ปล่อยให้อัตตาลดลง

“………..หากมีคนบ่นว่าหรือวิจารณ์ตัวฉัน สำหรับอัตตาแล้วนี่คือการไปลดตัวตนลง มันจึงพยายามแก้ตัว แก้ต่าง หรือบ่นว่ากลับไปบ้าง ไม่ว่าคนอื่นจะถูกหรือผิดนั่นก็ไม่เกี่ยวกับอัตตา มันจะสนใจปกป้องตัวเองมากกว่าความจริง…………..

………..กลไกซ่อมแซมตัวอัตตาที่เกดขึ้นบ่อยที่สุดคือความโกรธ ซึ่งจะทำให้อัตตาพองฟูขึ้นมาชั่วคราวอย่างใหญ่โตมหาศาล….รุนแรงถึงขีดสุดก็คือการใช้กำลังรุนแรงและหลอกตัวเองในรูปเพ้อฝันใหญ่โต…………….

…………การฝึกด้านจิตวิญญาณที่ทรงพลังก็คือการปล่อยให้อัตตาลดลงเมื่อมันเกิดขึ้น (อย่างรู้ตัว) เช่น เมื่อมีคนวิจารณ์ บ่นว่า หรือด่าคุณ แทนที่จะตอบโต้ หรือปกป้องตัวเองในทันทีทันควัน จงอย่าทำอะไรเลย ปล่อยให้ภาพตัวตนที่ถูกลบหลู่ ยังคงลดน้อยลงอยู่อย่างนั้น แล้วตื่นตัวทั่วพร้อม เพื่อรู้สึกรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่ลึกๆ ภายในตัวคุณ สักครู่หนึ่งอาจรู้สึกอึดอัดเคร่งเครียดขึ้นมาบ้างราวกับคุณหงอลงไปมาก หลังจากนั้นคุณจะรู้สึกถึงความไพศาลที่อยู่ภายใน ซึ่งมีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างมหาศาล ตัวคุณไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดเลย จริงๆ แล้วคุณเพิ่มขยายขึ้นอีกด้วยซ้ำ และคุณจะตระหนักรู้ว่า…….หากคุณไม่ปกป้องหรือไม่พยายามเสริมสร้างรูปของตัวคุณเอง คุณก็จะก้าวพ้นออกมาจากการยึดมั่นถือมั่นในรูป ในภาพตัวตนทางจิตใจ…..และเปิดทางให้แก่นแท้ก้าวออกมา แล้วเมื่อนั้น พลังอันแท้จริง ซึ่งก็คือคนที่คุณเป็นก็จะส่องทะลุรูปที่ดูลดน้อยลงไป….

…………..ถ้าคุณพอใจกับการเป็นคนธรรมดาที่ไม่สลักสำคัญเป็นพิเศษ พอใจที่ไม่ใช่คนโดดเด่น คุณก็จะทำตัวกลมกลืนกับพลังแห่งจักรวาล…………….

 

ความลับแห่งความสุข

“…………มีคำอยู่ห้าคำที่สื่อถึงความลับของศิลปะแห่งการดำรงชีวิต อันเป็นความลับแห่งความสุขและความสำเร็จทุกๆ อย่าง นั่นก็คือ “เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต” การเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตคือการเป็นหนึ่งเดียวกับปัจจุบัน กับ เดี๋ยวนี้……………..การไม่ต่อต้าน ไม่ตัดสิน และไม่ยึดติด คือลักษณะสามประการของชีวิตที่มีอิสระและตื่นรู้อย่างแท้จริง………………..”

ที่ยกตัวอย่างมานี้แค่ส่วนน้อย แต่เชื่อว่าคงพอทำให้เห็นแนวคิดเรื่อง “การตื่นรู้” ของหนังสือเล่มนี้แล้วนะคะ ใครเป็นคอหนังสือแนวพัฒนาจิตวิญญาณแบบนี้ ก็ขอแนะนำให้อ่านดู ไม่เกี่ยวกับการนับถือศาสนาอะไรเป็นพิเศษ เพราะผู้เขียนเขาสังเคราะห์มาจากทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ ลัทธิเต๋า รวมไปถึงเซนเลยค่ะ ส่วนตัวดิฉันคิดว่านำมาใช้ได้จริงๆ และทำให้ใจเย็นลง เวลาเผชิญหน้ากับสถานการณ์อะไรที่ตึงเครียด หรืออัตตากำลังจะออกมาปกป้องตัวเอง ก็หยุดมันและหัวเราะกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น (ถึงจะตบะแตกบ้างก็เถอะ) ยอมรับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ดีขึ้น รับได้ทั้งคนชอบและไม่ชอบเรา ยอมรับความจริงว่าเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ไม่ได้เก่งไปเสียทุกอย่าง และยอมรับว่าอ้วนขึ้นนิด ริ้วรอยเห็นชัดขึ้นหน่อย แค่นี้ก็รู้สึกว่าตัวเบาขึ้นเยอะแล้วล่ะค่ะ

 

clip_image003clip_image004

หน้าตาใจดีแบบนี้ล่ะค่ะ Eckhart Tolle (เอกฮาร์ต โทลเล่) ผู้เขียนหนังสือ “A New Earth” และหนังสือแนวพัฒนาจิตวิญญาณอีกหลายเล่ม ที่มีแฟนๆ ตามอ่านและฟังบรรยายทั่วโลก เคยร่วมกับโอปราห์ วินฟรีย์จัดห้องเรียนออนไลน์สำหรับผู้สนใจเรื่อง “การตื่นรู้” ต่อเนื่องนับเดือน มีคนลงทะเบียนเรียนออนไลน์กับเขาจำนวนมาก เว็บไซต์ของเขาคือ www.EckhartTolle.com ค่ะ

 

 

ที่มา : http://www.saisawankhayanying.com/s-style/a-new-earth/


เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2554 | อ่าน 3611
เขียนโดย admin

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
หลักชาวพุทธ 12 ประการ
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไ
27/01/2559
เปิดอ่าน 18524
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9754
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11135
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15196
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12073
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11093
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 11025
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11590
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 12872
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12107
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th