หลักสูตรสำหรับผู้เรียนท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงของสังคม

บทนำ

    เทคโนโลยีในปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ข้อมูลความรู้  ที่มีอยู่อย่างมหาศาลในโลกนี้ สามารถเข้าถึงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น Enriquez, J. (2001)   กล่าวว่า พัฒนาการของเทคโนโลยี 3 อย่าง คือเทคโนโลยีตัวเลข (Digital Technology) เทคโนโลยีพันธุกรรม (Genomics) และนาโนเทคโนโลยี (Nano Technology) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน และจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทศวรรษอันใกล้นี้อย่างรุนแรง การแข่งขันในทุกๆ ด้าน เกิดจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมที่มีลักษณะของการรวมเอาพลังของเทคโนโลยีและสังคมการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน (Convergence) ทำให้เกิดเป็นสนามการแข่งขันในระดับโลก (Global Competition) ที่แบนราบ (Leveled) ด้วยการเข้าถึงกันด้วย เทคโนโลยี Web ซึ่งทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน (Collaboration) โดยปราศจากข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์หรือระยะทาง Stewart (2007) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ ที่ประเทศแถบเอเชียมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น โดยในตลาดการแข่งขันระดับโลก ต้องการผู้ที่มีความรู้ภาษาต่างประเทศและวัฒนธรรมในการผลิตสินค้าไปสู่ผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถทำให้ผู้คนทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา การดำเนินการทางธุรกิจ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือการค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ  มีลักษณะเป็นทีมงานที่ประกอบไปด้วยหลากหลายเชื้อชาติ การเผชิญหน้ากับภาวะความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน โรคติดต่อ การขาดแคลนน้ำและพลังงาน การก่อการร้าย  รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรที่อพยพย้ายถิ่นไปทั่วทุกมุมโลก 

   การเปลี่ยนแปลงของโลก ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดกับประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้มากมาย ดังเช่น เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ (2546) พบว่า ภาพอนาคตด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ภาคบริการขยายตัวในระดับสูง ภาคอุตสาหกรรมปรับสู่การใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงมากขึ้น เกิดการว่างงานในกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือจนถึงผู้บริหารระดับกลาง ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาพอนาคตด้านสังคม ได้แก่ เป็นสังคมเมืองและมีความเป็นสากลมากขึ้น สังคมที่การคอรัปชั่นกระทำได้ยากขึ้น สังคมที่ตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น สังคมที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สังคมที่มุ่งสู่การเรียนรู้มากขึ้น วัฒนธรรมใหม่มากับสื่อสนเทศ สื่อบันเทิง ครอบงำเอกลักษณ์คุณค่าไทย ภาพอนาคตด้านการเมือง กล่าวคือ การเมืองไทยอยู่ใต้อิทธิพลการจัดระเบียบโลกใหม่ด้านการค้า การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยสูงขึ้น การเมืองที่โปร่งใสมากขึ้น แต่นักการเมืองยังคงมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ นอกจากนี้วิกฤติสิ่งแวดล้อม เกิดภัยธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติขาดแคลนในระดับที่รุนแรงยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของโลกดังกล่าว แท้ที่จริงแล้วเป็นการขยายตัวอย่างรุนแรงของกระแสทุนนิยม ที่ใช้การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีเป็นฉากหน้าอันสวยงาม ซึ่งทำให้บ้านกลายเป็นที่รวมของสินค้าหลากหลายทั่วโลก แม้กระทั้งระบบการศึกษาก็ยังเป็นระบบบริโภคนิยมเสียเอง นั่นคือในกระบวนการเรียนการสอนครูจะเป็นผู้ให้ความรู้กับนักเรียน ในขณะที่นักเรียนทำหน้าที่เป็นผู้บริโภคจากครู และการเรียนการสอนไม่ได้ส่งเสริมให้นักเรียนได้คิด สร้าง หรือพัฒนาสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเลย สภาพดังกล่าว อดัม เคิล กล่าวไว้ในงานเขียนเรื่อง "การศึกษาเพื่อความเป็นไท" ว่า นักเรียนนักศึกษาจะไม่มีทางเลือก และไม่รู้เท่าทันระบบ ไม่สามารถวิจารณ์ ข้ออ่อนของระบบทุนนิยม ทุกคนจะถูกสอนให้เป็นทาสของระบบ มีแรงผลักดันชีวิตแบบลัทธิวัตถุนิยมแข่งขัน ชอบแสดงความเหนือกว่าแบบครอบงำ และเรียนรู้ทุกอย่าง และทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง โดยคิดเอารัดเอาเปรียบคนอื่นๆ เป็นสำคัญ สอดคล้องกับ นิธิ  เอียวศรีวงศ์  ซึ่งได้บรรยาย "ข้อเสนอการศึกษากับทางเลือกของชีวิต" เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2543 ว่า ระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรมบวกกับพาณิชยนิยม บริโภคนิยม และ รัฐรวมศูนย์ ทำให้คนเรามีทางเลือกในชีวิตน้อยลง นั่นคือ ทำให้เราตกอยู่ภายใต้กรอบแห่งการบริโภควัตถุ

 

รูปแบบการเรียนรู้ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงของสังคม

                    ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและสังคมไทยภายใต้ระบบทุนนิยมนั้น การจัดการศึกษาจำเป็นต้องวางแผนและดำเนินการเชิงรุก โดยการให้ความสำคัญกับการคาดการณ์ แนวโน้มอนาคตทางด้านการศึกษา เพื่อให้การจัดการศึกษาในประเทศให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลง รวมถึงใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดย  Frey (2007) กล่าวถึง การจัดการศึกษาในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • 1. เปลี่ยนจากการสอนเป็นการเรียนรู้ บทบาทของครูเปลี่ยนจากการสอนมาเป็นผู้แนะนำ
  • 2. การเพิ่มขึ้นของข้อมูลข่าวสารที่สามารถเข้าถึงได้อย่างมากมายมหาศาล
  • 3. การศึกษาแบบเปิดในลักษณะของ Courseware และแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น วิกิพิเดีย มูเดิล
  • 4. ความเหลื่อมล้ำระหว่าง ผู้มีความรู้กับผู้ไม่มีความรู้มากยิ่งขึ้น
  • 5. การเข้าถึงการศึกษา ห้องเรียนไม่จำเป็นในการศึกษาต่อไป บุคคลสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
  • 6. พลังขับเคลื่อนสู่การเรียนรู้ ตามทฤษฎีของมาสโลว์ ได้แก่ ระดับความต้องการทางกาย ทางสังคม ความรัก และการได้รับการยกย่องในสังคม
  • 7. การศึกษาเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น
  • 8. ผู้เรียนเปลี่ยนบทบาทจากผู้บริโภคเป็นผู้ผลิต

Friedman  (2006) ได้กล่าวถึงปัจจัย 4 ประการที่มีความสำคัญสำหรับการศึกษาในโลก      ยุคใหม่ ได้แก่

1.    ขีดความสามารถในการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ (Ability to learn how to learn) จนถึงการเรียนรู้ อย่างต่อเนื่อง และเรียนรู้ด้วยตัวเอง การแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำสิ่งเดิมๆ หรือการแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำสิ่งใหม่ๆ

2.    ความรักการเรียนรู้ และความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะทำสิ่งใด ถ้าเรามี    ความรักและกระตือรือร้นในสิ่งนั้นๆ จะเป็นข้อได้เปรียบอย่างมหาศาล และความกระตือรือร้นในการทำงาน ในความสำเร็จ ในการศึกษา หรือในงานอดิเรก ก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น

3.    ความรักต่อคนอื่น ต้องมีความสามารถในการจัดการ หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ มนุษย์สัมพันธ์ที่ดีเป็นทรัพย์สินสำคัญในโลกแห่งการทำงาน  

4.    การพัฒนาสมองซีกขวา (ความคิดสร้างสรรค์) ให้ทัดเทียมกับสมองซีกซ้าย

                   แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่า รูปแบบการจัดการศึกษาควรจะต้องปรับเปลี่ยนไปเป็น "การศึกษาทางเลือก"มากขึ้น

สำหรับประเทศไทย กฎหมายแม่บทการศึกษาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กล่าวถึงระบบการศึกษา ในหมวดที่ 3 ว่า มีสามรูปแบบคือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยทั่วไปเรามักจะนึกถึงการศึกษาในระบบ และผู้เรียนก็คือ เด็กและเยาวชนอยู่เสมอ  "การศึกษาทางเลือก"  ไม่ได้หมายความเฉพาะที่ปรากฏใน พระราชบัญญัติการศึกษาฯ เท่านั้น แต่มีความหมายกว้างถึง การศึกษาสำหรับคนทุกเพศทุกวัยที่ต้องการ "เรียนรู้"เรื่องต่างๆ ที่ตนสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนในระบบโรงเรียนเท่านั้น แต่มีทางเลือกอย่างหลากหลายใกล้ตัวเช่น องค์ความรู้จากพ่อแม่หรือบุคคลในครอบครัว บุคคล องค์กรในชุมชนฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ที่กำหนดนโยบาย เป้าหมายการจัดการศึกษาชาติต้องให้ความสำคัญคือ ควรจะบริหารจัดการศึกษาอย่างไรให้มีความสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ

รูปแบบการบริหารจัดการศึกษา ควรมีลักษณะเป็นแนวขวางมากขึ้น สถานศึกษาแต่ละแห่งมีความเป็นเฉพาะแห่ง (Individualize) สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น การบริหารจัดการไม่ใช่จากบนลงล่างต่อไป แต่จะเป็นไปในลักษณะที่ชุมชน ท้องถิ่น ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ กำกับ ดูแล ตรวจสอบ เพื่อให้การจัดการศึกษาในท้องถิ่นมีคุณภาพ

โลกการศึกษาที่ไร้พรมแดน เช่น เด็กไทย สามารถเรียนรู้จากสถาบันการศึกษาแห่งใดในโลกได้ตามที่ตนเองสนใจ ตามศักยภาพและความสามารถโดยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษามีมากขึ้น    จากความล้ำสมัยของเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั่วโลก สามารถรับนักศึกษาทั่วโลกได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเรียนยังสถานศึกษานั้น ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกหนทุกแห่งทั่วโลก  ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนในการจัดการศึกษา เช่น สิ่งก่อสร้าง บุคลากร และ        ลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาของคนทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการศึกษาจะทำให้ผู้เรียนไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของตนเอง

รูปแบบการจัดการศึกษา เป็นการเรียนรู้เฉพาะบุคคลมากขึ้น ตามความต้องการและความสนใจของผู้เรียน โดยใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ การจัดการศึกษาเน้นกระบวนการคิด ให้ผู้เรียนมีความคิดเชิงบวก คิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ในแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ และเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา จากเรื่องที่สนใจ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีอยู่มากมาย โดยผ่านสื่อต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน

ดังนั้น การศึกษาทางเลือกจึงเป็นการผสานกันอย่างสอดคล้องกลมกลืน ระหว่างความเป็นท้องถิ่นและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยการบริหารจัดการ การศึกษาในระบบและนอกระบบให้สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้สำหรับคนทุกเพศทุกวัยอย่างทั่วถึงและไม่จำกัด

 

การพัฒนาหลักสูตรท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงของสังคม

                    จากแนวโน้มรูปแบบของการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป อมรา  เล็กเริงสินธุ์  (มปป.) ได้สรุปลักษณะของหลักสูตรในระบบการศึกษา ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงของสังคม ตามองค์ประกอบ ดังนี้

   1.    วัตถุประสงค์ของหลักสูตรควรมุ่งสร้างนักแสวงหาความรู้ มากกว่ามุ่งสร้างผู้รู้ กล่าวคือสร้างคน ให้รู้จักแสวงหาความรู้ ใฝ่ใจในการเรียนรู้ด้วยตนเอง พัฒนาตนเองตลอดชีวิต รู้วิธีเรียน วิธีคิดวิเคราะห์ข้อมูลความรู้ และค่านิยมต่างๆ ที่เหมาะสมโดยเฉพาะค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรม และความดีงาม มีจิตสาธารณะ มีความรักชาติ และการใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง

   2.    สาระการเรียนรู้ หรือเนื้อหาวิชาที่เรียนจะต้องมีส่วนที่บังคับเรียนน้อยลง เนื้อหาเลือก   มีมากขึ้น ผู้เรียนควรจะมีโอกาสเลือกได้อย่างหลากหลาย เนื้อหาในหลักสูตรควรเน้นการเรียนรู้     เรื่องปัจจุบันและอนาคตมากยิ่งขึ้น ผู้เรียนต้องรู้จักคาดการณ์สภาพสังคมในอนาคตเพื่อการเผชิญกับสภาพสังคมในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ ประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อผู้เรียนคือการเรียนรู้เรื่องคุณค่าของชีวิต และการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า

                   3.    การจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือกิจกรรมการเรียนการสอน ต้องเน้นกระบวนการแก้ปัญหาโดยจัดสถานการณ์ที่เป็นปัญหา ให้ผู้เรียนมีโอกาสแก้ปัญหาอย่างหลากหลาย ครูมีบทบาทเป็นนักจัดการเรียนรู้มากกว่าเป็นนักสอน กระบวนการศึกษาจะมีลักษณะแบบองค์รวม (Holistic education) มุ่งพัฒนามนุษย์อย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกาย สติปัญญา และจิตวิญญาณ สถานที่สำหรับจัดการเรียนการสอน ไม่จำกัดอยู่แต่ภายในห้องเรียนเท่านั้น ผู้เรียนควรจะมีโอกาสสัมผัสชีวิตจริงภายนอกอาคารเรียน มีโอกาสฝึกฝนทักษะการทำงานตามสถานประกอบการภายนอก เช่น เรียนวิชาธุรกิจ    ตามห้างสรรพสินค้า หรือธนาคาร เรียนเรื่องคมนาคมตามสถานีขนส่ง เป็นต้น ช่วงเวลาของแต่ละวิชาไม่จำเป็นต้องเท่ากัน การจัดตารางเรียนต้องยืดหยุ่นคล่องตัวมากยิ่งขึ้น การจัดกลุ่มผู้เรียน อาจมีทั้งกลุ่มใหญ่ จำนวนเกิน 100 คนขึ้นไป หรือกลุ่มย่อยเพียง 10-15 คน และจะมีการเรียนเป็นรายบุคคล หรือผู้เรียนจะมีโอกาสเรียนด้วยตนเองอย่างมีอิสรเสรียิ่งขึ้น

                   4.    ด้านการวัดประเมินผล จะเน้นการวัดผลตนเองโดยให้ผู้เรียนมีส่วนสำคัญในการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ กำหนดกิจกรรมการเรียนและตัวบ่งชี้ ความสำเร็จในการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อให้เกิดแรงจูงใจภายในตนมากกว่าแรงจูงใจภายนอก และจะเน้นการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) มากขึ้น โดยประเมินทั้งกระบวนการเรียนรู้ และผลงาน

นอกจากองค์ประกอบทั้ง 4 ประการดังที่กล่าวมาแล้ว หลักสูตรท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงของสังคม จะต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียน ความเป็นสากลและสนองความต้องการของท้องถิ่น ให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกทักษะกระบวนการคิดเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหา รักการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมด้วยคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเรียนการสอน

 

บทสรุป

 การพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้เรียน ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน     สิ่งที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญคือ การศึกษาแนวโน้ม ทิศทาง การเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจสังคม การเมือง การศึกษา ในขณะเดียวกัน การสร้างทางเลือกทางการศึกษา เพื่อปลดปล่อยให้ผู้เรียนได้ "หลุดพ้น" จากระบบทุนนิยม ก็ต้องนำมาผสมผสานให้สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยการบริหารจัดการศึกษาทุกระดับที่มีประสิทธิภาพ  สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักอีกประการหนึ่งคือ คือหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นต้องมุ่งเน้นพัฒนาทักษะการคิด และทักษะชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต อาชีพ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อมและทรัพยากรชุมชน ตลอดถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย วิถีไทย  ให้ผู้เรียน  มีความรู้ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดำรงตนภายใต้ความพอเพียง และมีทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทยเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
http://www.gotoknow.org/posts/245960


เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2556 | อ่าน 9062
เขียนโดย admin

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
หลักชาวพุทธ 12 ประการ
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไ
27/01/2559
เปิดอ่าน 18531
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9767
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11145
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15203
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12077
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11099
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 11031
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11595
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 12878
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12122
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th