บทความพิเศษ : จิตอาสา พลังสร้างโลก บทเรียนรู้จากขบวนการพุทธฉือจี้ไต้หวัน ขบวนการที่เน้นหัวใจของความเป็นมนุษย์

 



ประติมากรรมหมู่ นำโดยท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ที่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ฉือจี้ ที่ฮั่วเหลียน

เรื่องและภาพ : อำพล จินดาวัฒนะ

“วิธีปฏิบัติของชาวฉือจี้เป็นวิธีดึงเอาความดีงามของมนุษย์มาทำให้มนุษย์ได้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขร่วมกัน ...ฉือจี้ทำงานมา ๔๐ ปี นอกจากช่วยเหลือสังคม ช่วยคนยากไร้แล้ว ผมคิดว่าฉือจี้ได้สร้างความรู้ เทคนิค หรือทักษะในการสร้างวาทกรรมที่หลากหลาย เพื่อนำมาใช้กระตุ้นพลังด้านดีที่แฝงอยู่ในตัวคน เรื่องนี้ยิ่งใหญ่มากในสายตาของผม และสังคมไทยควรเอาใจใส่”
ศ. นพ. ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส

“ถ้าไม่ทราบเรื่องราวของมูลนิธิพุทธฉือจี้อย่างชัดเจน ถ้าไม่ได้ไปดูไปรู้ไปเห็นมาด้วยตนเอง ก็คงไม่เชื่อว่ามีขบวนการทำความดีเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมขนาดใหญ่เช่นนี้ อยู่บนโลกใบนี้”
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
ประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม

“...เราเคยพบเห็นคนให้ทานหรือบริจาคข้าวของสงเคราะห์ผู้อื่นมาไม่น้อย แต่เราไม่ค่อยเคยเห็นผู้ให้เหล่านี้ น้อมตัวมอบสิ่งของให้แก่ผู้มาขอรับความช่วยเหลือด้วยความสุภาพถ่อมตน”
ศ. นพ. วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับคนทั่วไป ชื่อนามของ “ฉือจี้” อาจไม่ค่อยคุ้นหูกันนัก ผมเองทราบเรื่องราวของฉือจี้ครั้งแรกก็เมื่อปลายปี ๒๕๔๘ จากนั้นได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานมา ๒ รอบ ได้รู้ได้เห็นเรื่องราวของคนดีๆ ที่มารวมตัวกันทำความดีอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องมาเกือบครึ่งศตวรรษ จึงอดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าสู่เพื่อนคนไทยเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน

ไต้หวัน แผ่นดินแม่ของต้นไม้แห่งจิตวิญญาณ
ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับฉือจี้ เราน่าจะได้ไปรู้จักกับไต้หวัน--ดินแดนที่ต้นไม้แห่งจิตวิญญาณต้นนี้ได้หยั่งรากเติบใหญ่มา

ไต้หวันประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ ๗๘ เกาะ มีเกาะไต้หวันเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ ๓๕,๙๘๐ ตารางกิโลเมตร เล็กกว่าประเทศไทยประมาณ ๑๔ เท่า แต่มีประชากรราว ๑ ใน ๓ ของไทย พิจารณาจากจำนวนประชากรที่มีอยู่ (รวมถึงลักษณะภูมิประเทศที่ร้อยละ ๗๕ เป็นเทือกเขา) ก็ถือได้ว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น ทั้งยังมีปัญหาภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและไต้ฝุ่นที่รุนแรงเกิดขึ้นเสมอๆ

จีนไต้หวันเพิ่งมีประวัติศาสตร์ชาติที่ชัดเจนเมื่อราว ๕๐ ปีเศษมานี้ หลังจากพรรคก๊กมินตั๋งแพ้ภัยคอมมิวนิสต์จีน และอพยพคนจีนราว ๒ ล้านคนข้ามมาสมทบอยู่กับคนท้องถิ่นเดิมที่นั่น แต่ถึงแม้จะเป็นเพียงประเทศเล็กๆ มีประชากรหนาแน่น ประสบภัยธรรมชาติอยู่เนืองๆ ทั้งยังถูกคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่จ้องจะรวมจีนไต้หวันเข้าเป็นจีนเดียว ไต้หวันกลับใช้เวลาเพียงครึ่งศตวรรษถีบตัวก้าวกระโดดจากประเทศที่เต็มไปด้วยคนยากคนจนมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว กลายเป็นประเทศแถวหน้าในเอเชียถัดจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เชื่อกันว่าภาวะกดดันทั้งจากภัยธรรมชาติและการคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่นั้นเองที่ทำให้ชาวจีนไต้หวันต้องเพิ่มความขมีขมันขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ ถีบตัวสร้างชาติให้เจริญก้าวหน้าเพื่อเอาชนะภาวะคุกคามทั้งหลายอย่างไม่ย่อท้อ ส่งผลให้จีนไต้หวันพัฒนาประเทศได้อย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาอันสั้น

นอกเหนือจากที่กล่าวมา ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งของประเทศเล็กๆ นี้น่าจะอยู่ที่ต้นทุนทางวัฒนธรรม ไต้หวันนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีทุนทางวัฒนธรรมสูงมาก สะสมมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่สมัยที่อพยพมาและยังคงรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง ชาวไต้หวันยังมีความเชื่อถือในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังคงสืบทอดประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนาตามแบบดั้งเดิมของชาวจีนตลอดมา มีการจุดธูปบูชาเซ่นสรวงเทพเจ้า ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ตามธรรมเนียมจีนอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นภาพตรงข้ามกับความเจริญรุดหน้าของบ้านเมืองและความก้าวหน้าทางธุรกิจการค้าของไต้หวัน

ที่น่าสนใจคือ รัฐธรรมนูญไต้หวันให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกนับถือศาสนา ลัทธิ หรือความเชื่อได้อย่างอิสรเสรี ทำให้เกิดการพัฒนาการขององค์กรและขบวนการทางศาสนาอย่างไม่ขาดสาย มีการวิจัยพบว่าปัจจุบันมีศาสนานิกายต่างๆ และความเชื่อต่างๆ ในไต้หวันกว่า ๒๐๐ ความเชื่อ โดยสังคมไต้หวันยินยอมให้ศาสนาและความเชื่อต่างๆ เกิดและเติบโตได้อย่างเสรี ไม่มีการใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงหรือจัดการ ปล่อยให้ธรรมะจัดสรรและจัดการในรูปของประชาธิปไตยเชิงศาสนา องค์กรศาสนาที่เติบโตในไต้หวันเป็นไปอย่างฉันมิตร แม้ไม่ขึ้นแก่กัน มีความแตกต่างกัน แต่ก็สามารถร่วมงานกันได้ ไม่ทะเลาะเบาะแว้งหรือแตกแยก ทำให้เกิดมูลนิธิ สมาคม นิติบุคคลเชิงศาสนาเป็นจำนวนมาก ทั้งวัดพุทธ สำนักขงจื๊อ วัดเต๋า โบสถ์คริสต์ มัสยิด ฯลฯ ไม่มีองค์กรปกครองสูงสุด ไม่มีองค์กรใดเติบโตจนเป็นเจ้าถิ่นผูกขาดครอบงำ

ปัจจุบันชาวไต้หวัน ๙๓ % นับถือพุทธ (นิกายมหายาน) ขงจื๊อ และเต๋า ๔.๕ % นับถือคริสต์ ๒.๕ % นับถือศาสนาอื่น ดังนั้นศาสนาที่ยังคงเป็นหลักสำคัญก็คือ พุทธศาสนา มีองค์กรพุทธเป็นสิบแห่ง แต่ที่นับว่าเป็นสำนักใหญ่มีอยู่ ๔ สำนัก คือ ฉือจี้ ฝอกวงซาน ฝ่ากู่ซาน และจงไถซาน

องค์กรพุทธในไต้หวันเป็นพุทธมหายานที่เน้นอุดมการณ์พรหมวิหาร ๔ แบบพระโพธิสัตว์ คือมุ่งช่วยเหลือสรรพสัตว์เป็นเป้าหมายหลักของชีวิต ทำให้มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยกันคนละไม้ละมือ ไม่นิ่งดูดายหรือหาความสุขใส่ตนฝ่ายเดียว เอาใจใส่ดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้ธรรมชาติเสื่อมโทรมเร็วเกินไป นอกจากนี้ยังต่อต้านกระแสวัตถุนิยมในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เน้นตัวใครตัวมันอันมีส่วนทำให้สังคมเสื่อมทราม

ผู้นำองค์กรพุทธในไต้หวันส่วนใหญ่จึงโดดเด่นทั้งด้านการปฏิบัติตนและชักนำผู้คนประกอบกิจกรรมสาธารณประโยชน์ สร้างสรรค์สังคม ส่งเสริมจริยธรรม เช่น เรื่องความกตัญญูในครอบครัว เสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่สังคม เช่น การเคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญ ผู้นำองค์กรเหล่านี้ไม่ปฏิเสธความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตรงกันข้ามกลับพยายามนำช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่และช่องทางการตลาดเชิงคุณธรรมในรูปแบบต่างๆ มาใช้ เพื่อเผยแพร่ธรรมะและแนวคิดให้แพร่ขยายออกไป ไม่ปล่อยตัวเองให้ติดอยู่ในโลกแห่งอดีตที่หลุดแยกออกจากโลกปัจจุบัน

ต้นไม้แห่งคุณธรรมและจิตวิญญาณจึงเกิดและเติบโตมากมายในดินแดนไต้หวัน ซึ่งนับเป็นคุณแก่ชาวไต้หวัน สังคมไต้หวัน และสังคมโลกด้วย

ซึ่งหนึ่งในต้นไม้แห่งคุณธรรมและจิตวิญญาณนั้นก็คือ ฉือจี้

พิพิธภัณฑ์ฉือจี้ที่ฮั่วเหลียน

ฉือจี้ สำนักพุทธหมายเลขหนึ่งของไต้หวัน
ในบรรดาสำนักพุทธกว่า ๑๐ สำนัก ฉือจี้ถือได้ว่าเป็นสำนักที่ใหญ่และทรงพลังที่สุด มีมูลนิธิฉือจี้ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ เป็นองค์กรแกนกลางในการดำเนินงาน โดยภารกิจหลักขององค์กรมีด้วยกัน ๔ ภารกิจ คือ ๑. การทำกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ ๒. การจัดบริการรักษาพยาบาล ๓. การจัดการศึกษา ๔. การส่งเสริมวัฒนธรรม

มูลนิธิฉือจี้ดำเนินงานด้วยเงินบริจาคอย่างสม่ำเสมอจากสมาชิกราว ๑๐ ล้านคน มีระบบบริหารจัดการที่ดีมาก การเงินโปร่งใสมากจนเป็นที่เชื่อถือของคนทั่วไป จึงมีเงินมาใช้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมากมายไม่รู้จบสิ้น ประมาณการกันว่า เงินบริจาคที่มูลนิธิฯ ได้รับน่าจะมีมูลค่ารวมเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเหรียญ (๑ เหรียญไต้หวันเท่ากับ ๑.๒ บาท) เพราะฉือจี้ได้ขยายงานต่างๆ ออกไปมากมาย ซึ่งแต่ละงานจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษา การสร้างโรงพยาบาล การก่อตั้งธนาคารไขกระดูก การทำสถานีโทรทัศน์ ฯลฯ แต่เม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามูลนิธิฯ ยังไม่สำคัญเท่ากับทุนมนุษย์และทุนทางจิตวิญญาณของสมาชิกและอาสาสมัครฉือจี้ที่รวมกันเป็น “มหาเมตตา-มหากรุณา” มีความตั้งใจและพร้อมจะลงมือทำงานสารพัดอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้มีทุกข์ให้พ้นทุกข์ ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อันได้แก่ งานช่วยทำความสะอาดบ้านเรือน ชุมชน สถานที่สาธารณะ การคัดแยกขยะ การช่วยสงเคราะห์บุคคลและครอบครัวผู้ยากไร้ ไปจนถึงการช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติทั้งในและนอกประเทศ ทั้งยังมีอาสาสมัครฉือจี้ที่เป็น “มืออาชีพ” ในสายงานหลายแขนงเข้ามาร่วมบริหารงานด้านต่างๆ ของมูลนิธิฯ ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ฉือจี้และมูลนิธิฉือจี้เติบโตมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เราคงต้องย้อนกลับไปดูที่จุดเริ่มต้น

ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนผู้เป็นประมุขของชาวฉือจี้นั้น เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ที่ตำบลชิงสุ่ย เมืองไทจุง ซึ่งอยู่ตอนกลางของไต้หวัน พ่อแม่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของอา จึงนับถืออาเป็นเหมือนพ่อแม่ที่แท้จริง เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี แม่ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร ท่านอาจารย์ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้มารดาหายป่วย โดยขอลดอายุของตนเองลง ๑๒ ปี และจะกินมังสวิรัติเพื่อเป็นการสร้างกุศล

แต่เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี บิดาของท่านก็ล้มป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ท่านอาจารย์มีความสะเทือนใจมาก ในที่สุดก็ตัดสินใจปลงผมตนเองถือบวช เร่ร่อนไปทางแถบตะวันออกของไต้หวันซึ่งเป็นเขตทุรกันดาร ผู้คนยากจนมาก ท่านไม่ออกรับบิณฑบาตจากชาวบ้านเพราะไม่ต้องการให้ชาวบ้านเดือดร้อน ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยการเก็บถั่วลิสงและมันเทศที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวของชาวบ้านมาเป็นอาหาร จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้เดินทางมาพำนักที่เมืองฮั่วเหลียน และได้พบกับพระอาจารย์ยิ่นซุ่นซึ่งรับเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ โดยได้สั่งสอนหลักสั้นๆ ว่า “เมื่อบวชแล้ว จงทำทุกอย่างเพื่อพุทธศาสนาและมวลมนุษย์”

หลังจากนั้นท่านธรรมาจารย์และอุบาสกสวีซงหมินเพื่อนของท่านได้มาสร้างกระท่อมเล็กๆ หลังวัดผู่หมิงที่ฮั่วเหลียนเป็นที่พำนัก โดยมีศิษย์ไม่กี่คนติดตามมาด้วย ท่านอาจารย์และสานุศิษย์ทุกคนต้องทำงานอย่างหนัก ต่อสู้กับภัยธรรมชาติทุกรูปแบบ อยู่แบบอดมื้อกินมื้อ ตามกฎที่ท่านตั้งไว้ว่า “วันใดไม่ทำงาน วันนั้นจะไม่กิน” กล่าวคือ นอกจากจะปลูกผักไว้กินเองแล้ว ยังทำสินค้าออกจำหน่ายเพื่อหาเงินมาประทังชีวิตด้วย เช่น นำด้ายจากโรงงานที่เขาทิ้งแล้วมาถักเป็นเสื้อกันหนาว ถักรองเท้าเด็กขาย เย็บถุงสำหรับใส่อาหารสัตว์ เป็นต้น

ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านอาจารย์ประสบเหตุอันทำให้กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง เมื่อไปเยี่ยมอุบาสกผู้หนึ่งที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนที่ฟงหลิน ท่านอาจารย์ไปพบกองเลือดกองใหญ่นองอยู่บนพื้น สอบถามได้ความว่าเป็นกองเลือดของผู้หญิงชนบทแท้งลูก ญาติพามาโรงพยาบาลใช้เวลาเดินทาง ๗-๘ ชั่วโมง แต่ต้องพากลับไปรักษาที่อื่นเพราะไม่มีเงิน ๘,๐๐๐ เหรียญสำหรับจ่ายค่ามัดจำก่อนที่แพทย์จะลงมือผ่าตัดช่วยชีวิต

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านอาจารย์ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะต้องทำงานเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ขาดที่พึ่งพิง และในที่สุดก็เกิดความคิดที่จะรวบรวมชาวพุทธเข้าด้วยกันเพื่อร่วมกันสร้างกุศลกรรมโดยการช่วยเหลือผู้ยากไร้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยความเมตตากรุณาและไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งหากทำได้ ทุกคนก็จะเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทันที ไม่ต้องรอสวดมนต์อ้อนวอนภาวนาต่อเจ้าแม่กวนอิมเพื่อให้ได้เป็นพระโพธิสัตว์ ความทุกข์ยากในสังคมและในโลกก็จะบรรเทาเบาบางลงไปได้

จากนั้นท่านอาจารย์ก็ใช้หลัก “ลงมือทำทันที” เริ่มด้วยการชักชวนสานุศิษย์ที่เป็นแม่บ้านธรรมดา ๓๐ คนให้ออมเงินเพื่อการนี้คนละ ๕๐ เซ็นต์ต่อวัน เก็บไว้ในกระปุกไม้ไผ่ โดยมีคำขวัญว่า “แม้เงิน ๕๐ เซ็นต์ ก็ช่วยเหลือผู้ยากไร้ได้”

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาในความดีงาม ความเมตตากรุณาอย่างสูงส่ง รวมทั้งความมุ่งมั่นจากจิตใจของท่านอาจารย์และแม่บ้านสานุศิษย์เพียง ๓๐ คน การออมเงินวันละเล็กละน้อยเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้แพร่กระจายไปทั่วเมืองฮั่วเหลียน และมีผู้คนสมทบทุนมากขึ้นตามลำดับ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ มูลนิธิฉือจี้จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่นั่น ถึงวันนี้ เวลาผ่านไป ๔๐ ปี มูลนิธิฉือจี้ได้ขยายกิ่งก้านสาขามีสมาชิกทั่วโลกราว ๑๐ ล้านคน มีอาสาสมัครหลายแสนคน มีเงินบริจาคมาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเหรียญ มีกิจกรรมทางมนุษยธรรมและทางจิตวิญญาณแพร่กระจายไปทั่วเกาะไต้หวันและกระจายไปทั่วโลก ประเมินเป็นมูลค่าและคุณค่ามิได้

ส่วนสมณาราม (วัด) จิ้งซือ ที่พำนักของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองฮั่วเหลียนชายฝั่งตะวันออกของไต้หวันอันเป็นเขตกันดาร ก็ยังคงดำรงอยู่อย่างสมถะ แยกการบริหารจัดการออกจากมูลนิธิ ไม่รับบริจาค ไม่ใช้เงินของมูลนิธิ ไม่รับบิณฑบาต บริหารจัดการโดยยึดหลักการพึ่งพาตนเองทั้งหมด ภิกษุณี อาสาสมัคร และผู้มาฝึกฝนที่นั่น ต้องทำงานหารายได้เล็กๆ น้อยๆ มาใช้จ่ายในกิจการของสมณารามเอง เมื่อ ๔๐ ปีก่อนปฏิบัติอย่างไร ปัจจุบันก็ปฏิบัติอย่างนั้น ไม่มีแบบวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง ทั้งเจ้าอาวาสและลูกวัดไม่มีการสะสมพอกพูนทั้งทรัพย์สินและลาภยศแต่อย่างใด นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฉือจี้ยังคงเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของผู้คนอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย

ภาพของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน และสมณารามจิ้งซือ

เยือนสมณารามจิ้งซือ
เยี่ยมคารวะท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน

วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลาเกือบหกโมงเช้า ผมและคณะดูงาน ๔๐ กว่าชีวิตก็เดินทางมาถึงสมณารามจิ้งซือ ที่พำนักของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน สมณารามแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ที่ปลูกอย่างเป็นระเบียบ มองไปด้านหลังเห็นภูเขาสูงใหญ่ทะมึน แม้จะห่างไกลบ้านเรือนผู้คนพอสมควร แต่ก็มีถนนหนทางเข้าถึงสมณารามได้โดยสะดวกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ท่านธรรมาจารย์ ภิกษุณี (วัดนี้ไม่มีภิกษุ) อาสาสมัคร และผู้ฝึกฝน เพิ่งเสร็จจากการสวดมนต์เช้าที่เริ่มมาตั้งแต่ตีสี่เศษ ทุกคนกำลังแยกย้ายเข้าสู่ที่รับประทานอาหารเช้าอย่างขมีขมันแต่เงียบสงบ พวกเราในฐานะอาคันตุกะจากไต้กั๋ว (ประเทศไทย) ได้รับเชิญให้เข้าสู่โรงครัวของวัดที่จัดอาหารไว้พร้อมสรรพ เป็นน้ำใจสำหรับผู้มาเยือนแต่เช้าตรู่ อาหารมื้อเช้าประกอบด้วยข้าวสวยในหม้อไม้ กับข้าวเป็นมังสวิรัติประกอบด้วยผักชนิดต่างๆ ๓ จาน ถั่ว ๑ จาน สาหร่าย ๑ จาน ทุกจานปรุงอย่างเรียบง่าย รสชาติแตกต่างกันไป แต่จะมีรสเค็มเจืออยู่ในทุกจาน

นี่คืออาหารของชาววัดที่เน้นกินง่าย อยู่ง่าย เบียดเบียนผู้อื่นและเบียดเบียนโลกให้น้อยที่สุด แต่ทำงานหนักเสมอ ผักหญ้าที่ใช้ประกอบอาหารมาจากแปลงผักในบริเวณวัดนี้เอง ถ้าคนในวัดมีไม่เกิน ๕๐๐ คน ผักของวัดจะพอกิน แต่ถ้าเกินต้องซื้อจากที่อื่นมาสมทบ ผักเหล่านี้ภิกษุณีและอาสาสมัครฉือจี้จะช่วยกันปลูก เก็บ และนำมาประกอบอาหารเลี้ยงกันเองในวัด รวมทั้งเลี้ยงผู้มาเยือนซึ่งมีมาตลอดเวลา การทำงานทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม

ในระหว่างที่พวกเราและผู้คนในวัดกำลังรับประทานอาหารเช้า พอถึงเวลาหกโมงเช้าก็ได้ยินท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนบรรยายธรรมะถ่ายทอดสดไปออกทีวีต้าอ้ายทั่วไต้หวันและส่งสัญญาณไปอีกหลายสิบประเทศทั่วโลก เราฟังภาษาจีนไม่ออก แต่ก็พอจับน้ำเสียงของท่านอาจารย์ได้ว่า เปี่ยมไปด้วยความสงบเย็น

เมื่อรับประทานอาหารเช้า เข้าห้องน้ำห้องท่าเสร็จ คณะของเราก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีที่ท่านธรรมาจารย์จะออกมาพบปะพูดคุยกับอาสาสมัครฉือจี้ นับว่าเป็นทั้งบุญและทั้งโชคทีเดียว

ในห้องโถงใหญ่ที่ตกแต่งอย่างเรียบง่ายดูเป็นระเบียบและสะอาดตา จุคนได้ประมาณ ๒๐๐ คน มีภิกษุณีและอาสาสมัครนั่งรออยู่ก่อนแล้ว ในห้องนี้มีโทรทัศน์วงจรปิดขนาดใหญ่ ๖ เครื่อง และมีจอฉายภาพจากคอมพิวเตอร์อีก ๓ จอ โต๊ะที่นั่งของท่านธรรมาจารย์อยู่ตรงกลางประดับดอกไม้เล็กน้อยพอดูงามตา พวกเราได้รับเชิญให้เดินเข้าแถวไปนั่งต่อจากแถวของอาสาสมัคร

ก่อนที่ท่านธรรมาจารย์จะออกมา มีการฉายภาพกิจกรรมที่อาสาสมัครฉือจี้ไปช่วยเหลือดูแลหญิงชราที่ลูกหลานทอดทิ้งให้อยู่แต่ในห้องอับมืดในบ้านเป็นเวลานานถึง ๑๗ ปีด้วยเห็นว่าหญิงชรามีปัญหาทางจิต กว่าที่อาสาสมัครจะทำให้ลูกหลานของหญิงชรายอมรับและให้เข้าไปดูแล และกว่าที่หญิงชราจะไว้วางใจอาสาสมัคร เหล่าอาสาสมัครต้องใช้ความตั้งใจจริง ความเสียสละ และความอดทนอย่างสูง รวมทั้งใช้เวลาทำความคุ้นเคยอยู่นาน การนำภาพกิจกรรมเช่นนี้มาให้อาสาสมัครอื่นๆ ดู เป็นการตอกย้ำจิตวิญญาณของอาสาสมัครให้เกิดความภาคภูมิใจ มั่นใจ และมุ่งมั่น ในการมีจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

หลังจากร้องเพลงร่วมกัน ๑ เพลง เป็นเพลงที่เกี่ยวกับการอธิษฐานจิตของเหล่าอาสาสมัคร ท่านธรรมาจารย์ก็เดินออกมานั่งที่โต๊ะกลางห้อง เมื่อลูกศิษย์ทำความเคารพแล้ว ท่านอาจารย์ก็เริ่มทักทาย ทั้งยังถามด้วยว่า มีแขกมาจากเมืองไทยด้วยใช่ไหม จากนั้นท่านอาจารย์ก็พูดถึงการทำงานของอาสาสมัครที่ได้เห็นในวีดิทัศน์ และกล่าวว่า โลกทุกวันนี้มีภัยพิบัติมากขึ้น เพราะคนมีส่วนทำให้โลกเสียสมดุล ท่านเปรียบเทียบว่า เปลือกโลกเหมือนผิวหนังของคน ถ้ามันชำรุดเสียหายแล้วเราช่วยกันดูแลรักษา ผิวหนังก็จะงอกงามขึ้นมาทดแทนได้ จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันเยียวยาโลก ท่านอาจารย์พูดถึงจิตวิญญาณอาสาสมัครในทำนองว่า มนุษย์ต้องมีจิตใจเมตตากรุณาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มนุษย์มีศักยภาพที่จะช่วยเหลือผู้อื่นและช่วยโลกได้มาก

ท่านธรรมาจารย์พูดเองอยู่ราว ๒๐ นาทีเท่านั้น จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นการสนทนาทางไกลผ่านทางจอภาพ (teleconference) กับบุคลากรในองค์กรเครือข่าย โดยเฉพาะในโรงพยาบาลของฉือจี้ทุกแห่งและอาสาสมัครฉือจี้ที่อยู่ที่โรงพยาบาลต่างๆ ของฉือจี้และที่อื่นๆ สลับกับการให้อาสาสมัครและผู้เกี่ยวข้องบางคนเข้ามาพูดในห้องประชุม โดยทั้งหมดนี้มีการเตรียมคนเตรียมคิวและถ่ายทอดสดออกทีวีต้าอ้ายด้วย นับว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารเชื่อมโยงรู้กันทั่วถึงของเหล่าสมาชิกฉือจี้ที่มีพลังอย่างสูง

วันนั้นมีผู้ร่วมเล่าประสบการณ์ แสดงความรู้สึก ผ่านการสนทนาทางไกลรวม ๑๕ คน เราฟังไม่ออกแต่มีอาสาสมัครที่ดูแลคณะของเรามาแปลให้เราฟังภายหลัง ทำให้เห็นได้ชัดว่า การที่ท่านธรรมาจารย์ออกมาพบปะพูดคุยกับสมาชิกฉือจี้ทั้งที่อยู่ในที่นั้น (ส่วนน้อย) และที่อื่นๆ (ส่วนใหญ่) เข้าลักษณะของการจัดการความรู้ (knowledge management) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติได้ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ของตนสู่ผู้อื่น โดยท่านธรรมาจารย์ช่วยสรุปหรือเสริมความคิดให้อย่างสั้นๆ นับเป็นการดำเนินงานที่ทันสมัย ทำให้สมาชิกที่มีจำนวนเป็นแสนๆ คนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ได้เพิ่มพูนทั้งมิติความรู้ความเข้าใจ มิติทางเทคนิค และเสริมสร้างมิติทางจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำการตลาดเชิงสังคม (social marketing) ไปพร้อมกันด้วย

ในการพบปะครั้งนี้ มีแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของฉือจี้ (มูลนิธิฉือจี้มีโรงพยาบาลอยู่ในไต้หวัน ๕ แห่ง) เล่าผ่านการสนทนาทางไกลว่า มีอยู่วันหนึ่งเป็นวันหยุด ท่านพบว่าทีมวิศวกรของโรงพยาบาลกลับมาทำงานทั้งทีม จึงถามว่าทำไมไม่หยุดงาน วิศวกรตอบว่าพวกเขาฟังข่าวพยากรณ์อากาศแล้วทราบว่าไต้ฝุ่นจะเข้าไต้หวันแน่นอน จึงรีบกลับมาประจำการเพราะโรงพยาบาลขาดไฟฟ้าไม่ได้ ถ้าไต้ฝุ่นเข้าอาจมีปัญหา พวกเขาจึงต้องกลับมาเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ส่วนการหยุดพักผ่อน หยุดวันหลังก็ได้ นี่เป็นการนำความดีของผู้อื่นมาเล่าให้ผู้อื่นฟังนั่นเอง นายแพทย์ท่านนี้พูดตอนท้ายว่ากำลังจะเปิดคลินิกเด็กแห่งใหม่ ขอให้ท่านธรรมาจารย์ให้กำลังใจแก่พวกเขาด้วย ท่านธรรมาจารย์บอกว่า อาจารย์ให้กำลังใจแก่หมอได้ แต่กำลังใจของอาจารย์ยังไม่สำคัญเท่ากับความมุ่งมั่นในการทำงานของหมอทุกคนที่มีอยู่แล้ว นับว่าเป็นการตอบสั้นๆ ที่มีจิตวิทยาสูงมาก

ส่วนนายแพทย์อีกท่านหนึ่งเล่าว่า มีนักเรียนแพทย์ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ของฉือจี้ เลือกไปเป็นแพทย์ที่ประเทศกำลังพัฒนาแห่งหนึ่งในอเมริกากลาง (ตามระบบของไต้หวัน ผู้ชายทุกคนต้องไปเป็นทหาร แต่ปัจจุบันมีการอนุโลมให้คนที่จบมหาวิทยาลัยสามารถเลือกไปทำงานบริการสังคมแทนได้) ไปเปิดคลินิกรักษาโรคเบาหวานโดยขอรับเงินบริจาคเพื่อทำกิจกรรมนี้ และได้ผลดีมาก ตอนนี้ครบกำหนดทำงานแล้ว จะกลับไต้หวันก็ได้ แต่เขาสมัครใจขออยู่ต่อเพราะรู้สึกว่ายังมีงานให้ทำเพื่อคนเจ็บป่วยได้อีกมาก ท่านธรรมาจารย์กล่าวสรุปท้ายอย่างแหลมคมว่า นี่คือชีวิตแพทย์หนึ่งชีวิตที่สามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้เป็นพันเป็นหมื่น โลกใบนี้ต้องการคนแบบหมอคนนี้

พยาบาลอีกคนหนึ่งเล่าผ่านการสนทนาทางไกลว่า เธอเป็นพยาบาลอายุน้อย จบมาไม่นาน ทำงานอยู่ในห้องคลอด แม้ว่าเรียนพยาบาลมาโดยตรง แต่เวลาแนะนำบรรดาคุณแม่ที่มาคลอดบุตรเกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงดูลูก การให้นมลูก ผู้หญิงเหล่านั้นไม่ค่อยเชื่อถือเธอเพราะเห็นว่าอายุน้อยและยังไม่ได้แต่งงาน ขณะที่คุณป้าคุณน้าคุณอาอาสาสมัครฉือจี้ที่ไปช่วยให้คำแนะนำกลับทำงานได้ผลดีกว่า บรรดาคุณแม่มือใหม่มักจะเชื่อถือและปฏิบัติตาม การเล่าเรื่องอย่างนี้เป็นการยกย่องคุณค่าของอาสาสมัคร สร้างความภาคภูมิใจอย่างใหญ่หลวงให้แก่คนทำงาน

การพบปะพูดคุยในลักษณะเช่นนี้มีขึ้นทุกวันที่ท่านธรรมาจารย์อยู่ที่สมณาราม กิจกรรมดังกล่าวนับเป็นการผสมผสานศาสตร์และศิลป์หลายอย่างเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและเข้าขั้นมืออาชีพ ได้แก่ ๑. มุ่งเน้นความศรัทธาในการทำความดี ๒. ยกย่องให้เกียรติในคุณค่าของทุกคนอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะและอย่างเปิดเผย เพื่อเสริมสร้างพลังใจแก่สมาชิกและผู้คนทั่วไปในการทำความดีเพื่อเพื่อนมนุษย์ ๓. เชื่อมเรื่องศาสนธรรมเข้ากับการทำงานในโลกแห่งความจริงในปัจจุบัน ไม่ปล่อยให้เรื่องศาสนาธรรมเป็นเพียงแค่คำสอนในอดีตกาล ๔. เป็นการจัดการความรู้โดยให้ความสำคัญกับการดึงความรู้และประสบการณ์ในตัวคนออกมาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ๕. รับเอาวิทยาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการสื่อสารเชื่อมโยงเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และ ๖. ใช้เทคนิคการตลาดเชิงสังคมในทางบวก ซึ่งนับเป็นการจัดการด้านศาสนาที่ชาญฉลาดมาก

หลังจบการประชุมซึ่งใช้เวลารวมทั้งสิ้นเกือบ ๒ ชั่วโมง ท่านธรรมาจารย์ได้ให้ความเมตตาแก่คณะผู้มาเยือนชาวไทยโดยมอบอั่งเปารูปพระโพธิสัตว์และอั่งเปาเหรียญสัญลักษณ์ฉือจี้ให้แก่พวกเราทุกคนอีกด้วย จากนั้นภิกษุณีอีกรูปหนึ่งก็พาคณะเราชมกิจกรรมในสมณาราม อันได้แก่ แปลงผักที่ชาววัดช่วยกันปลูกไว้ทำอาหารกินกันเอง ห้องทำงานที่มีอาสาสมัครมาช่วยกันผลิตสินค้าออกจำหน่ายหารายได้มาใช้จ่ายในวัด เช่น เทียน ของที่ระลึกต่างๆ เท่าที่เห็น ในทุกมุมของวัดมีอาสาสมัครมาช่วยทำงานในหน้าที่ต่างๆ อย่างเป็นระบบ เช่น ทำความสะอาด เป็นยาม ทำอาหาร ดูแลห้องน้ำ ให้คำแนะนำแก่ผู้มาเยือน แยกขยะ ฯลฯ

สุดท้าย เราได้ไปแวะชมห้องเก็บไม้ที่ตัดเป็นท่อนขนาดแตกต่างกัน ซึ่งจัดวางไว้เป็นกองอย่างเป็นหมวดหมู่ ภิกษุณีผู้นำชมบอกว่า ท่านธรรมาจารย์สอนว่า “คนเราก็เหมือนไม้เหล่านี้ ไม้ทุกชนิดมีคุณประโยชน์ทั้งนั้น แต่อาจแตกต่างกัน เราแยกหมวดหมู่ไว้ให้เป็นระเบียบทำให้ดูสวยงามและสามารถนำมาใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับประโยชน์ที่แตกต่างกัน คนก็เช่นเดียวกัน ทุกคนมีคุณค่ามีประโยชน์แตกต่างกัน ไม่มีใครเลยที่ไร้ประโยชน์”

กองไม้ฟืนที่จัดไว้อย่างเป็นระเบียบในสมณาราม นอกจากไว้ใช้ประโยชน์แล้ว ยังเอาไว้สอนธรรมะไปในตัวด้วย

มูลนิธิฉือจี้ ขุมพลังจิตอาสาอันยิ่งใหญ่
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า มูลนิธิฉือจี้เติบใหญ่ด้วยพลังศรัทธา มีทุนทรัพย์หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล ทว่านั่นไม่สำคัญเท่าพลังจิตอาสาอันยิ่งใหญ่จากสมาชิกและอาสาสมัครที่ทำให้การงานด้านต่างๆ ของมูลนิธิสำเร็จลุล่วงไปได้

การดำเนินงานของมูลนิธิฯ อาศัยอาสาสมัครฉือจี้ (แต่งกายด้วยเสื้อน้ำเงิน กางเกงขาว หรือบางกรณีก็เป็นชุดสีน้ำเงิน ฝรั่งขนานนามว่า “Blue angel”) ที่มีการคัดเลือกและพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง บนความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีความเมตตากรุณา เป็นพระโพธิสัตว์ได้ มีศักยภาพในการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยหัวใจและความรัก อย่างที่เพลง “รักทั่วฟ้าดิน” ของชาวฉือจี้กล่าวไว้ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า

ทั่วฟ้าดินนี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่รัก
ทั่วฟ้าดินนี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่เชื่อใจ
ทั่วฟ้าดินนี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่ให้อภัย
ในใจกังวล เศร้าหมอง เสียใจ โยนทิ้งไป

การหลอมรวมจิตอาสาของอาสาสมัครฉือจี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ผู้ซึ่งปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่งดงามให้สานุศิษย์ได้เห็นอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็มีระบบสื่อสารเชื่อมโยงถึงสมาชิกและอาสาสมัครเพื่อเสริมสร้างกำลังใจ ความมุ่งมั่น และจิตวิญญาณเสียสละอย่างสม่ำเสมอ ผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออื่นๆ รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็น “ขบวนการฉือจี้” ที่มีพลังความดีงามและความสร้างสรรค์อย่างสูง

ถ้าใครมีโอกาสได้พบปะกับอาสาสมัครฉือจี้จะประจักษ์ได้ว่า อาสาสมัครฉือจี้มีลักษณะร่วมที่สำคัญคือ มีจิตใจดี สุภาพอ่อนน้อม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ให้เกียรติคนอื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นสุขเสมอเมื่อได้บริการใครๆ อาสาสมัครฉือจี้ที่ไปทำงานอาสาไม่ว่าที่ไหน ล้วนมีบุคลิกไม่แตกต่างจากนี้ ด้วยว่าเขาสอนให้รักเพื่อนมนุษย์ทุกคนโดยไม่แยกรวยแยกจน ไม่แยกฐานะ เชื้อชาติ ฝึกให้ทุกคนมีจิตใหญ่ (มหจิต) ที่จะรักเพื่อนมนุษย์เหมือนกับว่าทุกคนบนโลกนี้เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ในหมู่ชาวฉือจี้เองก็ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร ชาวนา ครู นายจ้าง ลูกจ้าง หมอ พยาบาล ฯลฯ ทุกคนต่างเป็นชาวฉือจี้เหมือนกันหมด

แนวพุทธของฉือจี้มองว่า คนทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี มีธาตุของความรักความเมตตาอยู่ในตัว ทุกคนจึงควรฝึกฝนจิตให้รู้จักรักและขอบคุณสรรพสิ่งรอบตัว ชาวฉือจี้จึงนิยมฝึกฝนขอบคุณผู้อื่นอย่างจริงใจและนอบน้อม แม้ไปช่วยเหลือใครๆ ก็ยังขอบคุณผู้ที่ให้ตนช่วยเหลือ การรู้จักขอบคุณ (กั่นเอิน) นี้ถือเป็นการฝึกที่จะรักและเคารพในผู้อื่น เป็นการพัฒนาจิตอย่างสม่ำเสมอ ให้ชาวฉือจี้เป็นคนที่มีจิตใจดี มองคนในแง่บวก มองสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจและมีความสุข

ตัวอย่างงานอาสาสมัครฉือจี้ที่สะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งฝึกฝนตนเองจากการลงมือปฏิบัติจริงอย่างไม่ย่อท้อก็คือ งานอาสาสมัครแยกขยะตามชุมชนต่างๆ บรรดาอาสาสมัครที่เลือกทำงานนี้เปรียบเหมือนมดงานโพธิสัตว์หรือพระโพธิสัตว์รากหญ้าที่ก้มหน้าก้มตาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ทั่วไต้หวัน กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้จะมีหน่วยทำงานกระจายแทรกตัวอยู่ตามชุมชนต่างๆ โดยจะขอให้ประชาชนในละแวกนั้นนำขยะมาทิ้งให้ในวันที่ทางการไม่มาเก็บ จากนั้นบรรดาอาสาสมัครฉือจี้ก็จะขนย้ายขยะ นำมาคัดแยก โดยไม่รังเกียจว่าเป็นงานต้อยต่ำ เลือกที่เป็นประโยชน์ไปรีไซเคิล ไปขาย ได้เงินเข้ามูลนิธิฯ รวมแล้วปีละเป็นร้อยล้านเหรียญ เรียกว่าได้ทั้งเงินได้ทั้งบุญและยังได้ฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับหลักการฝึกตนเป็นชาวฉือจี้ ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนสอนเพียงให้เข้าถึงจิตวิญญาณที่มีความรักความเมตตาจริงๆ โดยแสดงผ่านพฤติกรรมออกไป ไม่ใช่แค่ปรัชญาทฤษฎีเหตุผล เช่น พระพุทธองค์สอนเรื่องเมตตา ก็ให้ออกไปรักไปเมตตาคนอื่นให้จริง ไปใส่ใจผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ คนยากจนโดยตรงเลย โดยวิธีที่จะบรรเทาความทุกข์ของคนป่วย คนจนท้องหิวก็คือ ให้ทานวัตถุก่อน ส่วนคนรวยซึ่งมีความทุกข์ใจทั้งๆ ที่มีกินมีใช้ ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เห็นคนทุกข์ยาก เห็นอริยสัจสี่ เห็นถึงอนิจจัง ความไม่เที่ยง โดยพาเขามาร่วมทำประโยชน์ จนเขาเองเกิดความรู้สึกว่าการช่วยเหลือคนอื่นเป็นความสุข เขาก็จะยิ่งยินดีที่จะเสียสละมาร่วม กระบวนการเช่นนี้ทำกันอย่างต่อเนื่อง คนไข้คนจนที่ได้รับความรักความเมตตา เขาก็จะเก็บความประทับใจนี้ไว้ในใจเขา ต่อไปเมื่อเขามีโอกาส เขาก็อยากจะทำเช่นนี้กับคนอื่นบ้าง เพราะเขาเคยได้รับจากคนอื่นมาก่อนแล้ว เหล่านี้คือสิ่งที่ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนสอน ซึ่งก็คือการสอนให้เป็นคนที่มีฝ่ามือคว่ำ (ให้) มากกว่าจะเป็นคนฝ่ามือหงาย (รับ)

กิจกรรมสังคมสงเคราะห์ของมูลนิธิฉือจี้เติบโตขยายวงกว้างขวางมากขึ้นด้วยพลังศรัทธาของสมาชิกและพลังการบริหารจัดการที่ผสมผสานมืออาชีพเข้ากับอาสาสมัครทุกระดับ ไม่ทำงานอาสาสมัครแบบมือสมัครเล่น หรือทำแบบทำบ้างหยุดบ้างไม่เป็นระบบ ไม่เอาจริงเอาจัง

งานสังคมสงเคราะห์ทั่วไป เช่น การช่วยเหลือผู้ยากไร้ เช่นที่เคยทำมาตั้งแต่อดีตก็ไม่หยุด ในขณะเดียวกันก็ขยายไปจับงานใหญ่และใหญ่มาก เช่น การเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตอนใต้ของไต้หวันเมื่อปี ๒๕๔๒ มูลนิธิฉือจี้ส่งหน่วยอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือเป็นกลุ่มแรก ทำงานช่วยเหลือหลายด้านอย่างต่อเนื่องนานถึง ๕ ปี ถอนตัวออกมาเป็นหน่วยสุดท้าย โดยช่วยรัฐบาลก่อสร้างโรงเรียนทดแทนให้ชุมชนต่างๆ มากถึง ๕๑ แห่ง ทุกแห่งก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวในอนาคต จึงต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านเหรียญ โดยค่อยๆ ระดมเงินบริจาค ขยายขอบข่ายการรับบริจาคออกไปเรื่อยๆ ใช้เวลาดำเนินงาน ๒ ปีกว่าจึงแล้วเสร็จ

ระยะหลัง นอกจากการทำงานสังคมสงเคราะห์ในประเทศแล้ว อาสาสมัครฉือจี้ยังประกาศศักดาไปทั่วโลก ด้วยมองเห็นว่าโลกปัจจุบันเสียสมดุลจากน้ำมือของมนุษย์ ทุกคนที่ตื่นแล้วจึงมีหน้าที่ช่วยกันเยียวยาโลก สร้างสรรค์โลก เหตุการณ์สึนามิแถบบ้านเรา อาสาสมัครฉือจี้ก็เข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ต้นๆ โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ปากีสถานเมื่อไม่นานมานี้ ธงอาสาสมัครฉือจี้ก็ไปโบกสะบัดคู่กับธงสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง

นับถึงปัจจุบัน มูลนิธิฉือจี้ได้ออกไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนในประเทศต่างๆ ถึง ๖๑ ประเทศ ทั้งยังมีเครือข่ายสาขาฉือจี้อยู่ใน ๔๖ ประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

วันที่ผมและคณะไปดูงานที่ฮั่วเหลียน ได้มีโอกาสพบกับคุณเซียจิ่งกุ้ย อาสาสมัครฉือจี้คนสำคัญ คุณเซียอายุ ๔๐ ปีเศษๆ มีหน้าที่ดูแลฝ่ายต่างประเทศ คอยติดตามวางแผนและดำเนินงานบรรเทาสาธารณภัยนานาชาติ เขาเรียนจบกฎหมาย ราว ๑๐ ปีก่อนเขาทำงานเป็นนายหน้าในตลาดหุ้น มีรายได้ปีละหลายล้านเหรียญ เขาบอกว่าหุ้นขึ้นเขาก็มีรายได้ หุ้นตกเขาก็มีรายได้ แต่ภายหลังก็ได้คิดว่านั่นไม่น่าจะเป็นวิถีชีวิตที่ดีงาม เมื่อค้นพบว่าตนไม่เหมาะที่จะเดินต่อไปในเส้นทางนั้น และด้วยพลังศรัทธาต่อท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนที่มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างยิ่งใหญ่ เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตมาเป็นอาสาสมัครฉือจี้ตลอดชีวิต โดยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่แต่งงานเพื่อไม่ให้มีภาระ จะได้ทำงานช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกที่ทุกข์ยากและช่วยเยียวยาโลกได้อย่างเต็มที่

คุณเซียบอกเราว่า ชาวฉือจี้เชื่อในคำสอนข้อหนึ่งที่ว่า “ชาวพุทธจงเป็นช้างให้พระพุทธเจ้า แต่ถ้าจะเป็นช้างให้พระพุทธเจ้าขี่ ต้องยอมเป็นม้าเป็นวัวให้แก่ประชาชนก่อน”

ด้วยความเชื่อเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้อาสาสมัครฉือจี้ภาคภูมิใจและเต็มใจยิ่งนักที่จะได้อาสาเป็นผู้ช่วยเหลือทำการงานให้แก่ผู้อื่นโดยไม่เลือกงานและไม่เลือกเขาเลือกเรา นับเป็นขบวนการจิตอาสาที่ใหญ่ยิ่ง

ภาพถ่ายอาสาสมัครฉือจี้ที่ทำงานคัดแยกขยะ ณ ศูนย์รีไซเคิลแห่งหนึ่ง ใครเป็นอาสาสมัคร ได้เห็นภาพอย่างนี้ก็สุดจะภูมิใจ

กิ่งก้านอันงดงามของไม้ใหญ่นามฉือจี้
ปัจจุบัน ภารกิจหลัก ๔ ด้านของมูลนิธิฉือจี้ คือ ด้านการสังคมสงเคราะห์ การจัดบริการรักษาพยาบาล การจัดการศึกษา และการส่งเสริมวัฒนธรรม ได้แยกย่อยออกไปเป็น ๘ กลุ่ม ได้แก่ ๑. งานการกุศล (charity) ๒. งานด้านการแพทย์ (medical) ๓. งานด้านการศึกษา (education) ๔. งานด้านมนุษยธรรม (humanitarian) ๕. งานการบรรเทาทุกข์สากล (international relief) ๖. ธนาคารไขกระดูก (marrow registry) ๗. งานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (environmental protection) ๘. งานอาสาสมัครชุมชน (community volunteers)

แขนงงานเหล่านี้เปรียบได้กับกิ่งก้านสาขาของไม้ใหญ่ที่แผ่ออกไปสร้างร่มเงา เอื้อประโยชน์ให้แก่สรรพชีวิต และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของกิ่งก้านอันงามสมบูรณ์ของไม้ใหญ่นามฉือจี้

ภายในโรงพยาบาลพุทธฉือจี้มีภาพขนาดใหญ่อยู่บนผนัง เป็นภาพพระโพธิสัตว์ช่วยเยียวยาภิกษุอาพาธ ภาพนี้ประกอบขึ้นด้วยโมเสสเป็นแสนชิ้น

โรงเรียนสอนแพทย์ให้เป็นมนุษย์
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ผมและคณะดูงานได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการของคณะแพทยศาสตร์ มูลนิธิฉือจี้ที่ฮั่วเหลียน คณะแพทย์แห่งนี้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ผลิตแพทย์จบไปหลายรุ่นแล้ว

อาคารคณะแพทย์ปลูกสร้างอย่างมั่นคงแข็งแรงใหญ่โตอลังการ มีพื้นที่สีเขียวกว้างขวาง ไม่ไกลจากคณะแพทย์มากนักเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลขนาด ๑,๒๐๐ เตียงแห่งแรกของฉือจี้ที่ก่อสร้างอย่างอลังการเช่นเดียวกัน โรงพยาบาลนั้นก่อตั้งขึ้นตามภารกิจหลักของฉือจี้ที่มุ่งช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากตามปณิธานของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนตั้งแต่สมัยอดีตดังที่ผมเคยเขียนถึงไปแล้ว และเมื่อสร้างโรงพยาบาลแล้วจึงถือโอกาสก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นด้วย ทว่าจุดมุ่งหมายสำคัญมิได้อยู่ที่เพียงการผลิตแพทย์เท่านั้น หากยังมุ่งหวังให้ได้แพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ มีจิตวิญญาณ ควบคู่ไปกับการมีองค์ความรู้ทางเทคนิค เพื่อให้ได้แพทย์ที่เก่งทั้งการรักษาโรค รักษาใจ พร้อมดูแลผู้ป่วยเสมือนญาติ และทำหน้าที่โอบอุ้มโลกใบนี้ด้วย

คณะแพทย์แห่งนี้ใช้ “พรหมวิหาร ๔“ อันเป็นแนวทางพระโพธิสัตว์ที่ชาวฉือจี้ยึดถือมาเป็นคำขวัญประจำคณะ คือ

เมตตา ฝึกการมีจิตใจต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข
กรุณา ฝึกลงมือทำเพื่อช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
มุทิตา ฝึกเรียนรู้ เข้าใจ และกตัญญูในสรรพสิ่ง
อุเบกขา ฝึกเข้าใจความเป็นธรรมชาติธรรมดา สามารถลดตัวตนและปล่อยวาง

นับเป็นการตีความพรหมวิหาร ๔ อย่างกว้างและลึก
หัวหน้าภาควิชามานุษยวิทยาที่ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานเล่าว่า ในการผลิตแพทย์ของเขา นอกเหนือจากเทคนิควิชาการทางการแพทย์แล้ว เขายังเน้นการฝึกอบรมด้านศิลปวัฒนธรรม มนุษยศาสตร์ และการพัฒนาจิตวิญญาณอย่างเข้มข้นและเอาจริงเอาจังควบคู่กันไป นักศึกษาแพทย์ที่นี่จึงมีชั่วโมงเรียนการจัดดอกไม้ การเขียนพู่กันจีน การชงชา การเดิน-นั่ง-ยกโต๊ะเก้าอี้แบบไม่ให้เกิดเสียง ฯลฯ เพื่อฝึกให้เป็นคนประณีต ละเอียดอ่อน เข้าถึงสภาวะของจิต ไม่หยาบกระด้าง นอกจากนี้ก็ยังให้นักศึกษาแพทย์ไปทำงานอาสาสมัครต่างๆ เพื่อฝึกการบริการรับใช้ผู้อื่น ฝึกลดตัวตน ฝึกให้รำลึกถึงบุญคุณผู้อื่น จนเข้าไปอยู่ในจิตสำนึก

อย่างหลักสูตรการจัดดอกไม้ ผู้สอนจะสอดแทรกแง่คิดว่า ดอกไม้ใบไม้ย่อมมีทั้งเก่าและใหม่ ทั้งแก่และอ่อน หากไม่ยอมเด็ดดอกใบที่ร่วงโรยทิ้งบ้าง ก็อาจจัดดอกไม้ได้ไม่งดงาม ฉันใดก็ฉันนั้น ในการทำงาน การดำรงชีวิต ก็ต้องกล้าเสียสละในบางเรื่องเพื่อให้เกิดการลงตัวอย่างสมดุล มีให้มีรับอย่างเหมาะสม การอบรมทำนองนี้ว่ากันว่าเป็นคติจีนโบราณที่สอนเกี่ยวกับศิลปะการดำเนินชีวิตกันมาเป็นพันๆ ปีแล้ว ส่วนหลักสูตรการเขียนพู่กันจีนนั้นก็เพื่อพัฒนาสมาธิและจิต เพราะเวลาตวัดพู่กันแต่ละครั้ง จะต้องทำด้วยจิตใจที่มีสมาธิ สงบ มั่นคง โดยฝึกต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ

การชงชาก็เป็นศิลปะ ๒ ด้าน ฝ่ายหนึ่งฝึกการบริการผู้อื่น และอีกฝ่ายหนึ่งเรียนรู้การเป็นผู้รอ รู้รับกลิ่น รู้รับรส รู้รับน้ำใจจากผู้อื่น และฝึกการทำงานอย่างมีสมาธิ มิใช่แค่การชงชาเพื่อดื่มเพียงเท่านั้น

เหล่านี้เป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนที่แสดงว่า เขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางจิตใจของนักศึกษาแพทย์ที่จะต้องจบออกไปเป็นแพทย์ที่เข้าใจในเพื่อนมนุษย์ มีจิตใจดีงาม ประณีตละเอียดอ่อน และต้องมีความรู้ความสามารถด้านเทคนิคอย่างดีด้วย ซึ่งการฝึกอบรมบ่มนิสัยเช่นนี้เขาใช้กับทุกหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย

กรณีที่เด่นสำหรับคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ก็คือ การจัดการเรียนการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ ซึ่งนักศึกษาแพทย์ต้องเรียนผ่าศพอาจารย์ใหญ่ (“อาจารย์ใหญ่” เป็นคำเรียกผู้อุทิศศพของตนให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียน โดยทั่วไปศพอาจารย์ใหญ่ ๑ ท่านสามารถให้นักศึกษาแพทย์เรียนพร้อมๆ กันได้ ๔ คน) เขาสร้างระบบที่ทำให้นักศึกษาเห็นความสำคัญและรำลึกในพระคุณของอาจารย์ใหญ่อย่างสูงยิ่ง โดยให้นักศึกษาแพทย์ที่จะต้องเรียนผ่าศพได้ทำความรู้จักกับครอบครัวของอาจารย์ใหญ่เพื่อให้นักศึกษาแพทย์รู้สึกตนเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวนั้นด้วย นักศึกษาแพทย์จะได้เรียนรู้ประวัติชีวิตของอาจารย์ใหญ่ตั้งแต่ก่อนเรียนผ่าศพ เพื่อให้รู้ว่าร่างของอาจารย์ใหญ่มิใช่เป็นแค่ศพ แต่เป็นเรือนร่างของเจ้าของชีวิตที่เคยมีเลือดเนื้อ มีลมหายใจ มีคุณงามความดี และมีจิตใจที่ดีงาม เป็นการปลูกฝังให้นักศึกษาแพทย์มีจิตใจที่รู้จักเคารพผู้อื่น แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะเสียชีวิตเป็นศพไปแล้วก็ตาม เมื่อนักศึกษาแพทย์เรียนผ่าศพ เขาก็จะปฏิบัติต่อศพนั้นด้วยความเคารพเหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ มิใช่มองเห็นเป็นแค่ศพศพหนึ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจแล้วเท่านั้น

“นักศึกษาแพทย์จะกรีดผ่าศพของบิดาเราผิดพลาดสักกี่ร้อยครั้งก็ไม่เป็นไร เราอนุญาตให้ทำได้เต็มที่ แต่เมื่อจบไปเป็นแพทย์แล้ว ขออย่าได้ผ่าตัดใครผิดแม้แต่ครั้งเดียว”

ลูกของอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่งพูดฝากกับนักศึกษาแพทย์

มีอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง ก่อนเสียชีวิตป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการบริจาคร่างกายให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา จึงไม่รับยาเคมีบำบัด ไม่รับการผ่าตัด เพราะจะทำให้ศพใช้ผ่าศึกษาไม่ได้ เพียงขอรับแต่ยาแก้ปวดบรรเทาอาการเจ็บปวดจนกระทั่งสิ้นชีวิต และก่อนสิ้นชีวิตได้มีโอกาสพูดฝากถึงนักศึกษาแพทย์โดยอาจารย์บันทึกภาพเป็นวีซีดีไว้ให้นักศึกษาได้ดูกัน เพื่อให้เห็นถึงความเสียสละและความตั้งใจจริงของอาจารย์ใหญ่

นี่เป็นการทำให้ศพอาจารย์ใหญ่ “พูดได้” หาใช่ศพคนตายที่ไร้ความรู้สึกรู้สาไม่

เมื่อนักศึกษาแพทย์เรียนผ่าศพจบหลักสูตร พวกเขาจะนำชิ้นส่วนของอาจารย์ใหญ่ที่ผ่าศึกษาแล้วซึ่งแยกเก็บรักษาไว้กลับมาเย็บปะติดปะต่อเท่าที่ทำได้ แล้วห่อด้วยผ้าขาวสะอาด ปิดคลุมด้วยผ้าแพรพรรณอย่างสวยงาม จากนั้นทั้งนักศึกษาแพทย์ ญาติของอาจารย์ใหญ่ และครูอาจารย์ ก็จะมาร่วมพิธี ช่วยกันแบกศพอาจารย์ใหญ่เดินเรียงแถว จัดขบวนแห่ศพด้วยความเคารพระลึกถึงในบุญคุณ ก่อนทำการฌาปนกิจ นักศึกษาแพทย์จะเขียนคำระลึกถึงอาจารย์ใหญ่ของพวกเขาใส่โลงศพไปด้วยเพื่อคารวะอาจารย์ใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากฌาปนกิจแล้ว จะเก็บอัฐิบางส่วนใส่โกศคริสตัลสวยงาม จารึกชื่อแซ่ไว้ แล้วนำไปเก็บไว้ในห้องพระโพธิสัตว์บนอาคารคณะแพทยศาสตร์

ด้วยกระบวนการที่ให้ความสำคัญต่อมิติความเป็นมนุษย์และจิตวิญญาณเช่นนี้ ย่อมบ่มเพาะให้นักศึกษาแพทย์เป็นผู้ที่มีจิตใจละเอียดอ่อน มีความกตัญญูต่อผู้อื่น และก้าวไปสู่การเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคต และก็ด้วยระบบการจัดการที่ให้เกียรติแก่อาจารย์ใหญ่อย่างสูงนี้เช่นกัน ที่ส่งผลให้มีผู้แสดงความจำนงบริจาคร่างกายให้นักศึกษาแพทย์ที่นี่นับหมื่นรายกระทั่งมีศพมากเกินความต้องการ ต้องบริจาคต่อไปยังคณะแพทยศาสตร์แห่งอื่น ทว่าก็มีข้อแม้ว่า คณะแพทยศาสตร์ที่รับบริจาคศพไปจะต้องจัดกระบวนการและพิธีการต่างๆ ตามนี้เช่นกัน

เมื่อได้ชมวีซีดี ได้รู้ได้เห็นเรื่องนี้ด้วยตัวเอง หลายคนในคณะดูงานต้องเสียน้ำตาด้วยความประทับใจ บางคนถึงกับบอกว่า “เห็นแล้วน่าตาย” เพราะตายแล้วถ้าได้เป็นอาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ที่นี่ ก็นับว่าได้รับเกียรติและได้รับความเคารพอย่างสูง

ภายในบริเวณโรงพยาบาลของฉือจี้ มีอาสาสมัครกำลังเล่นเปียโนให้คนไข้และญาติฟัง ส่วนที่กำลังเข็นรถผู้ป่วย เป็นอาสาสมัครที่มาช่วยทำงานบริการในโรงพยาบาล

โรงพยาบาลพระโพธิสัตว์
ฉือจี้สร้างโรงพยาบาลแห่งแรกที่ฮั่วเหลียนเมื่อราว ๒๐ ปีก่อน ปัจจุบันมีโรงพยาบาลรวม ๕ แห่ง ทั้งที่อยู่ในต่างจังหวัดและชานเมืองไทเป เป็นโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นอย่างมั่นคงสวยงามและน่าจะใช้งานได้เป็นร้อยๆ ปี ทั้งยังป้องกันแผ่นดินไหวไว้พร้อมสรรพ ค่าก่อสร้างทั้งหมดมาจากเงินบริจาคของสมาชิกฉือจี้

ในช่วงที่ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนมีดำริจะสร้างโรงพยาบาลแห่งแรกนั้นยังไม่มีเงินเลย ทางการทราบเจตนารมณ์ก็ติงว่า เมื่อไม่มีเงินก็ควรคิดทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ใช้เงินน้อยกว่านี้ไม่ดีกว่าหรือ แต่ท่านธรรมาจารย์มั่นใจว่าจะทำได้ แม้ต้องใช้เงินหลายร้อยล้านเหรียญก็ตาม

เมื่อเริ่มโครงการ มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่เคยอยู่ที่ไต้หวันมาก่อนแสดงความจำนงขอบริจาคเงินก้อนใหญ่ให้สร้างโรงพยาบาล ท่านธรรมาจารย์ไม่รับเพราะต้องการให้คนไต้หวันส่วนใหญ่ได้ร่วมกันเป็นเจ้าของโรงพยาบาลด้วยการร่วมบริจาคคนละเล็กคนละน้อยมากกว่า ในที่สุดโรงพยาบาลแห่งแรกก็ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และถึงวันนี้ฉือจี้ก็เปิดโรงพยาบาลแห่งที่ ๕ แล้ว (ขนาดใหญ่กว่า ๑,๐๐๐ เตียง ๓ แห่ง ขนาดเล็ก ๒ แห่ง) เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่ต้องพูดถึง ทุกแห่งมีพร้อมอยู่ในระดับแนวหน้าของไต้หวันและได้มาตรฐานสากล สามารถให้การรักษาและผ่าตัดโรคยากๆ ได้เป็นผลสำเร็จ แต่ที่เด่นมากคือ การจัดระบบที่ให้ความสำคัญกับมิติความเป็นมนุษย์และจิตวิญญาณอย่างสูง โรงพยาบาลของฉือจี้ใช้พรหมวิหาร ๔ เป็นคำขวัญกำหนดทิศทางการทำงานเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ของฉือจี้ จึงมุ่งบริหารจัดการให้โรงพยาบาลเป็นทั้งแหล่งรักษาคน รักษาใจ รักษาโรค รวมทั้งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กัน

บรรยากาศในโรงพยาบาลจัดได้ดีมาก สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก ผู้คนที่ทำงานในโรงพยาบาลมีทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรวิชาชีพ ทำงานร่วมกับอาสาสมัครฉือจี้เป็นร้อยๆ คน (ซึ่งต้องแจ้งความจำนงเข้าคิวรอเป็นเดือนๆ กว่าจะได้มาทำงานอาสาสมัครในโรงพยาบาลครั้งละวันสองวัน) ทุกคนให้บริการแก่ผู้ป่วยด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส กระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือ แนะนำ และให้บริการตามบทบาทหน้าที่ของตน

โรงพยาบาลของฉือจี้มีการรณรงค์เพื่อสร้างจิตวิญญาณการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ เรียกว่า “The mission to be a human doctor” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาจิตใจของผู้ให้บริการทุกระดับให้ใส่ใจในคุณค่าศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ให้เกียรติและให้ความเคารพแก่คนทุกคนทุกระดับชั้น และให้ระลึกในพระคุณของผู้ป่วยและญาติที่มาใช้บริการ ดังที่แพทย์ฉือจี้ท่านหนึ่งกล่าวว่า “แพทย์พยาบาลและทีมงานมีหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ ทุกคนต้องลดตัวตนให้เล็กที่สุด จึงจะทำภารกิจที่สำคัญนั้นได้”

เราจึงเห็นแพทย์ชาวฉือจี้ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส ยกมือไหว้คนไข้และคนอื่นๆ ได้เสมอ นอบน้อมถ่อมตน ตั้งใจให้บริการอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เพราะเขาถือว่าการได้ทำงานช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากคือการทำหน้าที่พระโพธิสัตว์ เป็นการสะสมบุญกุศลให้สูงขึ้นเรื่อยไป

ธนาคารไขกระดูกอันดับหนึ่งของเอเชีย
ธนาคารไขกระดูกของมูลนิธิฉือจี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ ด้วยการเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาแสดงความจำนงบริจาคไขกระดูก (bone marrow registry) เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับความผิดปรกติของเม็ดเลือด เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคโลหิตจางบางชนิด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด โรคไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น

ไขกระดูกคือเซลล์ที่ผลิตเม็ดเลือดตามปรกติ ในกรณีเป็นโรคเลือดบางชนิดดังตัวอย่างข้างต้น จำเป็นต้องให้ยาทำลายไขกระดูกที่มีอยู่เดิม แล้วฉีดเซลล์ไขกระดูกของผู้บริจาคเข้าไปทางเส้นเลือดให้เข้าไปอยู่ในไขกระดูกเพื่อทำหน้าที่แทนไขกระดูกของผู้ป่วย เป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ทำสำเร็จครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ จากนั้นก็มีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ

โดยทั่วไปผู้ป่วยสามารถรับบริจาคไขกระดูกได้จากญาติพี่น้องร่วมสายเลือด เนื่องจากมีเนื้อเยื่อเข้ากันได้ ร่างกายผู้ป่วยจึงไม่ปฏิเสธไขกระดูกที่ฉีดเข้าไป แต่ในบางกรณี แม้เป็นญาติร่วมสายเลือดกัน แต่หากเนื้อเยื่อเข้ากันไม่ได้ ร่างกายก็จะปฏิเสธไขกระดูกที่ฉีดเข้าไปนั้น ดังนั้นในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับไขกระดูกจากญาติพี่น้องได้ ก็ต้องรอคอยรับบริจาคไขกระดูกจากผู้อื่นซึ่งมีโอกาสเข้ากันได้ประมาณ ๑ ใน ๕๐,๐๐๐ ดังนั้นหากมีการลงทะเบียนผู้บริจาคไขกระดูกไว้มากเท่าไร ก็มีโอกาสที่ผู้บริจาคจะมีเนื้อเยื่อเข้ากับผู้ป่วยได้มากเท่านั้น (ไม่ต้องบริจาคไขกระดูกไปเก็บไว้ในธนาคาร แต่เป็นการเจาะเลือดเก็บไว้ด้วยเทคนิคพิเศษ ต่อเมื่อตรวจพบว่าเนื้อเยื่อของเราเข้าได้กับผู้ป่วยพอดี จึงจะเข้าสู่กระบวนการเจาะไขกระดูกจากตัวเราไปให้ผู้ป่วย) ซึ่งก็มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสบริจาคไขกระดูกให้แก่ผู้ป่วยจริงๆ ใครที่ลงทะเบียนบริจาคไว้แล้วได้บริจาคจริงก็ถือว่าได้โอกาสทำบุญทำกุศลอันยิ่งใหญ่

ครั้งหนึ่งมีผู้หญิงคนหนึ่งลงทะเบียนบริจาคไขกระดูกไว้ ต่อมาเธอได้รับแจ้งว่าเนื้อเยื่อของเธอเข้ากันได้กับคนไข้รายหนึ่ง นั่นหมายความว่าเธอจะได้มีโอกาสทำกุศลครั้งใหญ่ด้วยการบริจาคไขกระดูกเพื่อช่วยชีวิตคนอื่น บังเอิญเวลานั้นเธออยู่ระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์แจ้งว่าถ้าบริจาคไขกระดูก ก็มีโอกาสที่เธอจะแท้งลูกได้ แต่เธอก็ตัดสินใจบริจาคไขกระดูกเพราะเห็นว่าจะได้มีโอกาสช่วยชีวิตคน หากเธอแท้งลูก เธอก็สามารถตั้งครรภ์ใหม่ได้ ในที่สุดเธอได้บริจาคไขกระดูกและลูกในครรภ์ของเธอก็ปรกติดี คลอดออกมาเป็นทารกที่สมบูรณ์

ปัจจุบันธนาคารไขกระดูกของฉือจี้นับเป็นธนาคารไขกระดูกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีผู้แสดงความจำนงบริจาคไขกระดูกมากถึงเกือบ ๓ แสนคน มีการบริจาคไขกระดูกช่วยเหลือผู้ป่วยจริงๆ ทั้งในไต้หวันและประเทศอื่นๆ ไปแล้วกว่า ๘๐๐ รายใน ๒๐ ประเทศ ที่เขาทำได้ดังนี้ เพราะมีท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนเป็นศูนย์รวมความศรัทธาและผู้คนมีความเชื่อมั่นต่อระบบการดำเนินงาน ประกอบกับมีการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาใช้ได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

ห้องเรียนชงชา ของนักเรียนอนุบาล
โรงเรียนสร้าง “คน” ให้เป็น “มนุษย์”
หนึ่งในสี่ภารกิจสำคัญของมูลนิธิฉือจี้ ก็คือ การจัดการศึกษา โดยการศึกษาที่ว่านี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสร้าง “คน” ให้เป็น “มนุษย์” คือผู้มีจิตใจสูง ไม่ใช่มุ่งสอนคนให้มีแต่ความเก่งเพื่อไขว่คว้าหาโอกาสที่เหนือคนอื่นอย่างเอาเป็นเอาตาย

ฉือจี้จัดการศึกษามาแล้วเป็นสิบปี มีตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย และต่อมามีการสร้างโรงเรียนในต่างประเทศด้วย ปัจจุบันมีโรงเรียนประถมศึกษานอกประเทศแห่งแรกที่อำเภอฝาง ประเทศไทยเรานี่เอง เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ โดยจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาทั่วไป แต่เน้นสอดแทรกการเรียนการสอนและการฝึกอบรมบ่มนิสัยด้านคุณธรรมจริยธรรมอย่างจริงจังควบคู่ไปด้วย

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ผมและคณะดูงานได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการโรงเรียนอนุบาลของฉือจี้ที่เมืองฮั่วเหลียน ซึ่งเปิดดำเนินงานมาได้ ๕ ปีแล้วภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยฉือจี้ โรงเรียนของเขามีเป้าหมาย ๔ ประการ คือ สร้างนักเรียนให้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลถึงระดับสากล เป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นผู้มีวัฒนธรรมที่ดีงาม มีทักษะการทำงานและทักษะชีวิต

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น เขาจึงเน้นปลูกฝัง ๕ ด้าน คือ

๑. การดำเนินชีวิตประจำวันที่เรียบง่าย
๒. ฝึกให้เป็นผู้มีคุณธรรมในการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง มีความรักในผู้อื่นเหมือนเป็นญาติพี่น้องร่วมครอบครัวเดียวกัน
๓. ให้รู้จักบริการผู้อื่นอย่างนอบน้อมถ่อมตน ให้เกียรติผู้อื่น
๔. ให้รู้จักขอบคุณสิ่งที่เกิดขึ้นและทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิต รู้จักสำนึกในบุญคุณของคนอื่นและสรรพสิ่งรอบตัว
๕. ให้มีทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและการทำงานในอนาคต

บริเวณโรงเรียนอนุบาลที่เราไปดูงาน จัดสถานที่สวยงาม สะอาด เป็นระเบียบมาก ทุกตึกจะมีห้องอเนกประสงค์ให้นักเรียนได้ทำกิจกรรม มีห้องสมุด ห้องปฏิบัติธรรม ห้องเรียนจัดดอกไม้ ห้องเรียนการชงชา ฯลฯ ทั้งนี้เพราะนอกจากเนื้อหาวิชาการแล้ว เขายังเน้นให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ที่จะช่วยพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม คุณธรรม และจริยธรรมด้วย เช่น เรียนการจัดดอกไม้เพื่อฝึกให้เป็นคนมีศิลปะ จิตใจละเอียดอ่อน เข้าใจธรรมชาติ เรียนการชงชา ฝึกการล้างมือเพื่อล้างใจ ฝึกสมาธิ ฝึกการทำงานที่ละเอียดประณีตมีขั้นมีตอน ฝึกการบริการผู้อื่น ฝึกรอคอย ฝึกช่วยเหลือ ฝึกรับบริการจากผู้อื่นด้วยจิตใจที่ระลึกในพระคุณของผู้อื่น นักเรียนคนไหนเรียนดี นิสัยดี จะได้รับมอบหน้าที่ตักอาหารบริการครู นักเรียนที่ได้รับหน้าที่นี้จะดีใจมาก เวลานักเรียนนำอาหารไปบริการครู ครูจะยกมือไหว้ขอบคุณ นอกจากนี้เด็กยังได้มีโอกาสล้างส้วม ใครที่ได้รับหน้าที่ล้างส้วมจะดีใจมากเพราะถือว่าจะต้องทำดีมากๆ จึงจะได้รับมอบหน้าที่นี้ การฝึกอบรมเช่นนี้มีผลทำให้เด็กนักเรียนไม่รังเกียจงานใช้แรงงาน ไม่รังเกียจงานสกปรก ไม่มองว่าเป็นงานต่ำต้อย ซึ่งตรงข้ามกับการสร้างทัศนคติในบ้านเมืองเรา

สิ่งสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งที่เด็กนักเรียนทุกคนจะได้ฝึกฝนควบคู่ไปกับการเรียนวิชาการตามหลักสูตรก็คือ การฝึกเป็นอาสาสมัครซึ่งมีสารพัดรูปแบบ เช่น ฝึกเป็นอาสาสมัครจิ๋วเก็บขยะ แยกขยะ ไปเยี่ยมผู้ยากไร้ ช่วยกันทำความสะอาดโรงเรียน บริการซักผ้าให้เพื่อน ให้น้อง ให้ครู และในช่วงปิดเทอมเด็กนักเรียนจะได้มีโอกาสไปเข้าค่ายที่สมณารามเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรม ธรรมะ และได้ทำงานอาสาสมัครด้วย

ตอนที่ผมและคณะเดินดูงานอยู่ในโรงเรียน สังเกตเห็นแผ่นโปสเตอร์มีรูปประกอบอย่างสวยงามพร้อมคำอธิบายสั้นๆ เป็นภาษาจีน ติดอยู่ตามทางเดินเป็นระยะๆ สอบถามครูได้ความว่า เป็นโศลกติดสอนเด็ก ทุกๆ ที่ที่มีโปสเตอร์ติดอยู่จะมีกระดาษวาดเขียนวางไว้ให้เด็กนักเรียนวาดรูปหรือเขียนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระหลังจากที่ได้ดูภาพ ได้อ่านข้อความเหล่านั้น โดยโรงเรียนจะเปลี่ยนโศลกไปเรื่อยๆ โศลกที่ติดไว้ในช่วงนั้นประกอบด้วยคำ ๘ คำที่ล้วนเกี่ยวข้องกับคำว่า “ความเรียบง่าย” สรุปความได้ว่า “ความเรียบง่าย คือความงดงาม”

ภาพวาดแต่ละภาพนั้นเป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงซึ่งมีจิตอาสามาวาดให้ พร้อมเขียนคำอธิบายเพื่อให้เด็กได้อ่าน ได้ซึมซับคำสอนดีๆ จากภาพเหล่านั้น จะเห็นได้ว่าทางโรงเรียนไม่มีการบังคับสอนบังคับเรียนในเรื่องเหล่านี้โดยเอาคะแนนมาล่อ แต่เป็นการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อการเรียนรู้และให้อิสระแก่นักเรียนในการเลือกเรียนตามใจชอบ

สถานีโทรทัศน์สีขาว
ในขณะที่บ้านเราประชาชนกำลังเรียกร้องอยากได้สถานีโทรทัศน์ที่ส่งสารดีๆ ให้ประชาชนเพื่อพัฒนาสติปัญญา คุณธรรม จริยธรรมในสังคม แทนที่จะปล่อยให้ระบบทุนและอำนาจยึดไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าและการเมืองมอมเมาประชาชนอย่างไม่ลืมหูลืมตา ที่ไต้หวันเขาไปไกลกว่าบ้านเรามาก คือมีสถานีโทรทัศน์เกือบ ๑๐๐ ช่อง มีรายการหลากหลายให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการรับสาร ไม่ใช่มัดมือชกแบบของเรา

เฉพาะสถานีโทรทัศน์ที่เผยแพร่เรื่องเชิงศาสนาก็มีมากถึง ๖ ช่อง

มูลนิธิฉือจี้ก็มีสถานีโทรทัศน์ของตนเอง ชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย (สถานีโทรทัศน์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่)

ผมและคณะได้มีโอกาสไปชมสถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายมาแล้ว อาคารสถานีก่อสร้างอย่างใหญ่โตสง่างามมาก ใช้งบประมาณก่อสร้างหลายร้อยล้านเหรียญซึ่งมาจากเงินบริจาคทั้งสิ้น ทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้เป็นของมหาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นบริษัทมหาชนแบบทุนนิยม

การดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ใช้มืออาชีพทำงานร่วมกับอาสาสมัครที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้โดยตรง โดยมีเป้าหมายการพัฒนามาตรฐานการทำงานให้เทียบได้กับ CNN และ BBC ปัจจุบันแพร่ภาพวันละ ๖ ช่วงเวลาไปทั่วไต้หวันและส่งสัญญาณภาพไปยังประเทศต่างๆ เกือบจะทั่วโลกด้วย ค่าบริหารจัดการเดือนละหลายร้อยล้านเหรียญก็ได้มาจากเงินที่ผู้ชมและสมาชิกฉือจี้บริจาคให้ โดยหนึ่งในสี่ได้มาจากขยะรีไซเคิลที่อาสาสมัครฉือจี้ทั่วไต้หวันช่วยกันคัดแยกและนำไปขาย ไม่มีโฆษณาสินค้าใดๆ

รายการที่ต้าอ้ายทำมุ่งเน้นเผยแพร่เรื่องราวทางบวก ไม่นำเสนอเรื่องความรุนแรง ไม่มีการมอมเมาด้วยวัตถุนิยม บริโภคนิยม แต่จะเผยแพร่เรื่องเชิงคุณธรรม เรื่องราวของชีวิตคนที่ทำดี ปฏิบัติดี ผ่านทางละคร ดนตรี นิทาน เพลง และรูปแบบอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้คนทำดีและสร้างความประทับใจในสิ่งดีงาม เช่น รายการสารคดีตัวอย่าง ที่จะเลือกชีวิตอาสาสมัครชาวบ้านมาถ่ายทำเป็นสารคดีตอนสั้นๆ นำเสนอให้เห็นชีวิตโพธิสัตว์ชาวบ้าน ทำให้ผู้ชมที่เป็นประชาชนทั่วไปเกิดความประทับใจ ทั้งยังเป็นกำลังใจให้อาสาสมัครฉือจี้หลายแสนคนทั่วโลกได้เกิดความมุ่งมั่นที่จะออกไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้คนที่เดือดร้อน ล่าสุดปี ๒๕๔๘ นี้ สถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายได้รับการโหวตจากคนไต้หวันให้เป็นสถานีโทรทัศน์ช่องที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมากที่สุด
......................................................................

จากที่ได้มีโอกาสไปดูงานของมูลนิธิฉือจี้ ได้เรียนรู้เรื่องราวของชาวฉือจี้เป็นระยะสั้นๆ ผมสรุปประเด็นจากการเรียนรู้ได้ ๖ ประการ ดังนี้

๑. บริบทของสังคมไต้หวันที่ต้องเผชิญภัยธรรมชาติและการคุกคามทางการเมืองมาโดยตลอด ได้หล่อหลอมให้คนไต้หวันมีความเข้มแข็ง ขยันขันแข็ง และเอาจริงเอาจัง ประกอบกับสายเลือดชาวจีนที่มีนิสัยขยัน หนักเอาเบาสู้ ใฝ่เรียนรู้ ชอบบริการ และนอบน้อมถ่อมตน ส่งผลให้คนไต้หวันส่วนใหญ่มีอุปนิสัยด้านที่เป็นบวกค่อนข้างสูง และเมื่อสังคมการเมืองไต้หวันเปิดโลกประชาธิปไตย ให้เสรีภาพแก่ประชาชน เปิดเสรีทางสื่อสารมวลชน เสรีทางศาสนา จึงมีผลทำให้พัฒนาการด้านจิตวิญญาณ คุณธรรม ความดีงาม อย่างขบวนการฉือจี้เติบโตได้อย่างมีพลัง จนกลายเป็นแกนหลักที่สำคัญในด้านคุณธรรมจริยธรรมของไต้หวันดังเช่นทุกวันนี้ ถ้าสังคมใดเป็นระบบปิด มีวัฒนธรรมอำนาจนิยมครอบงำ เสรีภาพด้านต่างๆ ของสังคมถูกกดทับ โอกาสที่จะเกิดสิ่งดีๆ อย่างขบวนการฉือจี้ก็คงเป็นไปได้ยากทีเดียว หรือหากเกิดขึ้นได้ด้วยศรัทธา ก็มักจะดำเนินการผิดทิศทาง คือกลายเป็นการสะสมรวบทุกอย่างไว้ที่ศูนย์กลางเสมอๆ

๒. ขบวนการฉือจี้เป็นการนำพุทธธรรมที่ใช้แนวความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (แนวทางพระโพธิสัตว์) เป็นเข็มทิศนำทาง ทำให้ทุกคนสามารถใช้หลักศาสนามาปฏิบัติได้จริง และปฏิบัติได้อย่างง่ายๆ ในชีวิตนี้ คือ การทำงานช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยทรัพย์ ด้วยแรง ด้วยปัญญา ฯลฯ โดยถือว่าทั้งหมดนี้ก็คือการปฏิบัติธรรม เป็นการได้ฝึกเป็นพระโพธิสัตว์ในชาตินี้ และทำให้เรื่องพุทธศาสนาเป็นเรื่องเข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย ไม่แยกส่วนออกจากชีวิตจริง ทุกคนจึงสามารถทำได้อย่างทันทีและทันสมัยอยู่เสมอ

๓. การมีผู้นำทางจิตวิญญาณที่เป็นผู้ทรงธรรมะอันงดงาม มีวัตรปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างที่ทุกคนเห็นได้สัมผัสได้ คือ ท่านอิ้นซุ่น (หลวงปู่ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเจิ้งเหยียน) และท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน จึงเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาและความมุ่งมั่นในการทำดี ทำให้เกิดภาวะผู้นำที่สมาชิกและอาสาสมัครฉือจี้จำนวนเป็นแสนเป็นล้านสามารถยึดถือเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นแบบอย่างให้เจริญรอยตามได้อย่างมั่นใจและอย่างเป็นรูปธรรม การที่ผู้นำทรงไว้ซึ่งความเมตตากรุณาอย่างสูง ดำเนินชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย กินน้อย อยู่น้อย ใช้น้อย ไม่สะสม เบียดเบียนผู้อื่นและสรรพสิ่งน้อย นอบน้อมถ่อมตน ลดตัวเองให้เล็กอยู่เสมอ มีแต่คิดจะทำเพื่อผู้อื่นอย่างสุดใจ จึงเป็นเสมือนต้นแบบนำทางให้แก่ศิษย์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเหนือกว่าคำสอนใดๆ

๔. แนวทางพุทธฉือจี้ที่เคารพยกย่องให้เกียรติแก่คนทุกคนอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่แบ่งแยก เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของทุกคน ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้งหลายแบบแนวราบ ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ ความรัก ความผูกพัน ตรงข้ามกับความสัมพันธ์แนวดิ่งที่เกิดแรงกดทับและปฏิสัมพันธ์กันเชิงอำนาจ ทำให้ความรัก ความดี ความงาม เกิดขึ้นได้ยากกว่า

๕. แนวทางพุทธฉือจี้มีลักษณะที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ “รวมเข้าเพื่อกระจายออก” คือเป็นการรวมคน รวมความรักความศรัทธา รวมทรัพยากร ปัญญา องค์ความรู้ การปฏิบัติต่างๆ เข้ามาสู่ศูนย์รวมแห่งศรัทธา คือผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่การรวมทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านั้นมิใช่รวมเข้ามาเพื่อพอกพูนสะสมไว้ที่ศูนย์กลาง ตรงกันข้าม การรวมสรรพสิ่งเหล่านั้นเป็นไปเพื่อกระจายสู่มหาชนคนยากไร้ คนตกทุกข์ได้ยาก อย่างกว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด จุดนี้ถือเป็นความงดงามอย่างยิ่งของแนวพุทธฉือจี้

มูลนิธิฉือจี้มีเงินบริจาคเข้ามาเป็นหมื่นล้านแสนล้านเหรียญ แต่เงินเหล่านั้นถูกนำไปใช้เพื่อการช่วยเหลือผู้คนเป็นแสนเป็นล้านคนทั้งในไต้หวันและทื่อื่นๆ ทั่วโลก มูลนิธิฉือจี้มีคนเก่ง มีความรู้ด้านต่างๆ มากมาย แต่บุคลากรเหล่านั้นก็ได้กระจายกันออกไปทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ที่ต้องการความช่วยเหลือ ในขณะที่ท่านธรรมาจารย์ ภิกษุณี และอาสาสมัครที่สมณาราม ยังคงดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายบนหลักของการพึ่งตนเอง ไม่เบียดเบียนสรรพสิ่ง เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาตลอดเกือบครึ่งศตวรรษ อาสาสมัครฉือจี้ทุกคนก็ยังคงต้องทำงานหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตเพื่อดูแลตนเอง และออกไปช่วยเหลือผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอด้วยการออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวเองทั้งหมด พร้อมกับฝึกฝนให้เป็นคนที่กินน้อย ใช้น้อย อยู่น้อย ตลอดเวลาอีกด้วย

๖. การดำเนินงานของขบวนการฉือจี้ไม่ปฏิเสธความเป็นไปของสังคมและของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตตลอดเวลา รู้จักนำจุดเด่นบางอย่างมาใช้อย่างชาญฉลาด เช่น นำเอาองค์ความรู้ด้านการจัดการ การตลาดเชิงสังคม เทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ฯลฯ มาใช้ในการดำเนินงานด้านศาสนาอย่างกลมกลืนและมีประสิทธิภาพ ตรงนี้ก็นับว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง

โดยภาพรวมอาจสรุปได้ว่า การดำเนินงานของขบวนการพุทธฉือจี้ตลอด ๔๐ ปีมานี้มีหลักการสำคัญอยู่ที่การเน้นหัวใจของความเป็นมนุษย์ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ ๓ ประการ คือ

๑. ศรัทธา คือการสร้างศรัทธาในการทำความดีเพื่อผู้อื่น โดยมีท่านธรรมาจารย์เป็นผู้นำและมีคำสอนแนวพุทธโพธิสัตว์เป็นหลักยึด

๒. ปัญญา ฉือจี้รับเอาองค์ความรู้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาปรับใช้เพื่อสานเจตนารมณ์ตลอดเวลา ไม่ได้ปล่อยให้เรื่องศาสนาเป็นเรื่องคร่ำครึ เป็นเรื่องอดีตที่แยกส่วนออกจากปัจจุบัน จึงเข้าถึงคนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้ตลอดเวลา

๓. การจัดการ ในกระบวนการทำงานของฉือจี้ มีการจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นมืออาชีพในทุกระดับ แม้แต่การทำงานของอาสาสมัครก็มีกระบวนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน มีระบบ มีระเบียบ ไม่ใช่แบบ “ช่วยๆ กันไป” การทำได้อย่างนี้คือการนำ “การจัดการ” มาใช้ในทุกเรื่องและทุกขั้นตอนนั่นเอง

จะว่าไปแล้ว ในบ้านเมืองเราก็มีคนดี มีคนทำอะไรดีๆ อยู่มากมายเหมือนกัน เพียงแต่ว่าคนดีและความดีเหล่านั้นไม่ได้รับการเผยแพร่ให้ปรากฏออกมา และไม่ค่อยได้รับการหนุนเสริมให้มีคนดีและความดีเพิ่มพูนมากขึ้นเท่าที่ควร

ผมจึงหวังว่าบทความนี้คงจะมีส่วนสร้างแรงบันดาลใจดีๆ ให้แก่ผู้อ่าน และเป็นกำลังใจในการที่จะช่วยกันทำอะไรดีๆ เพื่อผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้นต่อไป

กั่นเอิน

ที่ฉือจี้ มีประติมากรรมที่ให้ความหมายดีๆ เป็นสิบๆ ชิ้น (ภาพบน ) แสดงถึงการดูแลผู้ป่วยด้วยความเมตตากรุณา (ภาพกลาง) แสดงถึงความเมตตาและความอ่อนน้อมของแพทย์พยาบาลที่มีต่อผู้ป่วย (ภาพล่าง) แสดงถึงกิจกรรมบรรเทาสาธารณภัยนานาชาติของฉือจี้
เอกสารอ้างอิง
เดิมแท้ ชาวหินฟ้า. คุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของ
ประเทศไต้หวัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม), ๒๕๔๘.
มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย. แนะนำมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย โดยย่อ. ม.ป.ท., ม.ป.ป.
โรงพยาบาลพุทธฉือจี้. ๒๐๐๕. BUDDHIST TZU CHI GENERAL HOSPITAL
(online). http://www.tzuchi.com.tw/tzuchi/Default.ASPX.

(เชิงอรรถ)
จากการไปเยี่ยมศึกษาสำนักพุทธฉือจี้ไต้หวันรอบที่ ๒ ของผมเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๙ ทำให้มีโอกาสพบกับคุณสตีเฟน หวัง ซีอีโอของมูลนิธิพุทธฉือจี้ จึงได้ทราบชัดเจนว่าสิ่งที่ผมประมวลไว้นั้นถูกต้องแล้ว มูลนิธิพุทธฉือจี้วางแผนงานและดำเนินงานโดยอาสาสมัครฉือจี้ที่เป็นมืออาชีพในงานหลายแขนง การทำงานทุกอย่างจึงเป็นระบบและมีผลงานที่ดี คุณสตีเฟน หวัง เป็นชาวไต้หวันไปโตที่อเมริกา ประสบความสำเร็จในธุรกิจมากมายขนาดมีธนาคารเป็นของตนเอง ต่อมาได้สละความสำเร็จเหล่านั้นมาเป็นอาสาสมัครฉือจี้ช่วยท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนทำงานเต็มตัวตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา

หลังจากกลับมาจากดูงานที่ไต้หวัน ผมได้มีโอกาสรู้จักกับคุณยงเกียรติ เกียรติเสริมสกุล นักธุรกิจไทยคนหนึ่ง คุณยงเกียรติเพิ่งร่วมกิจกรรมกับฉือจี้ที่เมืองไทยได้แค่ปีเศษ เขาเล่าให้ผมฟังว่า รู้จักฉือจี้โดยบังเอิญ เนื่องจากที่บ้านซื้อโทรทัศน์ใหม่แล้วติดจานดาวเทียมใหม่ วันหนึ่งเปิดไปเจอรายการของสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย เนื่องจากฟังภาษาจีนออกก็เลยลองชมดู ดูๆ ไปก็นึกทึ่งว่ามีรายการโทรทัศน์ดีๆ อย่างนี้ด้วยหรือ มีคำสอนดีๆ ง่ายๆ ของท่านธรรมาจารย์ มีการนำเสนอเรื่องราวดีๆ การทำความดีของคนทุกระดับ จึงเกิดแรงบันดาลใจว่าจะต้องไปไต้หวันเพื่อเรียนรู้เรื่องนี้ ขณะนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในเมืองไทยก็มีสาขาของฉือจี้ (มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย ๓๒๒/๒๐๗ ซอยอยู่เจริญ ถนนรัชดาภิเษก ๓ แขวงดินแดง เขตดินแดง กทม. ๑๐๔๐๐, โทรศัพท์ ๐-๒๖๔๒-๑๘๘๘, ๐-๒๖๔๒-๐๔๗๗ / ๘๘ / ๙๙ โทรสาร ๐-๒๖๔๒-๑๘๙๐ e-mail : tzuchith@hotmail.com) จากวันนั้นจนถึงวันนี้ คุณยงเกียรติกลายเป็นอาสาสมัครคนหนึ่งของฉือจี้ไปแล้ว เขาเล่าว่าเดี๋ยวนี้เพื่อนฝูงทักว่าเปลี่ยนนิสัยไปเหมือนคนละคน ปล่อยวางธุรกิจให้ลูกๆ ทำ หันมาสนใจผู้อื่น ทำงานช่วยเหลือผู้คน เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ที่เคยใจร้อนไม่ยอมใครเดี๋ยวนี้กลายเป็นน้ำเย็นไปเลย

“กั่นเอิน” หรือ “สำนึกบุญคุณ” เป็นคำที่อาสาสมัครฉือจี้นิยมพูดกันติดปาก ไม่ว่าจะไปช่วยเหลือใคร บริการใคร ทำอะไรให้ใคร ก็มักจะพูดคำนี้ เพื่อฝึกความกตัญญู สำนึกในบุญคุณของทุกคนและทุกสรรพสิ่ง เป็นการฝึกเพื่อลดตัวตนให้เล็กลงอยู่เสมอ ผมจึงขอยืมมาใช้บ้าง


[ กลับไป ฉบับที่ 263 > มกราคม 50 ปีที่ 22 | สารบัญเรื่องพิเศษ ]

 

http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=660


เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2555 | อ่าน 17619
เขียนโดย admin

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
หลักชาวพุทธ 12 ประการ
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไ
27/01/2559
เปิดอ่าน 18531
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9767
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11145
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15203
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12077
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11099
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 11031
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11595
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 12878
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12121
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th