แนวคิดการบริหารการศึกษาตามหลักไตรสิกขากับแนวคิดตามทฤษฎีเชิงระบบ เป็นความสอดคล้องกันที่ลงตัว

๑.๑ บทนำ

 การศึกษาเป็นกระบวนการหนึ่งที่นานาอารยะประเทศทั้งหลายได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์ในประเทศของตนเองอย่างแพร่หลาย เนื่องจากว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพประการหนึ่งซึ่งสามารถนำมาใช้ในการพัฒนามนุษย์ให้มีความเจริญงอกงามได้ทั้งทางด้านกายภาพ ทางด้านสังคม ทางด้านจิตใจ และทางด้านสติปัญญา สำหรับทางด้านกายภาพนั้น การศึกษาเป็นเครื่องมือทำให้มนุษย์รู้จักวิธีการพัฒนาสุขภาพร่างกายของตนทั้งทางด้านสุขอนามัย ตลอดทั้งการพัฒนาให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้ง ๕ ด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณมิให้เกิดโทษ เป็นต้น ทางด้านสังคมนั้น การศึกษาเป็นเครื่องมือทำให้มนุษย์รู้จักวิธีการพัฒนาความประพฤติ ทำให้มนุษย์เป็นผู้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่ละเมิดกฏกติกาที่ดีงามของสังคมไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหายทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดีและเกื้อกูลกัน ให้ความสัมพันธ์ที่ดี ช่วยเหลือ เกื้อกูล ไม่เบียดเบียดซึ่งกันและกัน เป็นต้น ทางด้านจิตใจนั้น การศึกษาเป็นเครื่องมือทำให้มนุษย์รู้จักวิธีการพัฒนาด้านจิตใจให้เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น เรื่องของคุณภาพจิต สมรรถภาพจิตใจ และ ด้านสุขภาพจิต เป็นต้น ทางด้านสติปัญญานั้น การศึกษาเป็นเครื่องมือทำให้มนุษย์รู้จักวิธีการฝึกอบรมปัญญาให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง ตลอดทั้งเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา การพัฒนามนุษย์ให้มีความเจริญงอกงามได้ตามที่กล่าวมานั้น ในปัจจุบันนานาอารยะประเทศทั้งหลายส่วนใหญ่ล้วนได้นำเอาการศึกษามาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ในประเทศของตนทั้งสิ้น

 พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเกี่ยวกับการศึกษาอยู่จำนวนมาก หลักคำสอนเหล่านี้หากได้นำมาศึกษาวิเคราะห์ อธิบาย ตีความ จัดทำเป็นหลักวิชาการ บูรณาการให้เข้ากับยุคสมัยแล้ว ก็น่าจะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารการศึกษาและพัฒนามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่งด้วย จากที่ผู้เขียนเองเป็นได้ศึกษาวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานประกอบกับได้มีประสบการณ์และมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษาในโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนามาระยะหนึ่ง ในโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนานี้ได้มีการบริหารการศึกษาโดยนำหลักของไตรสิกขามาเป็นเครื่องมือในการบริหารการศึกษา และในช่วงนี้ผู้เขียนเองก็ได้มีโอกาสติดตามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับทฤษฎีในด้านการบริหารการศึกษาพบว่า ปัจจุบันในวิทยาการสมัยใหม่ได้มีทฤษฎีด้านการบริหารการศึกษาอยู่หลายทฤษฎี ในบรรดาทฤษฎีเหล่านั้นมีอยู่ทฤษฎีหนึ่งที่มีหลักการคิดคล้ายคลึงกันกับหลักของไตรสิกขาในทางพระพุทธศาสนา คือ ทฤษฎีเชิงระบบ (System Theory) ของ ลูดวิก วอน เบอร์ทาแลฟฟี (Ludwig Von Bertalaffy) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกันระหว่างทฤษฎีทั้ง ๒ นี้ เมื่อได้เห็นผลของการเปรียบเทียบกันที่ชัดเจนแล้วก็นำทฤษฎีทั้ง ๒ มาบูรณาการและสร้างเป็นรูปแบบ (Model) ของการบริหารการศึกษาขึ้นมา โดยอาจตั้งเชื่อรูปแบบการบริหารการศึกษาแบบนี้ว่า “รูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้หลักของไตรสิกขาบูรณาการ”ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอในประเด็นดังกล่าวจึงได้เขียนบทความนี้ สำหรับเนื้อหาที่ผู้เขียนจะนำเสนอในบทความนี้มีอยู่ ๓ ประเด็นหลัก คือ ๑) หลักไตรสิกขาในพระพุทธศาสนา ๒) หลักทฤษฎีเชิงระบบ (System Theory)และ ๓) การเปรียบเทียบการใช้หลักไตรสิกขาและทฤษฎีเชิงระบบในการบริหารการศึกษารายละเอียดของแต่ละประเด็นจะได้นำเสนอตามลำดับดังต่อไปนี้

  

๑.๒ หลักไตรสิกขาในพระพุทธศาสนา (The threefold training)

 ในบรรดากระบวนการพัฒนาชีวิตมนุษย์ถือว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญเพราะการศึกษาเป็นการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งทางด้านกาย ทางด้านสังคม ทางด้านจิตใจ และทางด้านปัญญาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ได้ให้ความสำคัญกับคำว่า “สิกขา”หรือ ที่เรามักเรียกในภาษาไทยว่า “ศึกษา”เป็นอย่างมาก หลักของสิกขานี้เป็นหลักธรรมที่มีความหมายครอบคลุมการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา จนกล่าวได้ว่าเรื่องของการศึกษาเป็นเรื่องพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น สำหรับความหมายของไตรสิกขาคืออะไร แนวคิดตามหลักของไตรสิกขาเป็นอย่างไร รูปแบบของวิธีไตรสิกขาเป็นอย่างไร การนำรูปแบบไตรสิกขาไปใช้ในการบริหารการศึกษาทำได้อย่างไรผู้เขียนจะได้นำเสนอตามลำดับดังนี้

 ๑.๒.๑ ความหมายของไตรสิกขาคืออะไร

 คำว่าไตรสิกขา ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา หมายถึง ข้อที่จะต้องศึกษาสาม อย่าง หรือ ข้อปฏิบัติที่เป็นหลักสำหรับศึกษา คือ ฝึกหัดอบรม กาย วาจา จิตใจ และปัญญา ให้ยิ่งขึ้นไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุดคือพระนิพพาน คำว่า“การศึกษา”ที่ใช้ในภาษาไทยนั้นเป็นคำที่นำมาจากภาษาสันสกฤต ถ้าเป็นบาลีก็คือ สิกขา เรียกได้ว่าเป็นคำเดียวกัน สิกขา คือการศึกษาในหลักพระพุทธศาสนา และสิกขาในพระพุทธศาสนานั้นมี ๓ อย่าง ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา นั้นเอง

 ๑.๒.๒ แนวคิดตามหลักของไตรสิกขาเป็นอย่างไร

 หลักสิกขานี้ครอบคลุมการปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนา สิกขาเป็นหลักธรรมภาคปฏิบัติ เมื่อหลักปฏิบัติธรรมทั้งหมดอยู่ในหลักสิกขา ก็กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นหลักธรรมแห่งการศึกษา เรื่องของการศึกษาเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น การพัฒนาตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั่นแหละเป็นเนื้อเป็นตัวเป็นความหมายที่แท้ของการศึกษา การศึกษานั้นเป็นทั้งตัวการพัฒนาและเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนา คือเป็นการพัฒนาคนขึ้นไป โดยพัฒนาตัวคนทั้งคนหรือชีวิตทั้งชีวิต ตัวการพัฒนานั้นคือการศึกษา เมื่อผู้เรียนมีการศึกษาอย่างนี้แล้วก็จะเอาคุณสมบัติที่ตัวมีซึ่งเกิดจากการศึกษานี้ไปเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ การศึกษาก็เลยกลายเป็นเครื่องมือการพัฒนา[๑]แนวคิดการพัฒนามนุษย์ตามหลักของไตรสิกขานี้เป็นการพัฒนาแบบองค์รวม มีหลักการที่สำคัญดังนี้ ๑) สร้างปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นก่อน ได้แก่ (๑) ปัจจัยภายนอกที่ดี (ปรโตโฆสะ) คือ สภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี มีความเป็นกัลยาณมิตร (๒) ฝึกการคิดอย่างถูกวิธี (โยนิโสมนสิการ) เป็นการให้ถูกวิธี ถูกต้องและเป็นระบบอันจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ความเห็นถูกต้องคือสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้น เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้เห็นแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนแจ่มแจ้งก็เข้าสู่กระบวนการฝึกตามหลักไตรสิกขา ๒) การฝึกตามหลักของไตรสิกขา ซึ่งมีหลักสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่(๑) ศีล เป็นเรื่องของการฝึกศึกษาด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุและทางสังคม บางทีท่านแยกย่อยไปอีก คือ การพัฒนาความสัมพันธ์กับวัตถุ เรียกว่า “กายภาวนา”และการพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เรียกว่า สีลภาวนา (๒) สมาธิ เป็นการพัฒนาด้านจิตใจ เช่น เรื่องของคุณธรรม ความดี เรื่องของสมรรถภาพจิตใจ ความเข้มแข็ง หมั่นเพียร อดทน ความมีสติ สมาธิ ความสุข ความสดชื่น เบิกบาน เรียกว่า จิตภาวนา (๓) ปัญญา เป็นการพัฒนาด้านความรู้ ความเข้าใจ เน้นความรู้ตามความเป็นจริง หรือรู้ตามที่มันเป็น เรียกว่า ปัญญาภาวนา ๓) วัดและประเมินผล การพัฒนาที่รอบด้านครอบคลุมนั้นนักการศึกษาปัจจุบันว่ามี ๔ อย่าง ซึ่งตรงพอดีกับในพระพุทธศาสนา เรียกว่า การพัฒนา ๔ ด้าน คือ ๑) พัฒนากาย แยกได้เป็นหลายอย่าง อย่างง่ายที่สุด คือ พัฒนาร่างกายให้แข็งแรงมีสุขภาพดี หายโรคหายภัย แต่พุทธศาสนายังพูดต่อไปอีกถึงการพัฒนากายในความหมายว่า เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพอย่างถูกต้องดีงาม ตัวการพัฒนากาย เรียกว่ากายภาวนา ถ้าเป็นคนก็เรียกว่า ภาวิตกาย แปลว่าคนที่พัฒนากายแล้ว ๒) พัฒนาศีล คือการพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดีมีระเบียบวินัย อยู่ในกฎเกณฑ์กติกา มีชีวิตที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ และมีอาชีพที่ถูกต้องโดยประกอบสัมมาชีพ พัฒนาศีลนี้ปัจจุบันเรียกว่า การพัฒนาทางสังคม ทางพระเรียกเป็นทางศัพท์ว่า ศีลภาวนา ถ้าเป็นคนได้พัฒนาศีลแล้วก็เรียกว่า ภาวิตศีล ๓) พัฒนาจิต เป็นการฝึกอบรมเสริมสร้างจิตใจ ให้พรั่งพร้อม สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติทั้ง ๓ คือ(๑) คุณภาพจิต ได้แก่ พวกคุณธรรมต่างๆ คือ เสริมสร้างจิตใจให้ดีงาม (๒) สมรรถภาพจิตหรือความสามารถของจิต คือความมีสติดี มีวิริยะ ความเพียรพยายามสู้งาน มีขันติ ความอดทนและทนทาน (๓)สุขภาพจิต คือมีจิตที่มีสุขภาพดี มีจิตใจเป็นสุข สดชื่น เบิกบาน ร่าเริง ปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใสการพัฒนาจิตนี้ถ้าเรียกสั้นๆก็เรียกว่า จิตตภาวนา ถ้าเป็นคนที่ฝึกอบรมจิตแล้ว พัฒนาจิตแล้วก็เรียกว่าเป็น ภาวิตจิต ๔) พัฒนาปัญญาแบ่งได้ดังนี้ ปัญญาขั้นแรก คือปัญญาที่เป็นความรู้ความเข้าใจในศิลปวิทยาการ ต่อจากนั้น ลึกซึ้งลงไปอีกคือการรับรู้ เรียนรู้อย่างถูกต้อง ตามความเป็นจริง ไม่เบียดเบียนหรือเอนเอียงด้วยอคติ เหนือจากการรับรู้นั้น ยังมีขั้นต่อไปอีกคือการคิดการวินิจฉัย ซึ่งหมายถึงการคิดวินิจฉัยด้วยการใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ใจ ปัญญาอีกขั้นหนึ่ง คือ ปัญญาที่รู้เข้าใจถึงสาระแห่งความเป็นไปของโลกและชีวิต รู้ทางเสื่อม ทางเจริญและเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รู้วิธีแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์ความสำเร็จที่ทำให้พัฒนาตน พัฒนาชีวิตและสังคมให้เจริญดีงามยิ่งๆขึ้นไป ขั้นสุดท้ายได้แก่ ปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดาของสังขาร คือโลกและชีวิต เข้าถึงความเจริญแท้ของการที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ทำให้คลายความยึดติดถือมั่นโดยวางใจได้ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย แยกจิตใจออกมาเป็นอิสระได้ เลิกเอาความอยากของตนเป็นตัวกำหนดเปลี่ยนมาเป็นอยู่และทำการด้วยปัญญาเป็นขั้นที่จิตใจเข้าถึงอิสระภาพ หลุดพ้นจากความทุกข์โดยสมบูรณ์ การพัฒนาทางปัญญา เรียกว่า ปัญญาภาวนา ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าภาวิตปัญญา คือเป็นคนที่ได้ฝึกอบรมพัฒนาปัญญาแล้วก็จบการพัฒนา ๔ ด้าน ซึ่งถือว่าครบถ้วนสำหรับชีวิต[๒]ดังนั้นการดำเนินชีวิตที่ดีจึงต้องมีการศึกษา และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

 ๑.๒.๓ รูปแบบของไตรสิกขาเป็นอย่างไร(The threefold training Model)

 จากแนวคิดตามหลักของไตรสิกขาดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นจะเห็นได้ว่า รูปแบบของไตรสิกขา ประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญดังต่อไปนี้ ๑) ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ หมายถึง มีปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการที่ดี ซึ่งก็ คือ ทรัพยากรทางการบริหารทุกๆ ด้าน ได้แก่ ระบบบริหาร อาคารและสถานที่ หลักสูตร สื่อและแหล่งการเรียนรู้ อุปกรณ์การศึกษา สาธารณูปโภคพื้นฐานและสวัสดิการ บุคลากรและผู้เกี่ยวข้อง งบประมาณ เป็นต้น ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิดังที่กล่าวมานี้เรียกว่า “บุพภาคของการศึกษา”คือ สิ่งที่ต้องจัดให้มีขึ้นก่อนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักไตรสิกขา ๒) กระบวนการฝึกตามหลักของไตรสิกขาคือ การเรียนการสอนโดยใช้ไตรสิกขา การสร้างบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์ที่เป็นกัลยาณมิตร มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ๓) วัดและประเมินผลการใช้ไตรสิกขาในการบริหารจัดการศึกษา คือ (๑) ผลที่เกิดกับตัวผู้เรียน เช่น ผู้เรียนได้มีการพัฒนาทางด้านกาย ทางด้านศีล ทางด้านจิตใจ ทางด้านปัญญามากน้อยเพียงใด (๒) ผลที่เกิดขึ้นกับชุมชน เช่น โรงเรียนได้รับความไว้วางใจ เชื่อมั่น ศรัทธา และได้รับความร่วมมือจากชุมชนวัดในชุมชน ได้ศาสนทายาทเป็นกำลังส่งเสริมพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้นครอบครัวในชุม มีสมาชิกที่เป็นคนดีไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขไว้ช่วยเหลือครอบครัวและช่วยในการพัฒนาชุมชนเพิ่มมากขึ้น

 ๑.๒.๓ การนำรูปแบบไตรสิกขาไปใช้ในการบริหารการศึกษาทำได้อย่างไร

 การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน นักวิชาการได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เราจะต้องเห็นตรงกันก่อนว่า คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา นั้นคือ คนเป็นตัวตั้งของการพัฒนาทั้งหลายคนที่ได้รับการพัฒนาดีแล้วจะบรรลุถึงสภาวะที่เรียกว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์ เมื่อคนชนิดนั้นไปอยู่จุดใดของสังคม เขาจะมีส่วนให้จุดนั้นพัฒนาไปด้วย กล่าวคือมนุษย์ที่สมบูรณ์จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมต่อไป[๓]ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวคิดในการนำเอาหลักไตรสิกขาในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไปใช้ดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธซึ่งหมายถึงโรงเรียนระบบปกติทั่วไปแต่เน้นการนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการบิริหารและพัฒนาผู้เรียนโดยรวมของสถานศึกษา เน้นกรอบพัฒนาตามหลักไตรสิกขาอย่างบูรณาการ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาชีวิตโดยผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม แสวงหาปัญญาและมีเมตตาเป็นฐานในการดำเนินชีวิต โรงเรียนวิถีพุทธจึงเป็นโรงเรียนที่นำวิถีวัฒนธรรมของชาวไทยส่วนใหญ่แต่เดิมมาใช้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจชีวิตอย่างแท้จริงและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสมโดยอาศัยระบบการศึกษาตามหลักไตรสิกขามาใช้ในการฝึกอบรมให้ครอบคลุมการดำเนินชีวิตทุกด้าน หลักการนำรูปแบบไตรสิกขาไปใช้ในการบริหารการศึกษาหลักการจัดดังต่อไปนี้๑) สร้างปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ คือ ทรัพยากรทางการบริหารทุกๆ ด้าน เช่น ระบบบริหาร อาคารและสถานที่ หลักสูตร สื่อและแหล่งการเรียนรู้ อุปกรณ์การศึกษา สาธารณูปโภคพื้นฐานและสวัสดิการ บุคลากรและผู้เกี่ยวข้อง งบประมาณ เป็นต้นให้มีความพร้อมทีจะใช้การได้อย่างเต็มศักยภาพในทุกด้าน พร้อมทั้งทำความเข้าในกระบวนการดำเนินงานในทุกขั้นตอนอย่างถูกต้องจนเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ คือ เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ๒) กระบวนการฝึกตามหลักของไตรสิกขา คือ การเรียนการสอนโดยใช้ไตรสิกขา การสร้างบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์ที่เป็นกัลยาณมิตร มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ๓) วัดและประเมินผลการใช้ไตรสิกขาในการบริหารจัดการศึกษา คือ(๑) ผลที่เกิดกับตัวผู้เรียน เช่น ผู้เรียนได้มีการพัฒนาทางด้านกาย ทางด้านศีล ทางด้านจิตใจ ทางด้านปัญญามากน้อยเพียงใด (๒) ผลที่เกิดขึ้นกับชุมชน เช่น โรงเรียนได้รับความไว้วางใจ เชื่อมั่น ศรัทธา และได้รับความร่วมมือจากชุมชนวัดในชุมชนได้ศาสนทายาทเป็นกำลังส่งเสริมพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้นครอบครัวในชุม มีสมาชิกที่เป็นคนดีไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขไว้ช่วยเหลือครอบครัวและช่วยในการพัฒนาชุมชนเพิ่มมากขึ้น

สรุปแนวคิดการบริหารการศึกษาตามหลักไตรสิกขา วิธีคิดแบบนี้มีส่วนประกอบที่สำคัญ ๓ ประการ ได้แก่๑) สร้างปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ คือ ทรัพยากรทางการบริหารทุกๆ ด้านและสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นก่อน ๒) กระบวนการฝึกตามหลักของไตรสิกขา คือ การเรียนการสอนโดยใช้ไตรสิกขา การสร้างบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์ที่เป็นกัลยาณมิตร มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ๓) วัดและประเมินผลการใช้หลักไตรสิกขาในการบริหารจัดการศึกษา เพื่อศึกษาผลที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนและศึกษาผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนไปด้วยพร้อมกัน

 ๑.๓ หลักทฤษฎีเชิงระบบ (System Theory)

 ทฤษฎีเชิงระบบเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการบริหารจัดการในปัจจุบันกล่าวคือ มีหลายภาคส่วนที่ได้นำเอาทฤษฎีนี้ไปใช้เป็นกรอบในการบริหารองค์กร ทั้งสถานประกอบการ ภาคธุรกิจของเอกชน และในองค์การของรัฐ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็ได้นำเอาทฤษฎีเชิงระบบนี้เข้ามาใช้ในระบบประกันคุณภาพทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย สำหรับความหมายของระบบคืออะไร แนวคิดตามหลักของทฤษฎีเชิงระบบเป็นอย่างไร รูปแบบของวิธีระบบเป็นอย่างไร และ การนำรูปแบบทฤษฎีเชิงระบบไปใช้ในการบริหารการศึกษาทำได้อย่างไรผู้เขียนจะได้นำเสนอตามลำดับดังนี้

 ๑.๓.๑ ความหมายของระบบคืออะไร

 คำว่าระบบเป็นกลุ่มขององค์ประกอบต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน และมีความเกี่ยวข้องกันในลักษณะที่ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อกระทำกิจกรรมให้ได้ผลสำเร็จตามความต้องการ ปัจจุบันคำว่า “ระบบ” เป็นคำกล่าวที่ใช้กันแพร่หลายโดยทั่วไป เวลาที่กล่าวถึงระบบ เรามักจะต้องคำนึงถึงคำ ๓ คำ คือ ) การคิดอย่างมีระบบ (System Thinking) หมายถึงการคิดอย่างมีเหตุผล โดยคิดอย่างรอบคอบถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งในภาพรวม และทุกๆ ส่วนขององค์ประกอบย่อยของระบบว่าต่างก็มีส่วนสัมพันธ์กัน และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ) วิธีปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ (System Approach) หมายถึงวิธีปฏิบัติงานที่เป็นระบบ โดยมีการนำเอาปัจจัยที่จำเป็นต่อการบริหารมาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดผลรับตรงตามเป้าหมายที่กำหนด ทั้งปัจจัย กระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะมีส่วนสัมพันธ์กัน และเป็นผลซึ่งกันและกัน ) ทฤษฎีเชิงระบบ (System Theory) เป็นทฤษฎีที่ระบุว่าองค์การประกอบด้วยส่วนประกอบที่เป็นอิสระ และเป็นวิธีการบริหารงานที่จะเพิ่มความเข้าใจ รู้จุดเด่นจุดด้อยในองค์การ เพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาได้มากยิ่งขึ้น

 ๑.๓.๒ แนวคิดตามหลักของทฤษฎีเชิงระบบเป็นอย่างไร

 หลักการและแนวคิดของทฤษฎีเชิงระบบที่สำคัญมีดังนี้ ๑) ทฤษฎีเชิงระบบมีความเชื่อว่า ระบบจะต้องเป็นระบบเปิด (Open System) กล่าวคือ จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยได้รับอิทธิพลหรือผลกระทบตลอดเวลาจากสะภาพแวดล้อม ๒) มีรูปแบบของการจัดลำดับ (The Hierarchical Model) ในลักษณะของระบบใหญ่และระบบย่อยที่สัมพันธ์กัน ๓) มีรูปแบบของปัจจัยป้อนเข้าและผลผลิต (Input Output Model) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลของการปฏิสัมพันธ์ที่มีกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากปัจจัยกระบวนการ และผลผลิตตามลำดับ เป็นองค์ประกอบของระบบ ๔) แต่ละองค์ประกอบของระบบจะต้องมีส่วนสัมพันธ์กัน หรือมีผลกระทบต่อกันและกัน (The Entities Model) หมายความว่า ถ้าองค์ประกอบของระบบตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยนไป ก็จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนขององค์ประกอบตัวอื่นด้วย ๕) ทฤษฎีเชิงระบบเชื่อในหลักการของความมีเหตุผลของสิ่งต่างๆ(Cause and Effect) ซึ่งเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ ทฤษฎีเชิงระบบไม่เชื่อว่าผลของสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง เกิดจากเหตุเพียงสาเหตุเดียว แต่ทฤษฎีเชิงระบบเชื่อว่าปัญหาทางการบริหารที่เกิดขึ้นมักจะมาจากสาเหตุที่มากกว่าหนึ่งสาเหตุ ๖) ทฤษฎีเชิงระบบจะมองทุกๆ อย่างในภาพรวมของทุกองค์ประกอบมากกว่าที่จะมองเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบ ๗) ทฤษฎีเชิงระบบคำนึงถึงผลของการปฏิบัติที่เป็น “Output” หรือ “Product” มากกว่า “Process” ซึ่งผลสุดท้ายของงานที่ได้รับอาจมีมากมายหลายสิ่ง ซึ่งก็คือผลกระทบ (Outcome or Impact) ที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลังนั่นเอง๘) ทฤษฎีเชิงระบบจะมีกระบวนการในการปรับเปลี่ยน และป้อนข้อมูลย้อนกลับ(Feedback) เพื่อบอกให้รู้ว่าระบบมีการเบี่ยงเบนอย่างไร ควรจะแก้ไขที่องค์ประกอบใดของระบบ ซึ่งก็คือ การวิเคราะห์ระบบ (System Analysis) นั่นเอง

 ๑.๓.๓ รูปแบบของวิธีระบบเป็นอย่างไร(System Approach Model)

 จากหลักการและแนวคิดทฤษฎีเชิงระบบดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นจะเห็นได้ว่า ระบบประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญดังต่อไปนี้ ๑) ปัจจัยนำเข้า (Input) หมายถึง ทรัพยากรทางการบริหารทุกๆ ด้าน ได้แก่บุคลากร (Man) งบประมาณ (Money) วัสดุอุปกรณ์ (Materials) การบริหารจัดการ (Management) และแรงจูงใจ (Motivations) ที่เป็นส่วนเริ่มต้นและเป็นตัวจักรสำคัญในการปฏิบัติงานขององค์การ ๒) กระบวนการ (Process) คือ การนำเอาปัจจัยหรือทรัพยากรทางการบริหารทุกประเภทมาใช้ในการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เนื่องจากในกระบวนการจะมีระบบย่อยๆ รวมกันอยู่หลายระบบครบวงจร ตั้งแต่การบริหาร การจัดการ การนิเทศ การวัดและการประเมินผล การติดตามตรวจสอบ เป็นต้น เพื่อให้ปัจจัยทั้งหลายเข้าไปสู่กระบวนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๓) ผลลัพธ์ (Product or Output) เป็นผลที่เกิดจากกระบวนการของการนำเอาปัจจัยมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ๔) ผลกระทบ(Outcome or Impact) เป็นผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คาดไว้หรือไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นก็ได้

 ๑.๓.๔ การนำรูปแบบทฤษฎีเชิงระบบไปใช้ในการบริหารการศึกษาทำได้อย่างไร

 การนนำเอาทฤษฎีระบบหรือวิธีระบบมาใช้ในการบริหารองค์การ หากนำมาใช้ให้ดี ถูกต้องและเหมาะสม ระบบก็จะช่วยให้องค์การมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้ามหากนำมาใช้ไม่ถูกต้องหรือองค์ประกอบแต่ละส่วนของระบบไม่สัมพันธ์กัน ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์การได้ ดังนั้นการนำเอาทฤษฎีเชิงระบบหรือวิธีการระบบมาใช้ จึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ระบบที่เรียกว่า System Analysis ควบคู่กันไปด้วยการวิเคราะห์ระบบจะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่า หากผลผลิตหรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ปัญหานั้นจะเกิดจากองค์ประกอบใดของระบบ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) จะช่วยให้ทราบถึงประเภทของปัญหาจุดที่ต้องได้รับการพัฒนาแก้ไขหรือปรับปรุงได้มากขึ้น การแก้ไขปรับปรุงก็จะต้องกระทำอย่างเป็นระบบ มิใช่แก้ไขเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

 การวิเคราะห์ระบบ (System Analysis) เป็นส่วนหนึ่งของวิธีระบบ (System Approach) ที่มุ่งเน้นกระบวนการ ( Process) มากกว่าผลผลิตหรือผลงาน (Output or Product) โดยมุ่งวิเคราะห์ปัญหา(Identify the Problem) และเป็นกระบวนการประเมินวิธีระบบการวิเคราะห์ระบบ เป็นขั้นแรกของการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายเพื่อให้มีระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ เพราะการพัฒนาคือการปรับปรุง เพื่อให้สภาพปัญหาที่มีอยู่หมดไป หรือเหลือน้อยลงตามศักยภาพของทรัพยากรและข้อจำกัดที่มีอยู่ให้เกิดความสมดุลของโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ ในระบบ จึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ระบบ[๔]ตัวอย่างของสถาบันการศึกษาที่นำเอาทฤษฎีระบบไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กร คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งได้นำทฤษฎีนี้ไปใช้ในระบบประกันคุณภาพทางการศึกษา โดยใช้อักษรย่อว่า “IPOI” ซึ่งมีประเด็นและรายละเอียด ดังนี้ ) ปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ (๑) ปรัชญา ปณิธาน และวัตถุประสงค์ (๒) หลักสูตร (๓) คณาจารย์ (๔) นิสิต (๕) แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ (๖) อาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม (๗) ระบบบริหาร จัดการ (๘) งบประมาณ ) ปัจจัยกระบวนการ (Process) ได้แก่ (๑) การเรียนการสอน (๒) การบริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาแก่สังคม (๓) การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (๔) การวิจัย (๕) ระบบประกันคุณภาพ๓) ปัจจัยผลผลิต (Output) ได้แก่ ผลผลิต) ปัจจัยผลกระทบ (Impact) ได้แก่ ผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย คณะสงฆ์และสังคม[๕]

 

สรุปแนวคิดการบริหารการศึกษาตามทฤษฎีระบบวิธีคิดแบบนี้มีส่วนประกอบที่สำคัญ ๔ ประการ ได้แก่๑) ปัจจัยนำเข้า (Input) หมายถึง ทรัพยากรทางการบริหารทุกๆ ด้าน ได้แก่ บุคลากรงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์การบริหารจัดการและแรงจูงใจ ที่เป็นส่วนเริ่มต้นและเป็นตัวจักรสำคัญในการปฏิบัติงานขององค์การ ๒) ปัจจัยกระบวนการ (Process) คือ การนำเอาปัจจัยหรือทรัพยากรทางการบริหารทุกประเภทมาใช้ในการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เนื่องจากในกระบวนการจะมีระบบย่อย ๆ รวมกันอยู่หลายระบบครบวงจร ตั้งแต่การบริหาร การจัดการ การนิเทศ การวัดและการประเมินผล การติดตามตรวจสอบ เป็นต้น เพื่อให้ปัจจัยทั้งหลายเข้าไปสู่กระบวนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๓) ผลลัพธ์ (Product or Output) เป็นผลที่เกิดจากกระบวนการของการนำเอาปัจจัยมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ๔) ผลกระทบ(Outcome or Impact) เป็นผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คาดไว้หรือไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นก็ได้

 ๑.๔ การเปรียบเทียบการใช้หลักไตรสิกขาและทฤษฎีเชิงระบบในการบริหารการศึกษา

 แนวคิดการบริหารการศึกษาตามหลักไตรสิกขากับแนวคิดตามทฤษฎีเชิงระบบดูเหมือนกับว่าเป็นความสอดคล้องกันที่ลงตัวอยู่หลายอย่างทั้งที่แนวคิดทั้ง ๒ นี้ได้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่แตกต่างกันมาก อย่างไรก็ตามจากการศึกษาวิเคราะห์แนวคิดทั้ง ๒ ยังมีประเด็นที่ทำให้เห็นได้ว่ามิใช่ว่าหลักไตรสิกขาและทฤษฎีเชิงระบบจะมีความสอดคล้องลงตัวกันทั้งหมดในทุกประเด็น หากได้นำแนวคิดทั้ง ๒ มาสร้างเป็นตารางเปรียบเทียบก็จะทำให้เรามองเห็นผลการเปรียบเทียบได้ชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้

 ตารางที่ ๑แสดงการเปรียบเทียบการใช้หลักไตรสิกขาและทฤษฎีเชิงระบบในการบริหารการศึกษา

 

ประเด็นเปรียบเทียบ

 

แนวคิดที่นำมาเปรียบเทียบ

 

ผลการเปรียบเทียบ

 

ไตรสิกขา

 

ทฤษฎีเชิงระบบ

 

ด้านทรัพยากรทางการบริหาร

 

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ หรือบุพภาคของการศึกษา

 

ปัจจัยนำเข้า (Input)

 

คล้ายกัน

 

ด้านการนำทรัพยากรทางการบริหารมาใช้ในการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ

 

กระบวนการฝึกตามหลักของไตรสิกขา

 

ปัจจัยกระบวนการ (Process)

 

คล้ายกัน

 

ด้านผลที่เกิดจากกระบวนการนำเอาปัจจัยมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายที่กำหนด

 

การวัดและประเมินผลการใช้หลักไตรสิกขา

 

ปัจจัยผลผลิต (Output)

 

คล้ายกัน

 

ด้านผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากผลลัพธ์

 

-

 

ปัจจัยผลกระทบ (Impact)

 

ต่างกัน

 

 

สรุปผลการเปรียบเทียบการใช้หลักไตรสิกขาและทฤษฎีเชิงระบบในการบริหารการศึกษา ผลของการเปรียบเทียบสรุปได้ดังนี้

 ๑) ด้านทรัพยากรทางการบริหาร ผลการเปรียบเทียบ พบว่า มีความคล้ายกัน กล่าว คือ หลักไตรสิกขา เรียกว่า ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ หรือบุพภาคของการศึกษา เช่น พระพุทธศาสนามีหลักธรรมที่ชื่อว่า สัปปายะ หมายถึง สิ่งที่อำนวยความสะดวกสบายเกื้อหนุนในการพัฒนาชีวิตให้มีความเจริญงอกงาม มี ๗ ประการได้แก่(๑) อวาสสัปปายะ มีที่อยู่ อาคาร สถานที่ สภาพแวดล้อมอันเหมาะดี (๒) โคจรสับปายะ การคมนาคมสะดวกดี มีสาธารนูปโภคพื้นฐานที่ดี สาพทางเศรษกิจของชุมชนดี มีอาหารบริบูรณ์ดี อยู่ไม่ไกล้และไม่ไกลชุมชนจนเกินไป (๓) ภัสสสัปปายะ มีการพูดคุยที่เหมาะกันมีข่าวสารและสื่อสารที่เอื้อปัญญา (๔) ปุคลสัปปายะ มีบุคคลที่ถูกกันเหมาะกันดี มีผู้ทรงภูมิความรู้ และมีคุณธรรมเป็นที่ปรึกษาที่ดี (๕) โภชนสัปปายะ มีอาหารที่ถูกสุขอนามัย เหมาะกับร่างการ เกื้อกูลต่อสุขภาพ (๖) อุตุสัปปายะ มีดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมไม่หนาวเกินไปและไม่ร้อนเกินไป (๗) อิริยาปถสัปปายะ มีการออกกำลังที่เหมาะสม มีสถานที่ออกกำลังกาย จัดพละศึกษา เป็นต้น สำหรับทฤษฎีเชิงระบบ เรียกว่า ปัจจัยนำเข้า หมายถึง ทรัพยากรทางการบริหารทุกๆ ด้าน ได้แก่ บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ การบริหารจัดการ และแรงจูงใจ ที่เป็นส่วนเริ่มต้นและเป็นตัวจักรสำคัญในการปฏิบัติงานขององค์การ จะเห็นได้ว่าเกี่ยวกับแนวคิด ด้านทรัพยากรทางการบริหาร ทั้ง ๒ แนวคิด มีความคล้ายกัน เป็นอย่างมาก

 ๒) ด้านการนำทรัพยากรทางการบริหารมาใช้ในการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ผลการเปรียบเทียบ มีความคล้ายกัน กล่าว คือ หลักไตรสิกขา เรียกว่า กระบวนการฝึกตามหลักของไตรสิกขา ได้แก่ (๑) การเรียนการสอนโดยใช้ไตรสิกขา เช่น กระบวนการจัดการเรียนรู้ การใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ การวัดประเมินผล เป็นต้น (๒)บรรยากาศและปฏิสัมพันธ์ที่เป็นกัลยาณมิตรเช่น ส่งเสริมความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร ทั้งครูต่อนักเรียน ครูต่อครู นักเรียนต่อนักเรียน และครูต่อผู้ปกครอง ส่งเสริมบรรยากาศ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่สร้างสรรค์ ส่งเสริมบุคลากรและนักเรียนให้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้อื่น ส่งเสริม ยกย่อง เชิดชู ผู้ทำความดีเป็นประจำ เป็นต้น (๓) กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น กิจกรรมเสริมเนื้อหาตามหลักสูตรกิจกรรมประจำวันและสัปดาห์ กิจกรรมวันสำคัญ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์กิจกรรมพิเศษอื่นๆ เป็นต้น สำหรับทฤษฎีเชิงระบบ เรียกว่า ปัจจัยกระบวนการ (Process) คือ การนำเอาปัจจัยหรือทรัพยากรทางการบริหารทุกประเภทมาใช้ในการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เนื่องจากในกระบวนการจะมีระบบย่อย ๆ รวมกันอยู่หลายระบบครบวงจร ตั้งแต่การบริหาร การจัดการ การนิเทศ การวัดและการประเมินผล การติดตามตรวจสอบ เป็นต้น เพื่อให้ปัจจัยทั้งหลายเข้าไปสู่กระบวนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่าเกี่ยวกับแนวคิด ด้านการนำทรัพยากรทางการบริหารมาใช้ในการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทั้ง ๒ แนวคิด มีความคล้ายกัน ก็เป็นอย่างมาก

 ๓) ด้านผลที่เกิดจากกระบวนการนำเอาปัจจัยมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายที่กำหนด ผลการเปรียบเทียบ พบว่า มีความคล้ายกัน กล่าว คือ หลักไตรสิกขา เรียกว่า การวัดและประเมินผลการใช้หลักไตรสิกขา เช่น (๑) ผลที่เกิดกับตัวผู้เรียน เช่น ผู้เรียนได้มีการพัฒนา ทางด้านกาย คือ มีการบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ ได้ปริมาณและคุณค่าที่แท้จริงดูแลร่างกายให้แข็งแรง สะอาด แต่งกายเรียบร้อย ถูกระเบียบ ดำรงชีวิตอย่างเกื้อกูลสิ่งแวดล้อม มากน้อยเพียงใด ทางด้านศีล คือ มีศีล ๕ เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตมีวินัย ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา สามารถพึ่งตนเองได้หรือทำงานเลี้ยงชีพอย่างสุจริต มากน้อยเพียงใด ทางด้านจิตใจ คือ มีความกตัญญูรู้คุณ ตอบแทนคุณ มีจิตใจ เมตตา กรุณา (แบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่) ต่อกัน ทำงานและเรียนรู้อย่างตั้งใจ อดทน ขยันหมั่นเพียร มีสุขภาพจิตดี แจ่มใส ร่าเริง เบิกบาน มากน้อยเพียงใด ทางด้านปัญญา คือ มีศรัทธาและความเข้าใจถูกต้องในพระรัตนตรัย รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ประโยชน์-มิใช่ประโยชน์ ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ แสวงหาความจริง พัฒนาตนเอง รู้เท่าทัน แก้ไขปัญหาได้ด้วยสติปัญญามากน้อยเพียงใด (๒) ผลที่เกิดขึ้นกับชุมชน เช่น โรงเรียนได้รับความไว้วางใจ เชื่อมั่น ศรัทธา และได้รับความร่วมมือจากชุมชนวัดในชุมชนได้ศาสนทายาทเป็นกำลังส่งเสริมพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้นครอบครัวในชุมชน มีสมาชิกที่เป็นคนดีไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขไว้ช่วยเหลือครอบครัวและช่วยในการพัฒนาชุมชนเพิ่มมากขึ้น มากน้อยเพียงใดเป็นต้น สำหรับทฤษฎีเชิงระบบ เรียกว่า ปัจจัยผลผลิต เป็นผลที่เกิดจากกระบวนการของการนำเอาปัจจัยมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะเห็นได้ว่าเกี่ยวกับแนวคิด ด้านผลที่เกิดจากกระบวนการนำเอาปัจจัยมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายที่กำหนดทั้ง ๒ แนวคิด มีความคล้ายกัน เป็นอย่างมาก

 ๔) ด้านผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากผลลัพธ์ ผลการเปรียบเทียบ พบว่า มีความต่างกัน กล่าว คือ หลักไตรสิกขา มิได้แยกเอาส่วนนี้มากล่าวไว้ต่างหากแต่ได้รวมกล่าวไว้ในเรื่องที่เกี่ยวกับ ด้านผลที่เกิดจากกระบวนการนำเอาปัจจัยมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายที่กำหนด เรียบร้อยแล้ว แต่ สำหรับทฤษฎีเชิงระบบ เรียกว่า ปัจจัยผลกระทบ เป็นผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คาดไว้หรือไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นก็ได้

 สรุป

 เนื้อหาที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาทั้งหมดในบทความนี้มีอยู่ ๓ ประเด็นหลัก คือ หลักไตรสิกขาในพระพุทธศาสนา หลักทฤษฎีเชิงระบบ การเปรียบเทียบการใช้หลักไตรสิกขาและทฤษฎีเชิงระบบในการบริหารการศึกษาซึ่งประเด็นที่ได้นำเสนอมาทั้งหมดสรุปได้ดังนี้

 หลักสิกขานี้ครอบคลุมการปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนา สิกขาเป็นหลักธรรมภาคปฏิบัติ เมื่อหลักปฏิบัติธรรมทั้งหมดอยู่ในหลักสิกขา ก็กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นหลักธรรมแห่งการศึกษา เรื่องของการศึกษาเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น การพัฒนาตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นเนื้อหรือเป็นตัวเป็นความหมายที่แท้ของการศึกษา การศึกษานั้นเป็นทั้งตัวการพัฒนาและเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนา คือเป็นการพัฒนาคนขึ้นไป โดยพัฒนาตัวคนทั้งคนหรือชีวิตทั้งชีวิต ตัวการพัฒนานั้นคือการศึกษา เมื่อผู้เรียนมีการศึกษาอย่างนี้แล้วก็จะเอาคุณสมบัติที่ตัวมีซึ่งเกิดจากการศึกษานี้ไปเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ การศึกษาก็เลยกลายเป็นเครื่องมือการพัฒนารูปแบบของไตรสิกขา ประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้คือ ๑) ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิหรือบุพภาคของการศึกษา ๒) กระบวนการฝึกตามหลักของไตรสิกขา๓) วัดและประเมินผลการใช้ไตรสิกขาในการบริหารจัดการศึกษา

 จากหลักการและแนวคิดทฤษฎีเชิงระบบประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ๑) ปัจจัยนำเข้า (Input) หมายถึง ทรัพยากรทางการบริหารทุกๆ ด้าน ได้แก่บุคลากร (Man) งบประมาณ (Money) วัสดุอุปกรณ์ (Materials) การบริหารจัดการ (Management) และแรงจูงใจ (Motivations) ที่เป็นส่วนเริ่มต้นและเป็นตัวจักรสำคัญในการปฏิบัติงานขององค์การ ๒) กระบวนการ (Process) คือ การนำเอาปัจจัยหรือทรัพยากรทางการบริหารทุกประเภทมาใช้ในการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เนื่องจากในกระบวนการจะมีระบบย่อยๆ รวมกันอยู่หลายระบบครบวงจร ตั้งแต่การบริหาร การจัดการ การนิเทศ การวัดและการประเมินผล การติดตามตรวจสอบ เป็นต้น เพื่อให้ปัจจัยทั้งหลายเข้าไปสู่กระบวนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๓) ผลลัพธ์ (Product or Output) เป็นผลที่เกิดจากกระบวนการของการนำเอาปัจจัยมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ๔) ผลกระทบ(Outcome or Impact) เป็นผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คาดไว้หรือไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นก็ได้เขียนเป็นรูปแบบ (Model) ของวิธีระบบได้ดังนี้

  ผลการเปรียบเทียบการใช้หลักไตรสิกขาและทฤษฎีเชิงระบบในการบริหารการศึกษา พบว่า มีความคล้ายกัน ๓ ด้าน คือ ด้านทรัพยากรทางการบริหาร ด้านการนำทรัพยากรทางการบริหารมาใช้ในการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และ ด้านผลที่เกิดจากกระบวนการนำเอาปัจจัยมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายที่กำหนด ส่วนด้านผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากผลลัพธ์ มีความต่างกัน จะเห็นได้ว่าแนวคิดการบริหารการศึกษาตามหลักไตรสิกขากับแนวคิดตามทฤษฎีเชิงระบบ ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ต่างกันแต่ก็เป็นความสอดคล้องกันที่ลงตัว หากได้นำหลักไตรสิกขาในหลักคำสอนของพระพุทธมาบูรณาการกับแนวคิดในทฤษฎีเชิงระบบซึ่งเป็นวิทยาการสมัยใหม่ ให้เป็นรูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้หลักของไตรสิกขาบูรณาการ แล้วน่าจะเป็นรูปแบบที่มีความสมบูรณ์ และเป็นเครื่องมือที่ทรงคุณค่าเพื่อใช้ในการบริหารการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 


[๑] พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), การศึกษาที่สากลบนพื้นฐานแห่งภูมิปัญญาไทย, (กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและเอกสารทางวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๓๒), หน้า ๗๐–๗๑.

 [๒] พระเทพเวที (ประยุทธ์ปยุตฺโต), การศึกษา: เครื่องมือพัฒนาที่ยังต้องพัฒนา, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ๒๕๓๖), หน้า ๙๕- ๑๐๕.

 [๓] พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตโต), ทิศทางการศึกษาไทย,พิมพ์ครั้งที่ ๓,(กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖), หน้า ๑๘.

 ๔] Ludwig Von Bertalaffy,อ้างใน จันทรานี สงวนนาม,ทฤษฎีและแนวปฏิบัติในการบริหารสถานศึกษา, (กรุงเทพมหาคร: บริษัทบุ๊ค พอยท์ จำกัด, ๒๕๔๕), หน้า ๘๕-๘๘.

 [๕] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, คู่มือระบบประกันคุณภาพ, (กรุงเทพมหานคร: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๔๗), หน้า ๒๗-๒๘.   


เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2555 | อ่าน 14640
เขียนโดย admin

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
หลักชาวพุทธ 12 ประการ
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไ
27/01/2559
เปิดอ่าน 18657
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9894
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11224
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15316
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12183
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11193
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 11143
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11695
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 12983
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12219
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th