ศึกษาศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ ผศ.มานพ นักการเรียน

 

 
 

ผศ.มานพ นักการเรียน
๑๙ มกราคม ๒๕๔๙


ความนำ (Introduction)
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาทางราชการที่มีบุคคลนับถือมากที่สุดของประเทศไทย และประชาชนชาวไทยได้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นชีวิตจิตใจมานานนับพันปีแล้ว โครงสร้างทางสังคมไทยแทบทุกด้านจึงมีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญ ดังนั้น ในการสร้างปรัชญาการศึกษาของไทย จึงควรนำมาจากพระพุทธศาสนาแทนที่จะนำมาจากตะวันตก


ศ. ดร. สาโรช บัวศรี ผู้ริเริ่มนำเอาพระพุทธศาสนามาสร้างเป็นปรัชญาการศึกษาของไทย ได้เสนอแนวคิดไว้ว่า


“พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาทางราชการในประเทศไทย มีรากแผ่ซ่านลึกซึ้งลงไปเกือบทุกแง่ทุกมุมของชีวิตคนไทยอยู่แล้ว หากจะพูดเรื่องประชาธิปไตย ผลของราชาธิปไตยตั้งแต่ต้นมา ลักษณะภูมิศาสตร์เมืองร้อน ประวัติแห่งการต่อสู้เพื่อดำรงความเป็นชาติไทย ฯลฯ ก็ย่อมจะเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาอันเป็นแม่บทอย่างแน่นอนและก็เห็นชัดว่าเป็นปรัชญาที่อยู่ลึกในจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าจะสร้างปรัชญาการศึกษาขึ้นจากพระพุทธศาสนาก็ไม่น่าจะเป็นที่ขัดข้องหรือบกพร่องอะไรมากนัก


เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้าจะพูดว่าในการสร้างปรัชญาการศึกษานั้น “แคบไปที่มายึดอยู่แค่พระพุทธศาสนาอย่างเดียว” ก็ดูจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องแคบประการหนึ่ง และปรัชญาการศึกษาเป็นเพียงหน่อของปรัชญาอันเป็นแม่บทเท่านั้น อีกประการหนึ่ง


อนึ่ง อย่าลืมว่า ยังมีรากฐานทางจิตวิทยา สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ และเทคโนโลยี่ อยู่อีก ถ้าปรัชญาการศึกษามิได้ย้ำในเรื่องใด รากฐานอื่น ๆ ย่อมเสริมให้การศึกษาได้มีโอกาสครบถ้วนอยู่เสมอ หน้าที่ของเรายังจะต้องสร้างรากฐานเหล่านั้นขึ้นมาอีก ให้คู่เคียงกับรากฐานทางปรัชญา ถึงแม้ว่ารากฐานทางปรัชญาจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดก็ตาม”

 

แนวคิดพื้นฐาน (Basic Concept)
พระพุทธศาสนาถือว่าสรรพสิ่งและสรรพชีวิตเป็นศูนย์กลาง (All Beings Centred) ไม่ใช่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human Beings Centred ) ดังที่เข้าใจกันแต่เดิมอีกแล้ว ซึ่งทำให้สรรพสิ่งและสรรพชีวิตอื่น ๆ ขาดคุณค่าในตัวเอง ถ้ามองอย่างเป็นองค์รวมให้ความสำคัญแก่สรรพสิ่งและสรรพชีวิตอย่างเสมอภาคกัน เป็นองคาพยพของกันและกัน ย่อมทำให้สรรพสิ่งและสรรพชีวิตประสบกับภาวะที่เป็นสุขตามสถานะของตน


แต่ก็ต้องยอมรับว่า มนุษย์เป็นตัวจักรที่สำคัญอยู่นั่นเอง ดังนั้น จึงมีหลักเกี่ยวกับมนุษย์ในลักษณะกว้าง ๆ ๓ ลักษณะ คือ ๑. หลักที่มีลักษณะเป็นการให้ความแจ่มแจ้งเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่จัดอยู่ในประเภทอภิปรัชญา ๒. หลักที่มีลักษณะเป็นประทีปส่องทางแนะแนวชีวิตว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้รับความสุขตามสมควรแก่การปฏิบัติ คำสอนเช่นนี้อยู่ในขอบข่ายของวิชาจริยศาสตร์ และ ๓. หลักที่เกี่ยวกับการพัฒนาอบรมจิตโดยเฉพาะ เป็นคำสอนที่มิได้เน้นธรรมชาติหรือโครงสร้างของจิตอย่างอภิปรัชญา คำสอนทั้ง ๓ นี้ จะมีความสัมพันธ์กันและกัน บางหลักจะคาบเกี่ยวซึ่งกันและกัน คำสอนทั้งหมดจะพิจารณาธรรมชาติที่แท้จริงเป็นอย่างไร จริยศาสตร์ที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร และจริยศาสตร์นั้นจะเน้นจิตและจะพัฒนาจิตให้บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดเท่าที่ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์จะบรรลุถึงได้อย่างไร หลักการทั้งหมดเกี่ยวกับมนุษย์จึงมีลักษณะเป็นตรีโกณ


ดังนั้น ในการพิจารณาปรัชญาการศึกษาจึงจำเป็นต้องพิจารณาธรรมชาติมนุษย์ตามทรรศนะของพระพุทธศาสนา เพราะมนุษย์มีความสัมพันธ์กับปัญหาต่าง ๆ ของวิชาปรัชญาในแง่อภิปรัชญา ญาณวิทยา และจริยศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อจะได้กำหนดจุดหมาย หลักสูตร และวิธีการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมตามหลักของพระพุทธศาสนา


ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์คือทุกข์ จุดมุ่งหมายของการศึกษาในทรรศนะของพระพุทธศาสนาก็คือ ความหลุดพ้นจากทุกข์ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นอุปกรณ์เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนี้ทั้งในแง่โลกและในแง่ของศาสนา ธรรมชาติของมนุษย์ในแง่อื่น ๆ อาจนำมาอธิบายในแง่ของการศึกษาเพิ่มเติมได้อีก เช่น ในแง่กฎของกรรม หมายถึงความก้าวหน้าหรือความเสื่อมทางการศึกษาขึ้นอยู่กับตนเอง ในแง่ของปฏิจจสมุปบาท หมายถึง ธรรมชาติที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงได้ด้วยวิธีการศึกษา ดังนี้เป็นต้น


ความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาการศึกษาของพระพุทธศาสนา มีอยู่ในเรื่องขันธ์ ๕ เมื่อได้วิเคราะห์ทอนย่อยขันธ์ ๕ ออกไปอีก ก็ได้พบธรรมชาติของกายและจิต ทำให้ทราบการทำหน้าที่รับรู้ เปรียบเทียบกันได้กับจิตวิทยาการศึกษาสมัยปัจจุบัน การค้นพบที่สำคัญของพระพุทธศาสนาในด้านจิตวิทยาอีกประการหนึ่งคือ วิธีสังเกตจริต ซึ่งตรงกับจิตวิทยา พฤติกรรมและอุปมาต่าง ๆ เกี่ยวกับกายและจิตว่ามีธรรมชาติเหมือนสัตว์ร้าย ก็เป็นการยอมรับว่ามนุษย์มีธรรมชาติขัดแย้งอยู่ในตัวเอง การศึกษาด้านจริยะจึงเป็นการศึกษาที่จำเป็นสำหรับกำจัดความขัดแย้งดังกล่าวนี้


ปรัชญาตะวันตกยังมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของญาณวิทยา แต่พระพุทธศาสนามีความเห็นว่า ญาณวิทยามีความสำคัญมาก เพราะความรู้อันถูกต้องย่อมกำจัดอวิชชาอันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ได้ วิธีการที่จะได้รับความรู้อันถูกต้อง ก็เป็นภาระหน้าที่ของญาณวิทยา ในแง่ของการศึกษา ญาณวิทยานี้จะช่วยปูแนวทางในเรื่องเกี่ยวกับหลักสูตร การเรียน การสอน ส่วนใหญ่พระพุทธศาสนาไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องหลักสูตร วิธีการเรียนและการสอนในสมัยปัจจุบัน แต่สิ่งที่พระพุทธศาสนาเน้นมากที่สุดคือจริยะจะต้องคู่กับวิทยาการในหลักสูตร และเพราะเน้นจริยะนี้เอง พระพุทธศาสนาจึงเห็นว่าบทบาทของครูมีความสำคัญมากในการสอน และเป็นตัวอย่างของศิษย์ในแง่นี้


การวิเคราะห์ Ism ในแง่ต่าง ๆ ของปรัชญาการศึกษาปัจจุบัน ปรากฏผลว่าพระพุทธศาสนาไม่อาจยอมรับ Ism ใดได้อย่างเต็มภาคภูมิ ในการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาอาจยอมรับวิธีการและความคิดอื่น ๆ ในบางแง่ที่ไม่ขัดแย้งกับความคิดพื้นฐานของตนได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ก็เป็นตามหลักวิภชวาท (Analysis) เป็นการเลือกคัดตามหลักเหตุผลและความเป็นจริง


ผู้สำเร็จตามหลักสูตรเป็นบุคคลในอุดมคติของปรัชญาการศึกษาของพระพุทธศาสนาเรียกว่าบัณฑิต มีคุณสมบัติคือต้องเป็นผู้สั่งสมความรู้ (พหูสูต) มีจริยะที่เหมาะสมและถูกต้องทั้งในการคิด การพูด และการกระทำ มีการบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม และมีทรรศนคติเป็นประชาธิปไตย

จุดมุ่งหมายของการศึกษา (Aims of Education)
ตามแนวความคิดของพระพุทธศาสนานั้น ชีวิตมนุษย์ย่อมมีอยู่ ๒ ระดับ คือ
๑. ชีวิตของผู้ที่ยังครองเรือนอยู่ (ฆราวาส)
๒. ชีวิตของผู้ที่ไม่ครองเรือนอีกแล้ว (บรรพชิต)
ในแต่ละระดับก็คงมีการศึกษาเล่าเรียนเพื่ออบรมตนเอง หรือเพื่อแก้ปัญหาของตนเองและของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ตามควรแก่กรณีเสมอไป
สำหรับบรรพชิตนั้น จุดมุ่งหมายของการศึกษาคือนิพพานหรือวิมุตติ (Freedom) อันมุ่งตรงไปที่สามารถดับหรือระงับปัญหาอันสูงสุดของชีวิตได้แก่ความทุกข์เสียได้โดยสิ้นเชิง และได้ประสบชีวิตที่ดีอย่างสูงสุด มองได้เป็น ๒ แง่คือ
๑. ในแง่ลบ หมายถึง ภาวะที่พ้นจากความบีบคั้น ผูกมัด ขัดข้อง ปราศจากข้อบกพร่อง
๒. ในแง่บวก หมายถึง ภาวะที่มีความเป็นใหญ่ในตัว ซึ่งทำให้พร้อมที่จะทำ (และไม่ทำ) การใด ๆ ได้ตามปรารถนา


ในระดับของผู้ที่ยังครองเรือนอยู่ ก็คงจะต้องนำเอาความคิดเรื่องนิพพานนี้มาประยุกต์ให้เป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษาบ้างเท่าที่จะทำได้ กล่าวคือ มุ่งจะดับหรือระงับเช่นกัน แต่เป็นการดับปัญหาของชีวิตให้ได้พอสมควร เพื่อว่าจะได้ประสบชีวิตที่ร่มเย็น หรือที่พอดี พอควร หรือ ตามควรแก่กรณีของผู้ที่ยังครองเรือนอยู่


ชีวิตที่ร่มเย็นหรือที่ดีพอสมควรของฆราวาสนี้ เรียกชื่อว่าบูรณาการ (ทำให้เต็มหรือสมบูรณ์) คือ ระงับปัญหาด้านต่าง ๆ ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ขยายความได้ว่า ชีวิตที่สมบูรณ์ย่อมเป็นชีวิตที่มีสมดุล คือ มีร่างกายแข็งแรง มีโรคภัยไข้เจ็บน้อยมาก มีจริยธรรมสูง ได้แก่ จิตใจได้รับการอบรมในเรื่องความดี มีศีลธรรมและวินัย มีหิริโอตตัปปะ รู้จักประพฤติความดีและละความชั่ว รู้จักรับผิดชอบในบ้านเมืองเป็นพลเมืองดี มีความสามารถในทางเศรษฐกิจ รู้จักประกอบสัมมาอาชีพ ไม่ขาดแคลน ตลอดจนรู้จักคิด มีวิชาความรู้ในสาขาต่าง ๆ กว้างขวางเป็นพื้นฐานและรู้ลึกซึ้งในสาขาที่ตนถนัด


จึงสรุปได้ว่า ตามทรรศนะของพระพุทธศาสนาแล้ว จุดมุ่งหมายของการศึกษาของฆราวาสและบรรพชิตจึงอยู่ที่การสร้างและการเสริมความรู้เพื่อพัฒนาชีวิต หรือยกระดับชีวิตจิตใจให้สูงขึ้นโดยลำดับจากอนารยะมาสู่ความเป็นอารยะ ทั้งในแง่ปัญญาและพฤติกรรมที่แสดงออกมาภายนอก

 

โรงเรียนและนักเรียน (School and Student)
โรงเรียน

โรงเรียนเป็นสถานที่สัปปายะ (อาวาสสัปปายะ) คือเกื้อกูลต่อการศึกษาเล่าเรียน ประกอบด้วยปัจจัยภายนอกคือ ปรโตโฆสะ เสียงจากผู้อื่นหรืออิทธิพลภายนอกที่เป็นกัลยาณมิตร และปัจจัยภายในคือโยนิโสมนสิการ การรู้จักคิดการคิดถูกวิธี คือ โรงเรียนเป็นแหล่งบ่มเพาะ ให้นักเรียนรู้จักวิธีคิดที่ถูกต้อง เช่นให้นักเรียนรู้จักวิธีคิดแบบคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม วิธีคิดแบบแก้ปัญหา (อริยสัจจ์ ๔ ) วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ (ขันธ์ ๕ ) วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา (สามัญลักษณะ)


นักเรียน
พระพุทธศาสนามีทรรศนะว่า การที่นักเรียนจะบรรลุความสำเร็จในระดับหนึ่งของการศึกษานั้นต้องขึ้นอยู่กับความพยายามของนักเรียนเอง (นัยพุทธภาษิต ตนแลเป็นที่พึงของตน ขุ.ธ. ๒๕/๒๒) ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครู อาจให้ข้อมูลต่างๆ แก่นักเรียนได้มากมาย อาจนำนักเรียนเข้าไปใกล้จุดความสำเร็จได้ แต่ขั้นสุดท้ายของความสำเร็จจะต้องเป็นความพยายามของนักเรียนเอง (นัยพุทธภาษิต ความเพียรเป็นหน้าที่ที่ท่านทั้งหลายจะพึงทำเอง ตถาคตเป็นเพียรผู้ชี้ทางให้ ตุมฺเหหิ กิจฺจมาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา ขุ.ธ. ๒๕/๓๑)
นักเรียนมีหน้าที่ต่อครูผู้เป็นทิศเบื้องขวาดังนี้
๑. ลุกต้อนรับ
๒. เข้าไปหา (เพื่อบำรุง คอยรับใช้ ปรึกษาซักถาม และรับคำแนะนำ เป็นต้น)
๓. ใฝ่ใจเรียน (คือมีใจรักเรียนด้วยศรัทธาและรู้จักฟังให้เกิดปัญญา)
๔. ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ (คือเอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ)

 

หลักสูตร (Curriculum)
ตามทรรศนะของพระพุทธศาสนาแล้ว อาจแบ่งหลักสูตรออกเป็น ๒ สาย คือ
๑. สายโลกียะ เป็นสายที่มุ่งสอนให้คนเป็นคนดีในโลกนี้ ดีทั้งในการประกอบอาชีพและดีทั้งในเรื่องความประพฤติ ถ้าเราจะตรวจดูหลักธรรมของพระพุทธองค์แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า มีธรรมะอยู่มากมายที่สอนเพื่อให้คนตั้งเนื้อตั้งตัวได้ในโลก พ้นจากความเป็นทุกข์อันเกิดจากความยากจน เช่น สอนให้ขยันหมั่นเพียร สอนให้รู้จักการจับจ่ายทรัพย์และเก็บรักษาทรัพย์ เป็นต้น
๒. สายโลกุตตระ เป็นสายที่มุ่งสอนคนด้วยธรรมะขั้นสูง โดยมุ่งให้คนพ้นจากโลก เพราะตามทรรศนะของพระพุทธเจ้าเห็นว่า โลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน คนทั้งหลายถูกกิเลสรัดรึงจึงเดือดร้อนเหมือนไฟสุมขอน พระพุทธองค์ทรงมุ่งให้คนพ้นทุกข์ประเภทนี้ โดยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ โดยสรุปก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

การเรียนและการสอน (Learning and Teaching)
การสอนควรคำนึงเกี่ยวกับเนื้อหาหรือเรื่องที่สอน เกี่ยวกับผู้เรียน และเกี่ยวกับการสอนสรุปจากพุทธวิธีในการสอนของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต ) ดังนี้
ก. เกี่ยวกับเนื้อหาหรือเรื่องที่สอน
๑. สอนจากสิ่งที่รู้เห็นเข้าใจง่ายหรือรู้เห็นเข้าใจอยู่แล้ว ไปหาสิ่งที่เห็นเข้าใจได้ยากหรือยังไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ ตัวอย่างที่เห็นคืออริยสัจจ์ ซึ่งทรงเริ่มสอนจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ปัญหาชีวิตที่คนมองเห็นและประสบอยู่โดยธรรมดา รู้เห็นประจักษ์กันอยู่ทุกคนแล้ว ต่อจากนั้นจึงสาวหาเหตุที่ยากลึกซึ้ง และทางแก้ไขต่อไป
๒. สอนเนื้อเรื่องที่ค่อยลุ่มลึกยากลงไปตามลำดับชั้น และความต่อเนื่องกันเป็นสายลงไป อย่างที่เรียกว่า สอนเป็นอนุบุพพิกถา ตัวอย่างก็คือ อนุบุพพิกถา ไตรสิกขา พุทธโอวาท ๓ เป็นต้น
๓. ถ้าสิ่งที่สอนเป็นสิ่งที่แสดงได้ ก็สอนด้วยของจริง ให้ผู้เรียนได้ดู ได้เห็น ได้ฟังเอง อย่างที่เรียกว่าประสบการณ์ตรง
๔. สอนตรงเนื้อหา ตรงเรื่อง คุมอยู่ในเรื่อง มีจุดไม่วกวน ไม่ไขว้เขว ไม่ออกนอกเรื่องโดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องในเนื้อหา
๕. สอนมีเหตุผล ตรองตามเห็นจริงได้ อย่างที่เรียกว่าสนิทานํ
๖. สอนเท่าที่เป็นพอดีสำหรับให้เกิดความเข้าใจ ให้การเรียนรู้ได้ผล ไม่ใช่สอนเท่าที่ตนรู้ หรือสอนแสดงภูมิว่าผู้สอนมีความรู้มาก
๗. สอนสิ่งที่มีความหมาย ควรที่เขาจะเรียนรู้และเข้าใจ เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง

ข. เกี่ยวกับผู้เรียน
๑. รู้ คำนึงถึง และสอนให้เหมาะตามความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น คำนึงถึงจริต ๖ อันได้แก่ ราคจริต โทสจริต โมหจริต ศรัทธาจริต พุทธจริต และวิตกจริต และรู้ระดับความสามารถของบุคคล
๒. ปรับวิธีสอนผ่อนให้เหมาะกับบุคคล แม้สอนเรื่องเดียวกันแต่ต่างบุคคล อาจใช้ต่างวิธี ข้อนี้เกี่ยวโยงต่อเนื่องมาจากข้อที่ ๑
๓. นอกจากคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลแล้ว ผู้สอนยังจะต้องคำนึงถึงความพร้อม ความสุกงอม ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ หรือญาณ ที่บาลีเรียกว่าปริปากะ ของผู้เรียนแต่ละบุคคลเป็นราย ๆ ไปด้วย ว่าในแต่ละคราว หรือเมื่อถึงเวลานั้น ๆ เขาควรจะได้เรียนอะไร และเรียนได้แค่ไหนเพียงไร หรือว่าสิ่งที่ต้องการให้เขารู้นั้นควรให้เขาเรียนได้หรือยัง
๔. สอนโดยให้ผู้เรียนลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจน แม่นยำและได้ผลจริง เช่น ทรงสอนพระจูฬปันถกผู้โง่เขลาด้วยการให้นำผ้าขาวไปลูบคลำ เป็นต้น
๕. การสอนดำเนินไปในรูปที่ให้รู้สึกว่าผู้เรียนกับผู้สอนมีบทบาทร่วมกัน ในการแสวงความจริง ให้มีการแสดงความคิดเห็น โต้ตอบเสรี หลักนี้เป็นข้อสำคัญในวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งต้องการอิสรภาพในทางความคิด และโดยวิธีนี้เมื่อเข้าถึงความจริง ผู้เรียนก็จะรู้สึกว่าตนได้มองเห็นความจริงด้วยตนเอง และมีความชัดเจนมั่นใจ หลักนี้เป็นหลักที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นประจำ และมักมาในรูปการถามตอบ ซึ่งอาจแยกลักษณะการสอนแบบนี้ได้เป็น
๕.๑ ล่อให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นของตนออกมา ชี้ข้อคิดให้แก่เขา ส่งเสริมให้เขาคิด และให้ผู้เรียนเป็นผู้วินิจฉัยความรู้นั้นเอง ผู้สอนเป็นเพียงผู้นำชี้ช่องทางเข้าสู่ความรู้ ในการนี้ผู้สอนมักกลายเป็นผู้ถามปัญหาแทนที่จะเป็นผู้ตอบ
๕.๒ มีการแสดงความคิดเห็น โต้ตอบอย่างเสรี แต่มุ่งหาความรู้ไม่ใช่มุ่งแสดงภูมิ หรือข่มกัน
๖. เอาใจใส่บุคคลที่ควรได้รับความสนใจพิเศษเป็นรายๆไป ตามควรแก่กาละเทศะและเหตุการณ์ เช่น ชาวนาคนหนึ่งตั้งใจไว้แต่กลางคืนว่า จะไปฟังพุทธเทศนา บังเอิญวัวหาย ไปตามได้แล้วรีบมา แต่กว่าจะได้ช้าก็มาก คิดว่าทันฟังท้ายหน่อยก็ยังดี ไปถึงวัดปรากฏว่าพระพุทธเจ้ายังทรงประทับรออยู่นิ่ง ๆ ไม่เริ่มแสดง ยิ่งกว่านั้นยังให้จัดอาหารให้เขารับประทานจนอิ่มสบายแล้วจึงทรงเริ่มแสดงธรรมหรือเรื่องเด็กหญิงชาวบ้านลูกช่างหูกคนหนึ่งอยากฟังธรรม แต่มีงานม้วนกรอด้ายเร่งอยู่ เมื่อทำเสร็จจึงเดินจากบ้านเอาม้วนด้ายไปส่งบิดาที่โรง ผ่านโรงธรรมก็แวะหน่อยหนึ่ง นั่งอยู่แถวหลังสูดของที่ประชุม พระพุทธองค์ก็ยังทรงหันไปเอาพระทัยใส่ รับสั่งให้เข้าไปนั่งใกล้ๆทักทายปราศรัย และสนทนาให้เกียรติให้เด็กนั้นพูดแสดงความเห็นในที่ประชุมและทรงเทศนาให้เด็กนั้นได้รับประโยชน์จากการมาฟังธรรม
๗. ช่วยเหลือเอาใจใส่คนที่ด้อย ที่มีปัญหา เช่น เรื่องพระจูฬปันถกที่กล่าวแล้ว เป็นต้น

 

ค. เกี่ยวกับการสอน
๑. ในการสอนนั้นการเริ่มต้นเป็นจุดสำคัญมากอย่างหนึ่ง การเริ่มต้นที่ดีมีส่วนช่วยให้การสอนสำเร็จผลดีเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็เป็นเครื่องดึงความสนใจและนำเข้าสู่เนื้อหาได้ เช่น เมื่อทรงสนทนากับควาญช้างก็ทรงเริ่มสนทนาด้วยเรื่องวิธีฝึกช้าง พบชาวนาก็สนทนาเรื่องการทำนา พบพราหมณ์ก็สนทนาเรื่องไตรเพทหรือเรื่องธรรมของพราหมณ์ บางทีก็ทรงจี้จุดสนใจหรือเหมือนสะกิดให้สะดุ้ง เป็นการปลุกเร้าความสนใจ เช่น เมื่อเทศน์โปรดชฎิลผู้บูชาไฟ ทรงเริ่มต้นด้วยคำว่าอะไรๆ ร้อนลุกเป็นไฟหมดแล้ว ต่อจากนั้นจึงถามและอธิบายต่อไปว่าอะไรร้อน อะไรลุกเป็นไฟนำเข้าสู่ธรรมะ บางทีก็ใช้เรื่องที่เขาสนใจหรือที่เขารู้นั่นเองเป็นข้อสนทนาไปโดยตลอดแต่แทรกความหมายทางธรรมเข้าไว้ให้
๒. สร้างบรรยากาศในการสอนให้ปลอดโปร่ง เพลิดเพลิน ไม่ให้ตึงเครียด ไม่ให้เกิดความอึดอัดใจ และให้เกียรติแก่ผู้เรียน ให้เขามีความภูมิใจในตัว เช่น เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะ กับคณะไปเฝ้า ท่านโสณทัณฑะครุ่นคิดวิตกอยู่ในใจว่า “ถ้าเราถามปัญหาออกไป หากพระองค์ตรัสว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่านไม่ควรถามอย่างนี้ ที่ประชุมก็จะหมิ่นเราได้ ถ้าพระสมณะโคดมจะพึงตรัสถามปัญหาเรา ถ้าแม้เราตอบไม่ถูกพระทัย หากพระองค์ตรัสว่าพราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ ท่านไม่ควรตอบอย่างนี้ ที่ถูกควรแก้อย่างนี้ ที่ประชุมก็จะหมิ่นเราได้ ถ้ากระไรขอให้พระสมณโคดมถามปัญหาเราในเรื่องไตรเพทอันเป็นคำสอนของอาจารย์เราเถิด เราจะตอบให้ถูกพระทัยทีเดียว”


พระพุทธเจ้าทรงทายใจพราหมณ์ได้ ทรงดำริว่า “โสณทัณฑะนี้ลำบากใจอยู่ ถ้ากระไร เราพึงถามปัญหาเขาในเรื่องไตรเพทอันเป็นคำสอนของอาจารย์ฝ่ายเขาเองเถิด”
แล้วได้ตรัสถามถึงคุณสมบัติของพราหมณ์ ทำให้พราหมณ์นั้นสบายใจ และรู้สึกภูมิใจที่จะสนทนาต่อไปในเรื่องซึ่งตัวเขาเองถือว่าเขารู้ชำนาญอยู่เป็นพิเศษ และพระองค์ก็ทรงสามารถชักนำพราหมณ์นั้นเข้าสู่ธรรมของพระองค์ได้ด้วยการคอยทรงเลือกป้อนคำถามต่างๆ กะพราหมณ์นั้น แล้วคอยสนับสนุนคำตอบของเขาต้อนเข้าสู่แนวที่พระองค์ทรงพระประสงค์ หรือเมื่อพบนิโครธปริพาชก ก็ทรงเปิดโอกาสเชิญให้เขาถามพระองค์ด้วยปัญหาเกี่ยวกับลัทธิฝ่ายเขาทีเดียว
๓. สอนมุ่งเนื้อหา มุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่สอนเป็นสำคัญ ไม่กระทบตนและผู้อื่น ไม่มุ่งยกตน ไม่มุ่งเสียดสีใคร ๆ ในสมัยพุทธกาล แม้เมื่อมีผู้มาทูลถามเรื่องคำสอนของเจ้าลัทธิต่างๆ ว่าของคนใดผิดคนใดถูก พระองค์ก็จะไม่ทรงตัดสิน แต่จะทรงแสดงหลักธรรมให้เขาฟัง คือให้เขาคิดพิจารณาตัดสินเอาด้วยตนเอง เช่น คราวหนึ่ง พราหมณ์ ๒ คน เข้าไปเฝ้าทูลถามว่า ท่านปูรณกัสสป เจ้าลัทธิหนึ่ง กับท่านนิครนถนาฏบุตร อีกเจ้าลัทธิหนึ่ง ต่างก็ปฏิญาณว่าตนเป็นผู้ที่รู้ที่สุดด้วยกัน วาทะเป็นปฏิปักษ์กัน ใครจริง ใครเท็จ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “อย่าเลยพราหมณ์ ข้อที่ทั้งสองนี้ต่างพูดอวดรู้ มีวาทะเป็นปฏิปักษ์กันนั้น ใครจะจริง ใครจะเท็จ พักไว้เถิดเราจักแสดงธรรมให้ท่านทั้งสองฟัง ขอให้ท่านตั้งใจฟังเถิด”
เรื่องเช่นนี้มีปรากฏหลายแห่งในพระไตรปิฎก แม้เมื่อแสดงธรรมตามปกติในที่ประชุมสาวก ก็ไม่ทรงยกยอ และไม่ทรงรุกรานที่ประชุม ทรงชี้แจงให้รู้เข้าใจชัดเจนไปตามธรรม
๔. สอนโดยเคารพ คือ ตั้งใจสอน ทำจริง ด้วยความรู้สึกว่าเป็นสิ่งมีค่า มองเห็นความสำคัญของผู้เรียน และงานสั่งสอนนั้นไม่ใช่สักว่าทำหรือเห็นผู้เรียนโง่เขลา หรือเห็นเป็นชั้นต่ำๆ อย่างพระพุทธจริยาที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ตถาคตจะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงแก่ภิกษุ แก่อุบาสกอุบาสิกา แก่ปุถุชนทั้งหลาย โดยที่สุดแม้แก่คนขอทานและพรานนกก็ย่อมแสดงโดยเคารพ หาแสดงโดยขาดความเคารพไม่”
๕.ใช้ภาษาสุภาพ นุ่มนวล ไม่หยาบคาย ชวนให้สบายใจสละสลวย เข้าใจง่าย อย่างที่ว่า “พระสมณโคดมมีพระดำรัสไพเราะ รู้จักตรัสถ้อยคำได้งดงาม มีพระวาจาสุภาพ สละสลวยไม่มีโทษยังผู้ฟังให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดแจ้ง”
ก่อนจบตอนนี้ ขอนำพุทธพจน์แห่งหนึ่ง ที่ตรัสสอนภิกษุผู้แสดงธรรม เรียกกันว่า องค์แห่งพระธรรมกถึก มาแสดงไว้ ดังนี้
“อานนท์ การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง มิใช่สิ่งที่กระทำได้ง่าย ผู้แสดงธรรมแก่คนอื่น พึงตั้งธรรม ๕ อย่างไว้ในใจ คือ
๑. เราจักกล่าวชี้แจงไปตามลำดับ
๒. เราจักกล่าวชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ
๓. เราจักแสดงด้วยอาศัยเมตตา
๔. เราจักไม่แสดงด้วยเห็นแก่อามิส
๕. เราจักแสดงไปโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น”

บทบาทของครู (Role of Teacher)
ครูจะต้องมีบทบาท ดังต่อไปนี้
๑. เป็นพหูสูต (เรียนรู้มาก) ประกอบด้วย
๑.๑ พหุสฺสุตา ฟังมาก
๑.๒ ธตา จำได้
๑.๓ วจสา ปริจิตา คล่องปาก
๑.๔ มนสานุเปกฺขิตา เพ่งขึ้นใจ
๑.๕ ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา มีความเข้าใจลึกซึ้ง คือขบได้ด้วยทฤษฏี
๒. เป็นคนดี (สัตบุรุษ) ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ดังนี้
๒.๑ ธัมมัญญุตา รู้จักหลักและรู้จักเหตุ
๒.๒ อัตถัญญุตา รู้จักความมุ่งหมายและรู้จักผล
๒.๓ อัตตัญญุตา รู้จักตน
๒.๔ มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ
๒.๕ กาลัญญุตา รู้จักกาล
๒.๖ ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน
๒.๗ ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล
๓. เป็นบัณฑิต คือคนฉลาด หรือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีลักษณะดังนี้ “เป็นผู้มีปกติคิดดี เป็นผู้มีปกติพูดดี และเป็นผู้มีปกติทำดี” “ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต”
๔. เป็นกัลยาณมิตร ประกอบด้วยกัลยาณมิตรธรรม ๗ ประกรดังนี้
๔.๑ ปิโย น่ารัก
๔.๒ ครุ น่าเคารพ
๔.๓ ภาวนีโย น่าเจริญใจหรือน่ายกย่อง
๔.๔ วตฺตา จ รู้จักพูด
๔.๕ วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ
๔.๖ คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้
๔.๗ โน จฏฺฐาเน นิโยชเย ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล


ครูมีหน้าที่ต่อนักเรียน (ศิษย์) ดังนี้
๑. ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔. ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ
๕. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ (สอนฝึกให้รู้จักเลี้ยงตัวรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี)


http://www.src.ac.th/web/index.php?option=content&task=view&id=386&Itemid=69&limit=1&limitstart=0

เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2555 | อ่าน 5060
เขียนโดย admin

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
หลักชาวพุทธ 12 ประการ
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไ
27/01/2559
เปิดอ่าน 18527
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9761
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11139
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15200
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12076
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11095
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 11027
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11594
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 12872
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12110
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th